รีเซต

ทูตพิเศษสหรัฐฯ ประจำเฮติ ลาออก ประท้วงอเมริกาเนรเทศผู้อพยพกลับไปเจออันตราย

ทูตพิเศษสหรัฐฯ ประจำเฮติ ลาออก ประท้วงอเมริกาเนรเทศผู้อพยพกลับไปเจออันตราย
TNN World
24 กันยายน 2564 ( 09:14 )
56
ทูตพิเศษสหรัฐฯ ประจำเฮติ ลาออก ประท้วงอเมริกาเนรเทศผู้อพยพกลับไปเจออันตราย

America: ทูตพิเศษสหรัฐฯ ประจำเฮติ ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ประท้วงกรณีที่รัฐบาลสหรัฐฯ เนรเทศผู้อพยพชาวเฮติอย่างไร้มนุษยธรรม 

 


แดเนียล ฟูเต เจ้าหน้าที่ทูตพิเศษของสหรัฐฯ ประจำเฮติ ลาออกจากตำแหน่งเพื่อเป็นการประท้วงกรณีการเนรเทศผู้อพยพชาวเฮติ โดยเขาระบุในหนังสือลาออกว่า การตัดสินใจของสหรัฐฯ ในการส่งตัวผู้อพยพชาวเฮติไปยังประเทศหนึ่งที่มีแก๊งติดอาวุธควบคุมชีวิตประจำวันนั้น เป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมอย่างมาก

 


เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว สหรัฐฯ ขับไล่ผู้อพยพออกไปให้พ้นเมืองพรมแดนรัฐเทกซัส ซึ่งมีผู้อพยพชาวเฮติประมาณ 13,000 คนหลั่งไหลมารวมตัวกันอยู่ใต้สะพานแห่งหนึ่ง ท่ามกลางอุณหภูมิร้อนจัด 37 องศาเซลเซียส

 


เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นพยายามจัดหาอาหารให้พวกเขาและดูแลเรื่องสุขอนามัยอย่างเพียงพอ ผู้อพยพที่อยู่ในค่ายพักชั่วคราวแห่งนี้ ส่วนใหญ่เป็นชาวเฮติ แต่ก็มีชาวคิวบา, เปรู, เวเนซุเอลาและนิการากัวอยู่ด้วย

 


ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ผ่านมา (19 กันยายน) สหรัฐฯส่งตัวผู้อพยพชาวเฮติ 1,401 รายออกจากค่ายพักพรมแดนรัฐเทกซัสที่ติดกับเม็กซิโก และในวันพุธที่ผ่านมา (22 กันยายน) ก็เกิดความโกลาหลขึ้นที่สนามบินหลักของเฮติ ขณะที่เที่ยวบินนำชาวเฮติที่ถูกเนรเทศเดินทางกลับถึงประเทศ 

 


แต่นายฟูเต กล่าวว่า ชาวเฮติไม่สามารถสนับสนุนผู้อพยพที่ถูกบังคับส่งตัวกลับหลายพันคน เนื่องจากขาดแคลนอาหาร, ที่พักอาศัย และเงิน ซึ่งอาจเกิดโศกนาฏกรรมต่อมนุษย์ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

 


ก่อนหน้านี้ มีภาพที่น่าตกตะลึงเผยแพร่ออกมา เป็นภาพเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ควบม้าขับไล่ผู้อพยพ จนทำให้เกิดการเปรียบเทียบที่ดำมืดกับยุคที่สหรัฐฯ ไล่ต้อนทาส และการปฏิบัติที่เลวร้ายต่อคนผิวดำในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ 

 


นอกจากนี้ ยังมีภาพที่ถ่ายโดยช่างภาพของสำนักข่าว AFP เผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวางในช่วงต้นสัปดาห์ เป็นภาพที่แสดงให้เห็นตำรวจตระเวนชายแดนของสหรัฐฯ บนหลังม้า ใช้บังเหียนม้าทำร้ายร่างกายผู้อพยพ และผลักดันให้พวกเขาล่าถอยลงไปในแม่น้ำริโอ แกรนด์ ที่แบ่งพรมแดนรัฐเทกซัสและเม็กซิโก

 


ทั้งนี้ ชาวเฮติจำนวนมาก เดินทางออกนอกประเทศ หลังเกิดเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สร้างความเสียหายอย่างหนักในปี 2010 และชาวเฮติจำนวนมากอาศัยอยู่ในค่ายผู้อพยพในบราซิล หรือประเทศอเมริกาใต้อื่น ๆ และเดินทางขึ้นเหนือหลังจากไม่สามารถหางานทำ หรือได้รับการรับรองสถานะทางกฎหมายได้

 


ปีนี้ ถือเป็นปีที่ยากลำบากอย่างมากสำหรับประเทศยากจนอย่างเฮติ โดยในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโฌเวแนล โมอิส ผู้นำเฮติถูกลอบสังหาร และในเดือนสิงหาคม ก็เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงสร้างความเสียหายอย่างหนัก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง