รีเซต

"ชลประทานโคราช" เผย 5 อ่าง น้ำเต็มความจุ ยันไม่เกิดน้ำท่วมหนัก แต่ชาวนาบางพื้นที่อาจได้รับผลกระทบ

"ชลประทานโคราช" เผย 5 อ่าง น้ำเต็มความจุ ยันไม่เกิดน้ำท่วมหนัก แต่ชาวนาบางพื้นที่อาจได้รับผลกระทบ
มติชน
14 กันยายน 2564 ( 12:02 )
74

“ชลประทานโคราช” เผย 5 อ่างน้ำเต็มความจุ ยันไม่เกิดน้ำท่วมหนัก แต่อาจทำให้ชาวนาบางพื้นที่ได้รับผลกระทบ

 

 

วันนี้ (14 กันยายน 2564) นายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา เปิดเผยว่า ขณะนี้อ่างเก็บน้ำขนาดกลางในพื้นที่มีปริมาณน้ำเต็มความจุจำนวน 5 แห่ง แต่ยืนยันว่าจะไม่ส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมหนักในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ตามที่มีข่าวลืออย่างแน่นอน โดยข่าวลือดังกล่าวเป็นข้อมูลที่บิดเบือนจากความเป็นจริง

 

 

 

ล่าสุดปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 5 แห่ง มีดังนี้

1. อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนบน) อำเภอด่านขุนทด ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่าง 8.2 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 98% จากความจุอ่างทั้งหมด 8.4 ล้านลูกบาศก์เมตร

 

 

2. อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) อำเภอโนนไทย ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่าง 31.1 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 112% จากความจุอ่างทั้งหมด 27.7 ล้านลูกบาศก์เมตร

 

 

 

 

3. อ่างเก็บน้ำบะอีแตน อำเภอวังน้ำเขียว ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่าง 1.84 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 102% จากความจุอ่างทั้งหมด 1.80 ล้านลูกบาศก์เมตร

 

 

4. อ่างเก็บน้ำลำเชียงสา อำเภอวังน้ำเขียว ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่าง 7.55 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 100% จากความจุอ่างทั้งหมด 7.5 ล้านลูกบาศก์เมตร

 

 

5. อ่างเก็บน้ำบ้านสันกำแพง อำเภอวังน้ำเขียว ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่าง 6.5 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 102% จากความจุอ่างทั้งหมด 6.4 ล้านลูกบาศก์เมตร

 

 

นายกิติกุล กล่าวว่า ซึ่งสถานการณ์ปริมาณน้ำที่เต็มความจุอ่างเก็บน้ำทั้ง 5 แห่ง ไม่ได้ส่งผลกระทบกับพี่น้องประชาชนแต่อย่างใด มีเพียงพื้นที่ด้านท้ายอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) บางส่วนเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่นาข้าวลุ่มต่ำที่อยู่ตามริมลำน้ำในเขตพื้นที่อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ที่ถูกน้ำไหลเอ่อเข้าท่วม

 

 

 

 

อย่างไรก็ตามยังต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เนื่องจากปีนี้มีฝนตกลงมามาก และฝนมาเร็วกว่าทุกปี ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทุกแห่งในพื้นที่มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยทางชลประทานได้มีแผนการระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำแต่ละแห่ง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายอ่าง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง