รีเซต

สัมพันธ์รัสเซีย-NATO ร้าวลึก เจรจายับยั้งสงครามกับยูเครนยังไม่เป็นผล

สัมพันธ์รัสเซีย-NATO ร้าวลึก เจรจายับยั้งสงครามกับยูเครนยังไม่เป็นผล
TNN ช่อง16
13 มกราคม 2565 ( 13:15 )
137

สื่อต่างชาติมองว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายยังคงร้าวลึก ชาติตะวันตกต้องการปกป้องนโนบายเปิดกว้าง  หรือ “open-door policy” ของ NATO ในการรับสมาชิกใหม่ในอนาคต  ขณะที่รัสเซียต้องการการรับรองอย่างหนักแน่นว่าพันธมิตร NATO ไม่ขยายอิทธิพลไปทางตะวันออก


เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการ NATO เผยว่า มีความเห็นต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างพันธมิตรNATO กับรัสเซียในหลายประเด็น และเป็นไปไม่ได้เลยที่ 30 ชาติสมาชิก NATO จะเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องด้านความมั่นคงฉบับใหม่ในยุโรป และรัสเซียไม่อาจยับยั้งสิทธิของยูเครนในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO ได้ เขาย้ำจุดยืนของ NATO ว่ามีเพียงยูเครนและ NATO เท่านั้น ที่สามารถตัดสินใจเรื่องนี้ได้


เลขาธิการ NATO ระบุด้วยว่า ยูเครนในฐานะประเทศอธิปไตย มีสิทธิในการป้องกันตัว และยูเครนไม่ใช่ภัยคุกคามต่อรัสเซีย แต่รัสเซียต่างหากคือผู้รุกราน เคยใช้กำลังกับยูเครนและยังคงทำเช่นนั้นต่อไป, ปัญหาก็คือ รัสเซียกำลังสร้างกองกำลังขึ้น มีทหารราว 100,000 นาย ปืนใหญ่ เกราะ โดรน ทหารที่พร้อมรบหลายหมื่นนาย และวาทกรรมที่คุกคาม


ขณะที่พันธมิตรของ NATO ได้เรียกร้องให้รัสเซีย เคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของเพื่อนบ้าน และลดระดับสถานการณ์ความตึงเครียดในยูเครนลงทันที นั่นคือการถอนทหาร รัสเซีย 100,000 นาย ที่ประชิดชายแดนยูเครนออกไป ซึ่งทางตัวแทนของรัสเซียไม่ได้ให้คำมั่นที่จะถอนทหาร แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว


อย่างไรก็ตาม สโตลเทนเบิร์ก มองว่า การเจรจาเป็นไปในทิศทางบวกเพราะทั้งสองฝ่ายสามารถมานั่งคุยกัน และฟื้นฟูแพลตฟอร์มประชุมสภา NATO-รัสเซีย นอกจากนี้ NATO ยัง ได้เชิญรัสเซียให้ตกลงที่จะร่วมเจรจาอย่างต่อเนื่อง เพื่อหารือเกี่ยวกับการควบคุมอาวุธ การติดตั้งขีปนาวุธ และประเด็นอื่น ๆ เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางอาวุธครั้งใหม่ ซึ่งทางรัสเซียก็ไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธ ระบุว่าขอเวลาก่อนที่จะให้คำตอบเรื่องนี้


สำนักข่าว Reuters มองว่า คำพูดของสโตลเทนเบิร์กแสดงให้เห็นชัดเจนว่าการเจรจาไม่มีความคืบหน้า ซึ่งการเจรจาครั้งนี้เกิดขึ้น 2 วัน หลังจากนักการทูตรัสเซียและสหรัฐฯ พบกันที่เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ และทั้งสองวงเจรจาไม่มีความเห็นต่างที่แคบลง


---สัมพันธ์ร้าวรัสเซีย-NATO---


ก่อนจะมีการประชุมเมื่อวานนี้เกิดขึ้น NATO กับรัสเซียไม่เคยประชุมกันเลยนับตั้งแต่ปี 2019 และรัสเซียได้ยุติความร่วมมือเชิงปฏิบัติกับ NATO ตั้งแต่ปี 2014 หลังจากผนวกดินแดนไครเมียที่เคยอยู่ใต้การปกครองของยูเครนเข้าเป็นของตน


ความสัมพันธ์ทั้งสองฝ่ายย่ำแย่ลงไปอีกเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว นาโตประกาศขับนักการทูตรัสเซียประจำนาโต 8 คน ด้วยข้อหาว่าเป็นสายลับ และลดจำนวนคณะผู้แทนทางการทูตรัสเซียประจำสำนักงานใหญ่ของนาโต ในกรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียมลงครึ่งหนึ่ง จาก 20 คน เหลือเพียง 10 คน รัสเซียจึงโต้ตอบด้วยการประกาศระงับภารกิจของคณะผู้แทนประจำนาโต และสั่งปิดสำนักงานนาโตในกรุงมอสโก


---'ช่วงเวลาแห่งความเป็นจริง'---


การเจรจาครั้งนี้ถือเป็นความพยายามสูงสุดของ NATO ในการเปลี่ยนความขัดแย้งทางทหารที่อาจเกิดขึ้นเหนือวิกฤตยูเครนให้กลายเป็นกระบวนการทางการเมืองและการทูต


และการที่ อเล็กซานเดอร์ กรุชโค อดีตเอกอัคราชทูตรัสเซีย ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยกระทรวงต่างประเทศรัสเซียในปัจจุบัน ได้กลับมายืนเผชิญหน้ากับเลขาธิการนาโตและเวนดี เชอร์แมน รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศสหรัฐฯ ในการประชุมครั้งนี้ ถูกเรียกว่า เป็น 'ช่วงเวลาแห่งความเป็นจริง'


เขากล่าวว่า รัสเซียบอกกับ NATO ว่าไม่อาจปล่อยให้สถานการณ์เป็นอยู่อย่างในปัจจุบัน รัสเซียต้องหาทางออก และไม่อาจยึดมั่นแถลงการณ์ที่มีจุดมุ่งหมาเพื่อสันติภาพของนาโตได้อย่างจริงจัง อีกทั้งรัสเซียไม่อาจยอมรับการจัดวางกำลังของนาโตได้


เขากล่าวหาว่า NATO ว่าพยายามควบคุมรัสเซียและสร้างความเหนือกว่าในทุกด้าน และพฤติกรรมของพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯ ได้สร้างความเสี่ยงที่ยอมรับไม่ได้สำหรับรัสเซีย นอกจากนี้ยังไม่มีวาระเชิงบวกระหว่างมอสโกและนาโต พร้อมกับเตือนว่า ความสัมพันธ์ระหว่างกันที่แย่ลงไปอีก อาจนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่คาดเดาไม่ได้ต่อความมั่นคงของยุโรป


รัสเซียระบุว่า ชาติตะวันตกไม่เห็นถึงความต้องการเร่งด่วนของฝ่ายตน และรัสเซียไม่พร้อมรับการเจรจาที่ดำเนินไปอย่างไม่มีกำหนด


หลังการเจรจาระหว่างรัสเซีย-สหรัฐฯ เมื่อวันจันทร์ (10 มกราคม) รัสเซียระบุว่า การจะเจรจาเหนือวิกฤตยูเครนต่อไปหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับผลการเจรจาอีก 2 วงที่เหลือ ขณะที่สหรัฐฯ ก็ย้ำว่ารัสเซียไม่มีทางเลือกอื่นๆ นอกจากการเจรจาหรือการเผชิญหน้ากัน


---รัสเซียต้องขีดเส้นแดง---


รัสเซียมองว่า การขยายตัวของ NATO จากสมาชิก 16 ชาติเมื่อสิ้นสุดยุคสงครามเย็น กลายเป็น 30 ชาติในขณะนี้ ซึ่งรวมถึงอดีตรัฐคอมมิวนิสต์กลุ่มใหญ่ในยุโรปกลางและตะวันออกก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัสเซีย และจำเป็นต้องขีด "เส้นสีแดง" ในตอนนี้เพื่อ ป้องกันตัวเอง


ข้อเรียกร้องรัฐบาลของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน คือไม่ให้ NATO รับสมาชิกใหม่ในยุโรปตะวันออก รวมทั้ง ยูเครน จอร์เจีย หรือฟินแลนด์ และให้จำกัดการวางกองกำลังพันธมิตรในประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO หลังยุคสงครามเย็น หรือหลังปี 1997 เป็นต้นมา


นักวิเคราะห์มองว่า การที่รัสเซียนำทหารไปประชิดชายแดนยูเครนนับแสนนาย เพื่อบีบบังคับให้ชาติตะวันตกเข้าสู่โต๊ะเจรจากับรัสเซีย ขณะที่รัสเซียปฏิเสธว่าไม่ได้มีแผนจะบุกยูเครนด้วยการกระทำดังกล่าว ท่ามกลางความกังวลของพันธมิตรนาโตและยูเครน เพราะเมื่อปี 2014 รัสเซียได้ผนวกไครเมียเข้าเป็นของตัวเองมาแล้ว


---ปฏิกิริยาจากฝ่ายต่าง ๆ---


เวนดี เชอร์แมน รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศสหรัฐฯ ที่ร่วมเจรจากับรัสเซียเป็นวงที่ 2 ย้ำว่า รัสเซียมีเพียงทางเลือกว่าจะลดระดับความตึงเครียดลงด้วยการถอนทหารออกจากชายแดนยูเครน และใช้วิถีทางการทูต หรือเผชิญหน้าและยอมรับผลที่ตามมา นั่นคือการถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง


ขณะที่ เจมส์ เคลฟเวอร์ลี รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศอังกฤษ ระบุว่า แม้จะไม่เห็นด้วยกับความกังวลที่รัสเซียกล่าวอ้าง แต่การที่ทั้งสองฝ่ายได้มานั่งเจรจากันก็นับว่าเป็นก้าวเล็กๆ ที่มาถูกทางแล้ว


ด้านไคยา คาลาส นายกรัฐมนตรีเอสโตเนีย เปิดเผยว่า กลุ่มประเทศบอลติกส์กำลังหารือกับชาติพันธมิตร NATO เกี่ยวกับการเพิ่มกำลังทหารในดินแดนของตนเพื่อป้องกันรัสเซีย และชี้ว่าตะวันตกไม่ควรตกหลุมพรางในการเจรจากับถึงสิ่งที่สามารถทำได้


อย่างไรก็ตาม พรุ่งนี้ยังเหลืออีกหนึ่งวงเจรจา ระหว่างรัสเซียกับองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป หรือ OSCE ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งจะมียูเครนเข้าร่วมประชุมด้วย


ต้องจับตาดูกันต่อว่าจะความคืบหน้ามากกว่าทั้งสองวงเจรจาที่ผ่านมาหรือไม่

—————

แปล-เรียบเรียง: สุภาพร เอ็ลเดรจ

ภาพ: Reuters



ข่าวที่เกี่ยวข้อง