รีเซต

สบน. แจง คลังไม่ได้กู้เงินเพื่อซื้อทองคำเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ

สบน. แจง คลังไม่ได้กู้เงินเพื่อซื้อทองคำเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ
มติชน
13 มิถุนายน 2564 ( 12:58 )
57

 

ตามที่ได้มีการเผยแพร่ข้อความเกี่ยวกับการกู้เงินของรัฐบาลว่า “ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันทำไมรัฐบาลต้องกู้เงินไปซื้อทองคำจำนวน 43.5 ตัน เพื่อใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ” ผ่าน Facebook page “Open Up” นั้น

 

 

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ชี้แจงว่า ตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้กระทรวงการคลังมีอำนาจกู้เงินในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย ได้เฉพาะ 6 วัตถุประสงค์เท่านั้น กล่าวคือ เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณหรือเมื่อมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ บริหารสภาพคล่องของเงินคงคลัง พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะให้หน่วยงานอื่นกู้ต่อ และเพื่อพัฒนาตลาดตราสารหนี้

 

 

ในภาวะปกติ กระทรวงการคลังจะกู้เงินตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ เพื่อสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งนี้หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนเมษายน 2564 จำนวน 8.59 ล้านล้านบาท เป็นการกู้เงินเพื่อการลงทุนสูงถึงร้อยละ 70 หรือประมาณ 6 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากที่สุดถึง 165 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 2.2 ล้านล้านบาท ในสาขาคมนาคมขนส่ง สาธารณูปการ พลังงาน สังคม และการพัฒนาพื้นที่ ทั่วภูมิภาคและทั่วประเทศ โดยมีโครงการที่แล้วเสร็จและเปิดให้บริการแล้วจำนวน 60 กว่าโครงการ และอยู่ระหว่างการดำเนินการอีกกว่า 105 โครงการ

 

 

สำหรับในภาวะที่ไม่ปกติ กระทรวงการคลังจะกู้เงินโดยการตราพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษที่มีลักษณะเป็นการเฉพาะช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศเป็นการเร่งด่วน อาทิ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดหาเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541 วงเงิน 500,000 ล้านบาท และ พ.ศ. 2545 วงเงิน 780,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการบรรเทาผลกระทบและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 (Asian financial crisis) พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 วงเงิน 400,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในช่วงที่เกิดวิกฤตสินเชื่อซับไพร์ม (Hamburger crisis) พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท และ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 500,000 ล้านบาท

 

 

กระทรวงการคลังขอเน้นย้ำว่า กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินมาตรการทางการคลังและเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเท่านั้น ไม่ได้กู้เงินเพื่อซื้อทองคำสำหรับเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ อีกทั้ง ยังได้บริหารจัดการหนี้สาธารณะและชำระคืนหนี้อย่างครบถ้วน ถูกต้อง และตรงเวลามาอย่างต่อเนื่อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง