รีเซต

กรมอุทยานฯ เอาผิดเจ้าของสิงโตนั่งรถเปิดประทุน ครอบครองไม่ได้รับอนุญาต

กรมอุทยานฯ เอาผิดเจ้าของสิงโตนั่งรถเปิดประทุน ครอบครองไม่ได้รับอนุญาต
TNN ช่อง16
25 มกราคม 2567 ( 16:46 )
36
กรมอุทยานฯ เอาผิดเจ้าของสิงโตนั่งรถเปิดประทุน ครอบครองไม่ได้รับอนุญาต

วันนี้ ( 25 ม.ค. 67 )กรมอุทยานฯเผยผลตรวจสอบการครอบครองสิงโต กรณีมีผู้เผยแพร่คลิปวิดีโอสิงโตอยู่ในรถหรูเปิดประทุนขับไปตามถนนในพื้นที่พัทยา จังหวัดชลบุรี โดยพบว่ายังไม่ได้รับอนุญาตให้ครอบครองอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดถูกตำรวจดำเนินคดี ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต


นายวีระ ขุนไชยรักษ์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แถลงข่าวหลังเมื่อวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา (2567) มีผู้ใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวโพสคลิปวิดีโอสิงโตนั่งอยู่ในรถหรูเปิดประทุน ขับไปตามถนนเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ทำให้ประชาชนตื่นตกใจ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าสิงโตตัวดังกล่าวถูกเลี้ยงอยู่ในบ้านหลังหนึ่ง ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี และ เป็นบ้านเช่าของสองสามีภรรยาชาวต่างชาติ มีภรรยาชาวยูเครนอาศัยอยู่ ส่วนสามีชาวศรีลังกาได้เดินทางกลับประเทศไปแล้ว 


ขณะเข้าตรวสอบมีผู้แสดงตัวเป็นทนายความพาตรวจค้น โดยทนายความให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ว่า สิงโตดังกล่าวเจ้าของ เป็นผู้ซื้อต่อมาจากฟาร์มที่นครปฐม พร้อมนำเอกสารการขอโอนย้ายสิงโตมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งตรวจสอบแล้วเอกสารถูกต้อง แต่เป็นเอกสารขอแจ้งการครอบครองยังไม่ได้รับอนุญาตให้ครอบครองตามกฎหมาย เพราะเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ไปตรวจสอบสถานที่การเลี้ยงดูว่ามีความพร้อมหรือไม่ 


ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้แจ้งความดำเนินคดีในข้อหาครอบครองสัตว์ป่าควบคุมโดยไม่ได้รับอนุญาต โทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และข้อหาครอบครองสิงโตและแจ้งเคลื่อนย้ายโดยไม่ได้รับอนุญาต


ส่วนจากการตรวจสุขภาพของสิงโตผ่านการสแกนไมโครชิพ เบื้องต้นสุขภาพแข็งแรงดี และอายัดฝากไว้ในบ้านเช่าของสองสามีภรรยาชาวต่างชาติ


สำหรับสิงโต ถือเป็นสัตว์ป่าควบคุมที่ต้องแจ้งการครอบครองชนิด ก. หรือ สัตว์ดุร้าย ต้องดูแลในสถานที่ครอบครองที่แข็งแรงปลอดภัย   ห้ามเคลื่อนย้ายก่อนได้รับอนุญาต ปัจจุบันมีสิงโตที่ได้รับอนุญาตให้ครอบครองจากเจ้าของ 37 ราย รวม 200 ตัว และมีสิงโตที่เจ้าของส่งเรื่องขอครอบครองมาทั้งหมด 67 ชนิด ซึ่งอยู่ระหว่างเจ้าหน้าที่จะลงไปตรวจสอบสถานที่สำหรับเลี้ยงว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ 


ขณะที่การครอบครองสัตว์ป่าควบคุมต้องมีการให้ที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่เพียงพอที่จะทำให้สัตว์สามารถเคลื่อนตัวได้อย่างอิสระ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความทรมาน ซึ่งในกรณีการครอบครองสัตว์ป่าชนิดเลี้ยงลูกด้วยนม ผู้ที่ขอครอบครองจะต้องดำเนินการจัดทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ใน 2 วิธีการ คือ การฝังไมโครชิปใต้ผิวหนังของหูด้านซ้าย หรือใต้ผิวหนังระหว่างกระดูกสะบักทางด้านซ้ายของกระดูกสันหลัง ยกเว้นสัตว์กินเนื้อให้ฝังที่โคนหางด้านซ้าย และสัตว์กลุ่มลิงให้ฝังที่หลังมือหรือหลังตีนด้านซ้าย และอีกวิธีการหนึ่งคือ ติดเครื่องหมายที่ใบหู   ส่วนบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์การครอบครอง รวมถึงการไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่าควบคุม จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ภาพจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง