รีเซต

‘นายกฯ’ หนุน Soft Power สร้างรายได้ ดันไทยเป็นศูนย์กลาง แข่งขัน E-Sport

‘นายกฯ’ หนุน Soft Power สร้างรายได้ ดันไทยเป็นศูนย์กลาง แข่งขัน E-Sport
มติชน
1 พฤศจิกายน 2564 ( 12:58 )
84
‘นายกฯ’ หนุน Soft Power สร้างรายได้ ดันไทยเป็นศูนย์กลาง แข่งขัน E-Sport

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มุ่งส่งเสริมการใช้ “Soft power” ส่งออกวัฒนธรรมไทยผ่านการออกแบบ ศิลปะการแสดง ภาพยนตร์ กีฬา ซอฟแวร์ และดนตรี เพื่อส่งเสริมความเป็นไทย สินค้าแบรนด์ไทย ท่องเที่ยวไทย สร้างรายได้ให้กับประเทศและสร้างความสามารถในการแข่งขันในอนาคต โดยตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จ คือโครงการนำร่องการแข่งขันกีฬาเจ็ตสกี ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ขับเคลื่อนจนยกระดับเป็นการแข่งขันทัวร์นาเม้นท์เจ็ตสกีอันดับที่ 1 ของโลก WPG#1 World Series เป็นลิขสิทธ์แบรนด์ไทย เติบโตครอบคลุมทั้งทวีปยุโรป และทวีปอเมริกา

 

โดยในปี 2019 ได้มีการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความสวยงามของประเทศไทย สู่เครือข่ายแฟนกีฬานับพันล้านคน 54 ชาติ 20 ภาษา มีนักกีฬาและทีมนานาชาติเข้าร่วมจำนวนกว่า 3,000 คน และสร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจได้กว่า 700 ล้านบาท ส่วนแผนกลยุทธ์สำหรับการเดินหน้าต่อคาดว่าจะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้มากกว่า 4,000 ล้านบาท เพราะจะมีการต่อยอดด้วยการสร้างทัวร์นาเมนต์อื่นๆในประเทศ การขับเคลื่อนกีฬาและธุรกิจ และการขยายอุตสาหกรรมกีฬาแบรนด์ไทย

 

ล่าสุด นายกรัฐมนตรียังได้มอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกันผลักดันและสนับสนุนอุตสาหกรรม e-sports ของไทยอย่างเต็มที่ ตั้งเป้าให้เป็นสถานที่แข่งขันในระดับโลก ซึ่งขณะนี้กีฬา e-sport ถือเป็นกีฬาอาชีพอย่างเป็นทางการแล้ว และเป็นส่วนหนึ่งของ Soft Power ของประเทศไทยด้วย โดยนอกจากการจัดแข่งกีฬาอีสปอร์ตแล้ว การสนับสนุนต้องให้ครอบคลุมการส่งเสริมพัฒนาสมาคมกีฬาและนักกีฬาe-sport และอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมด้วย

 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า มาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเลือกประเทศไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำ โดยรัฐบาลกำหนดให้หากมีการถ่ายทำและใช้จ่ายในประเทศไทย 50 ล้านบาทขึ้นไป จะได้สิทธิประโยชน์เงินคืน 15 % บวกสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเลือกรวมได้ไม่เกินอีก 5% ได้แก่ 1) การจ้างบุคคลากรหลักของไทย (Key Personnel) เป็นคณะทำงานในการถ่ายทำภาพยนต์ (+3%) 2) ส่งเสริมการท่องเที่ยววัฒนธรรมหรือภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย (+2%) 3) ถ่ายทำภาพยนตร์ในจังหวัดเมืองรอง (+3%) 4) ถ่ายทำในประเทศไทยก่อน 31 ธ.ค. 65 และใช้จ่ายในประเทศไทย 100 ล้านบาทขึ้นไป (+5% ) โดย 5% ที่เพิ่มขึ้นนี้ เพื่อดึงดูดผู้สร้างภาพยนตร์รายใหญ่ให้นำเงินเข้ามาใช้จ่ายในประเทศไทยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้ หลังการผ่อนปรนมาตรการถ่ายทำภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ตัวเลขนับตั้งแต่ม.ค. – ต.ค ปีนี้ มีบริษัทภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยรวม 71 เรื่อง ในพื้นที่ 29 จังหวัด สร้างรายได้เข้าประเทศได้แล้วกว่า 3.4 พันล้านบาท โดยประเทศที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยสูงสุด 5 อันดับในปี 2564 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง สิงคโปร์ ฝรั่งเศส และจีน ตามลำดับ

 

“นายกรัฐมนตรียังมีแนวคิดให้ส่งเสริมให้มีการทำคอนเทนต์หรือผลิตหนัง ละคร เพลง ที่ใช้วัฒนธรรมที่เป็นจุดแข็งของไทย เช่น อาหารไทย ศิลปะการแสดง กีฬา และการท่องเที่ยว เสริมความแข็งแกร่งให้กับ Soft Power ไทย และล่าสุด คือ กีฬา และ e-Sport ให้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและเศรษฐกิจ ที่สร้างรายได้และการเติบโตทางเศรษฐกิจภายหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ได้อีกด้วย” น.ส.รัชดา กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง