รีเซต

ข้อมูลจากดาวเทียม ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้อย่างไร?

ข้อมูลจากดาวเทียม ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้อย่างไร?
TNN ช่อง16
1 กันยายน 2567 ( 10:06 )
22

น้ำท่วม หรืออุทกภัย เป็นภัยธรรมชาติที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้าง ประชาชนผู้อยู่อาศัย และระบบเศรษฐกิจของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม


ด้วยความเสียหายที่อาจมีผลกระทบได้เป็นวงกว้าง ทำให้แผนการรับมือน้ำท่วมเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง โดยเฉพาะการนำข้อมูลจากเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ หรือการนำข้อมูลจากดาวเทียมและเทคโนโลยีต่าง ๆ มาประกอบการตัดสินใจและวางแผนบริหารจัดการภัยพิบัติ


หนึ่งในแหล่งข้อมูลสำคัญของการติดตามสถานการณ์พื้นที่น้ำท่วมในไทย มาจากภาพถ่ายดาวเทียมพันธมิตรของ GISTDA จากดวงต่าง ๆ ที่อยู่ในวงโคจรรอบโลก อาทิ ดาวเทียมไทยโชต ดาวเทียม THEOS-2 ดาวเทียม Radarsat-2 และดาวเทียม Sentinel-1A ซึ่ง GISTDA หรือสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ได้ใช้เพื่อช่วยสนับสนุนข้อมูลการเกิดอุทกภัยในปีนี้


แต่ดาวเทียมที่โคจรอยู่บนอวกาศ สูงจากพื้นโลกไปหลายร้อยกิโลเมตร สามารถตรวจดูพื้นที่น้ำท่วมได้อย่างไรกัน?


เริ่มจาก THEOS-2 ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติความละเอียดสูงดวงที่ 2 ของประเทศไทย มีกล้องบันทึกภาพแบบ Panchromatic ความละเอียดแยกวัตถุขนาด 50 เซนติเมตร และแบบ Multispectral ที่แยกรายละเอียดวัตถุขนาด 2 เมตรบนพื้นดินได้ จากวงโคจร Sun-synchronous ที่ความสูง 621 กิโลเมตร ทำให้สามารถนำภาพถ่ายล่าสุดมาใช้ตรวจดูพื้นที่ประสบอุทกภัยได้


THEOS-2 ได้เริ่มให้บริการข้อมูลอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2024 และมีส่วนในการบันทึกภาพพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมในปี 2024 ระหว่างโคจรผ่านเหนือประเทศไทย อาทิ ภาพถ่ายจังหวัดแพร่ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม เผยให้เห็นแม่น้ำยมปรากฏเป็นสีน้ำตาล ซึ่งบ่งชี้ถึงตะกอนที่ไหลมาตามสายน้ำ เช่นเดียวกับพื้นที่การเกษตรบางส่วนที่ยังมีน้ำท่วมขัง


ด้านดาวเทียม Sentinel-1A ขององค์การอวกาศยุโรป (ESA) และดาวเทียม Radarsat-2 ขององค์การอวกาศแคนาดา (CSA) มีการติดตั้งอุปกรณ์เรดาร์รูรับแสงสังเคราะห์ชนิด C-Band หรือ Synthetic Aperture Radar ที่ช่วยให้ดาวเทียมสามารถเก็บข้อมูลได้ทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีเมฆบดบังหรือไม่


ข้อมูลจากเรดาร์ดาวเทียมแบบ SAR ช่วยให้ตรวจดูความเข้มของสัญญาณที่สะท้อนกลับมา โดยเฉพาะในช่วง C-Band ที่มีความยาวคลื่น 3.8-7.5 เซนติเมตร สามารถตรวจดูความแตกต่างระหว่างพื้นดินและบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยสามารถเทียบกับข้อมูลการบินผ่านของดาวเทียมในรอบก่อนหน้า เพื่อความแม่นยำของการประเมินพื้นที่ประสบอุทกภัย


อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดาวเทียมยังมีข้อจำกัดด้านช่วงเวลาที่บินผ่านเหนือประเทศไทย หรือการรับข้อมูลเพื่อนำมาใช้งาน ทำให้ GISTDA ได้ใช้อากาศยานไร้คนขับ หรือ UAV ร่วมขึ้นบินสำรวจและติดตามสถานการณ์น้ำท่วม เพื่อร่วมสนับสนุนข้อมูลล่าสุดให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้นำไปใช้ประกอบการตัดสินใจและบริหารจัดการภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด


ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบข้อมูลล่าสุด และรายงานสรุปพื้นที่ประสบอุทกภัยในประเทศไทย ได้ทั้งผ่านแฟนเพจของ GISTDA และเว็บไซต์ disaster.gistda.or.th

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง