รีเซต

เปิดอนุสัญญาเจนีวา สถานพยาบาล-โรงพยาบาล ต้องยกเว้นการถูกโจมตี

เปิดอนุสัญญาเจนีวา สถานพยาบาล-โรงพยาบาล ต้องยกเว้นการถูกโจมตี
TNN ช่อง16
24 กรกฎาคม 2568 ( 16:42 )
76

อัพเดตสถานการณ์ความขัดแย้งที่พรมแดนไทย-กัมพูชา โดยกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งนำโดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข แถลงว่า การโจมตีในหลายพื้นที่ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ถึง 35 รายจำนวนนี้ต้องเสียชีวิตถึง 11 รายและยังมีทหารได้รับผลกระทบอีก 8 นาย 

กระทรวงสาธารณสุขขอประณามอย่างรุนแรงที่สุดต่อการโจมตีโรงพยาบาลและประชาชนชาวไทย ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและอนุสัญญาเจนีวาอย่างร้ายแรง ซึ่งในบรรดาผู้เสียชีวิตนั้นมีเด็กผู้บริสุทธิ์รวมอยู่ด้วย การทำร้ายเด็กถือเป็นการกระทำที่น่าละอายและไม่อาจให้อภัยได้ที่สุด

โรงพยาบาลต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยเสมอ การจงใจยิงอาวุธใส่สถานพยาบาล คือการกระทำที่ข้ามเส้นแบ่งความเป็นมนุษย์ 

ดังที่ มาตรา 18 แห่งอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 4 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า

"โรงพยาบาลพลเรือน จะต้องไม่ถูกโจมตีไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆ แต่จะต้องได้รับความเคารพและคุ้มครองจากคู่ขัดแย้งตลอดเวลา"

กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ปกป้องผู้บาดเจ็บและคนไข้

ในอนุสัญญาเจนีวา ตามศึกสงคราม สถานพยาบาลเป็นสถานที่ต้องห้ามในการโจมตี และตามหลักพื้นฐานของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ การโจมตีต่อสถานพยาบาลหรือสถานที่ที่ใช้รักษาผู้บาดเจ็บเป็นสิ่งที่ต้องห้ามอย่างชัดแจ้ง 

เนื่องจากสถานที่ดังกล่าวไม่ใช่เป้าหมายทางการทหาร มีกฎหมายระหว่างประเทศหลายฉบับที่กล่าวถึงการห้ามการโจมตีต่อสถานพยาบาลต่าง ๆ รวมถึงอนุสัญญาเจนีวาหลายฉบับ ซึ่งมีความตกลงระหว่างประเทศภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศหลายฉบับที่กล่าวถึงหลักการห้ามโจมตีสถานพยาบาล 

นอกจากนี้ ในยามเกิดสงคราม เมื่อพูดถึงผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยไข้ หมายถึงทุกคนในสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธ ไม่ว่าจะเป็นพลรบหรือพลเรือน พวกเขาเหล่านี้ไม่มีส่วนร่วมในการสู้รบและต้องรับการดูแลทางการแพทย์ 

เปิดข้อบัญญัติในอนุสัญญาเจนีวา

อนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 1 ว่าด้วยผู้บาดเจ็บ และป่วยในกองทัพในสนามรบ ค.ศ. 1949 ระบุไว้ในข้อ 19 โดยสรุปว่า สถานประจำและหน่วยทางการแพทย์เคลื่อนที่ของบริการทางการแพทย์นั้นห้ามมิให้ทำการโจมตีเลยไม่ว่าจะในพฤติการณ์ใด ๆ และจะต้องได้รับความเคารพและความคุ้มครองจากภาคีคู่พิพาท

อนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 4 เกี่ยวกับการคุ้มครองบุคคลพลเรือนในเวลาสงคราม ค.ศ. 1949 ระบุไว้ในข้อ 18 โดยสรุปว่า โรงพยาบาลฝ่ายพลเรือนที่ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลรักษาผู้บาดเจ็บ และป่วยไข้ ผู้ทุพพลภาพ และสตรีที่คลอดบุตรนั้น ห้ามมิให้ใช้เป็นจุดแห่งการโจมตีไม่ว่าในพฤติการณ์ใด ๆ แต่จะต้องได้รับความคุ้มครอง

โดยการโจมตีโรงพยาบาลถือเป็นการละเมิดอย่างร้ายแรง และการกระทำโดยเจตนาถือเป็นอาชญากรรมสงคราม หากประเทศใดละเมิดข้อตกลงดังกล่าวซึ่งอาจจะถูกนำไปฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในภายหลัง

สธ.ประณามการโจมตีโรงพยาบาล - พลเรือน เผย 2 ข้อเรียกร้อง

ในนามของกระทรวงสาธารณสุข เราขอเรียกร้องอย่างหนักแน่นที่สุด ดังนี้ 

1. รัฐบาลกัมพูชาต้องแสดงความรับผิดชอบ และหยุดการกระทำโดยทันที 

2.รัฐบาลกัมพูชาต้องร่วมเยียวยาความสูญเสียทั้งหมด 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง