Foodtech เปลี่ยนโลก EP.02 : Edible Packaging กินได้ไม่มีเหลือ
ทางเลือกของโลกใน EP. นี้ว่ากันด้วยเรื่องของบรรจุภัณฑ์ที่เป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของอาหาร ที่มักถูกมองว่าเป็นหนึ่งในตัวการที่ทำให้ขยะล้นโลก เพราะตั้งแต่วัตถุดิบ กระบวนการผลิต การขนส่ง อายุการใช้งานและการนำกลับมาใช้ซ้ำของบรรจุภัณฑ์หนึ่งนั้นล้วนเกี่ยวข้องกับการใช้พลังงาน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มากไปกว่านั้นบรรจุภัณฑ์บางประเภทยังส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในภาคการขนส่งเสียอีก
แนวคิด “Sustainable Packaging” จึงเป็นหนึ่งในทางเลือกของการลดปริมาณขยะ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่กระบวนการผลิต นำกลับมาใช้ซ้ำได้ หรือย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ซึ่งเรามักเห็นคำว่า “Eco-Friendly” ระบุบนฉลากสินค้าของแบรนด์ต่าง ๆ หรือการใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษแทนพลาสติก ไปจนถึงนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกที่นำเสนอความแตกต่าง เช่น บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำไปปลูกต่อ ระบบคืนบรรจุภัณฑ์เพื่อนำไปใช้ซ้ำหรือนำไปผลิตเป็นสินค้าชนิดอื่น หรือการใช้วัสดุให้น้อยที่สุดสำหรับหนึ่งผลิตภัณฑ์
แต่ในวันนี้ เทคโนโลยีในวงการ Foodtech กำลังจะทำให้แนวคิด “Sustainable Packaging” ให้เป็นมากกว่าการปกป้องผลิตภัณฑ์ มากกว่าการลดปัญหาขยะล้นโลก ด้วยการทำให้บรรจุภัณฑ์นั้นกินได้ เพื่อที่จะไม่ต้องเหลือขยะใดไว้ให้โลก และขยับเข้าใกล้การทำ Zero Waste อย่างแท้จริง
บรรจุภัณฑ์กินได้หรือ Edible Packaging คือ บรรจุภัณฑ์ที่ถูกออกแบบด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหารและเครื่องดื่มหรือ Foodtech ให้สามารถรับประทานได้เช่นเดียวกับอาหาร บรรจุภัณฑ์กินได้นั้นส่วนใหญ่ผลิตมาจาก Biopolymer หรือ โพลีเมอร์ชีวภาพ เช่น โปรตีน (เจลาติน กลูเตน ฯลฯ) , Polysaccharides (แป้ง), และไขมัน (Wax, Lipid ฯลฯ) เป็นต้น โดยประเภทของบรรจุภัณฑ์กินได้มี 2 ประเภท คือ ประเภทฟิล์มและประเภทสารเคลือบ โดยฟิล์มจะถูกสร้างแยกออกมาก่อน จากนั้นจึงนำไปใช้ห่อหุ้มอาหาร ในขณะที่สารเคลือบจะถูกผลิตและทาลงบนอาหารโดยตรง โดยอาจเป็นสารเคลือบหรือชั้นผิวระหว่างส่วนต่าง ๆ ของผลิตภัณฑ์อาหารชนิดเดียวกัน และด้วยคุณสมบัติของโพลีเวอร์ชีวภาพจึงทำให้บรรจุภัณฑ์กินได้มีความสามารถในการย่อยสลายทางชีวภาพได้ เช่น หากเหลือพร้อมกับเศษอาหารก็สามารถนำไปบดผสมเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์ หรือหากนำไปทิ้ง ก็ย่อยสลายได้โดยธรรมชาติในระยะเวลาไม่นานนัก
ความนิยมและตลาดของ Edible Packaging
เพราะผู้บริโภคยุคใหม่หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมและผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากขึ้น การมองหาสินค้าที่รักษ์โลกและเลือกใช้สินค้านั้นจึงมีมากขึ้นตามลำดับ มีผลสำรวจพบว่า ชาวอเมริกันถึง 37% ตัดสินใจซื้อสินค้าที่สนับสนุนความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม และ 30% ยอมที่จะจ่ายเงินสูงกว่าให้กับสินค้าที่ประกาศชัดเจนว่ามีวิธีการผลิต จัดส่ง หรือใช้วัตถุดิบเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับโลก
บรรจุภัณฑ์กินได้ซึ่งถือเป็นหนึ่งในบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกก็กำลังเป็นที่นิยมเช่นเดียวกัน โดย Valuates Reports ได้มีการคาดการณ์ว่า ตลาด Global ของบรรจุภัณฑ์กินได้จะสูงถึง 581.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2027 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 3.5% ต่อปีภายในปี 2021-2027 ในขณะที่ Transparency Market Research พบว่า ความต้องการบรรจุภัณฑ์กินได้อาจเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 6.9% ต่อปีไปจนถึงปี 2024 และอาจกลายเป็นตลาดที่มีมูลค่าเกือบ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐทั่วโลก
มีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่เริ่มพัฒนาบรรจุภัณฑ์กินได้ โดยเริ่มจากการมองหาวัตถุดิบธรรมชาติ เช่น สาหร่าย แป้งมันฝรั่ง และโปรตีนจากนม เพื่อพัฒนาเป็นบรรจุภัณฑ์หรือภาชนะที่กินได้ โดยบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ฟิล์ม กระดาษห่อ และหลอด ก็ล้วนได้รับพัฒนาเพื่อให้เป็นบรรจุภัณฑ์หรืออุปกรณ์ประกอบการรับประทานอาหารแบบกินได้ทั้งสิ้น ทำให้เริ่มมีผู้ประกอบการบรรจุภัณฑ์กินได้เข้ามาในตลาดมากขึ้น และเริ่มได้รับความสนใจจากบริษัทอาหารและเครื่องดื่มขนาดใหญ่ที่มองหาบรรจุภัณฑ์กินได้ให้กับสินค้าตัวเอง
ทั้งนี้ หนึ่งในแบรนด์ที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดคือ แคปซูล Ooho จากแบรนด์ Notpla โดยสตาร์ทอัป Skipping Rocks Lab ในลอนดอน ที่พัฒนาบรรจุภัณฑ์ใส่ของเหลวไว้ในฟิล์มกันน้ำลักษณะเป็นบับเบิ้ลใสเหมือนหยดน้ำ ที่ทำมาจากสาหร่ายทะเลสีน้ำตาลและแคลเซียมคลอไรด์ ให้ผู้บริโภครับประทานบรรจุภัณฑ์ไปพร้อมกับการดื่มน้ำที่บรรจุไว้ในแคปซูลนี้ได้เลย โดยตัวแคปซูลสามารถย่อยสลายได้เองใน 4-6 สัปดาห์ แคปซูลนี้ไม่มีสี ไม่มีรสชาติ รับประทานได้ทั้งหมด และได้มีการต่อยอดแคปซูลมาใช้บรรจุเครื่องดื่มและของเหลวอื่น ๆ อาทิ ซอสมะเขือเทศ หรือเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์สำหรับเสิร์ฟในงานเลี้ยง งานกิจกรรม เป็นต้น
--- แคปซูล Ooho ---
ที่มา: https://www.facebook.com/notpla/
แคปซูลน้ำ Ooho เป็นที่รู้จักมากขึ้นในงานวิ่งมาราธอน ‘London Marathon 2019’ เมื่อผู้จัดงานต้องการลดการใช้ขวดน้ำพลาสติกและแทนที่ด้วยการแจกแคปซูลน้ำกินได้ให้กับนักวิ่งตลอดระยะทางกว่า 26.2 ไมล์ หรือราว 42 กิโลเมตร
--- แคปซูล Ooho ในงาน ‘London Marathon 2019’ ---
ที่มา: https://www.facebook.com/notpla/
Loliware สตาร์ทอัปจากนิวยอร์ก เป็นสตาร์ทอัปบรรจุภัณฑ์กินได้อีกหนึ่งเจ้าที่นำเสนอแก้วกินได้ที่ผลิตจากสาหร่ายทะเล สีสันสดใสที่ได้จากผักและผลไม้ หรือ “Loliware biodegr(edible) cups” โดยสามารถใช้งานซ้ำได้มากกว่า 1 ครั้งหากไม่กินแก้วนี้ไปเสียก่อน และล่าสุดคือ “Lolistraw” หลอดกินได้จากสาหร่ายทะเล ที่มีรูปทรงและคุณสมบัติเหมือนหลอดพลาสติกทั่วไป ผลิตจากพืช 100% ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติใน 60 วัน โดยรสชาติและกลิ่นของหลอดได้มาจากผักและผลไม้ เช่น กุหลาบ ส้ม วานิลลา เป็นต้น หลอดสำหรับเครื่องดื่มนี้มีอายุการใช้งานได้นานถึง 24 ชั่วโมง ไม่เปื่อยยุ่ย และมีราคาไม่สูงเหมือนหลอดทางเลือกอื่น ๆ ที่ผลิตมาทดแทนหลอดพลาสติกในปัจจุบัน
--- Loliware biodegr(edible) cups ถ้วยกินได้และ Lolistraw หลอดกินได้ ---
ที่มา: https://www.facebook.com/LOLIWARE
ที่อินโดนีเซีย Evoware ต้องการช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกในประเทศที่กล่าวกันว่าเป็นแหล่งขยะพลาสติกในมหาสมุทรที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก พร้อมไปกับการสนับสนุนการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกสาหร่ายในท้องถิ่น จึงได้พัฒนาบรรจุภัณฑ์กินได้ที่ใช้สาหร่ายเป็นส่วนประกอบสำคัญ เช่น กระดาษห่อเบอร์เกอร์กินได้ ซองใส่เครื่องปรุงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและซองกาแฟที่เพียงเติมน้ำร้อนซองก็จะละลายพร้อมรับประทานได้เลย
Bakeys แบรนด์ผู้พัฒนา ช้อน ส้อม ตะเกียบกินได้ จากอินเดีย ที่ผลิตจากข้าวฟ่าง แป้งข้าวเจ้า และแป้งสาลี โดยรูปลักษณ์และคุณสมบัติเหมือนอุปกรณ์เพื่อใช้รับประทานอาหาร แต่ให้สัมผัสเหมือนบิสกิตหรือแครกเกอร์ โดย Bakeys มีอายุการเก็บรักษาได้นานถึง 3 ปี มีความกรอบสูง ไม่เปื่อยยุ่ยง่าย โดยสามารถย่อยสลายได้เองภายใน 4-5 วัน และสามารถใช้งานกับอาหารที่มีลักษณะเหลวได้โดยยังคงความกรอบอยู่ราว 10 นาที และเพราะด้วยความที่เป็นแครกเกอร์นี่เอง ทำให้ผู้ผลิตพัฒนาช้อนส้อมกินได้ของ Bakeys ให้มีรสชาติหลากหลาย โดยแบ่งเป็น 3 หมวดหมู่ คือรสธรรมดา รสหวานและรสเผ็ด อาทิ รสน้ำตาล อบเชย ขิง พริกไทยดำ แคร์รอต บีทรูท เป็นต้น เรียกได้ว่าเหมือนได้กินขนมหลังรับประทานอาหารโดยใช้ช้อนส้อมแครกเกอร์นี้
--- ช้อนกินได้ แบรนด์ Bakeys ---
ที่มา:https://time.com/4327416/edible-cutlery/
ซองบะหมี่สำเร็จรูปกินได้จาก Holly Grounds พัฒนาจากฟิล์มไบโอพลาสติกจากแป้งให้เป็นแผ่นฟิล์มที่สามารถห่อหุ้มเส้นบะหมี่และเครื่องปรุงได้ เมื่อใส่ลงไปในน้ำร้อน ฟิล์มจะละลายเป็นน้ำซุปของบะหมี่ โดยซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกินได้นี้จะถูกห่อด้วยกระดาษรีไซเคิลที่เคลือบขี้ผึ้งไว้อีกชั้นหนึ่งเพื่อให้มั่นใจถึงความสะอาด ไม่ปนเปื้อน
--- ซองบะหมี่สำเร็จรูปกินได้จาก Holly Grounds ---
ที่มา: https://www.dezeen.com/2020/07/13/holly-grounds-dissolvable-noodle-packaging-design/
ในขณะที่ไทยเราเองก็ไม่น้อยหน้า เมื่อกรมวิชาการเกษตรได้เปิดเผยงานวิจัยฟิล์มห่อหุ้มอาหารที่ทำจากแคร์รอตเป็นบรรจุภัณฑ์กินได้ โดยวางแผนนำไปผลิตเป็นฟิล์มห่อลูกอมและผลไม้กวน เพราะมีคุณสมบัติต้านทานการซึมผ่านก๊าซออกซิเจนอยู่ในระดับที่ดี ช่วยต้านการเสื่อมคุณภาพของผลิตภัณฑ์และอาหารจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน และมีคุณค่าทางโภชนาการเพราะให้สารเบต้าแคโรทีนสูงถึง 3,465 ไมโครกรัมต่อฟิล์มแคร์รอต 1 แผ่น
--- ฟิล์มแคร์รอตหุ้มอาหาร จากกรมวิชาการเกษตร ---
ที่มา: https://siamrath.co.th/n/161514
หลอดกินได้จากข้าวและพืชของบริษัท กัญจนาพร(สยาม) จำกัด ที่ต่อยอดจากธุรกิจดั้งเดิมของตนเองที่เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้าวฮาง ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น โดยเป็นหลอดที่ทำมาจาก ข้าว, ข้าวโพด, มันสำปะหลังและบุก ลักษณะเป็นหลอดบางใส ไม่มีกลิ่นสารเคมี คงรูปได้นาน โดยอยู่ตัวในน้ำร้อนได้ประมาณ 3-5 นาที หรือ 12 ชั่วโมงในน้ำเย็น หลังจากนั้นจะอ่อนตัวลงและสามารถรับประทานได้ โดยตัวหลอดเองจะสามารถย่อยสลายได้ภายใน 30 วัน ในอนาคตมีแผนพัฒนาหลอดให้มีสีสันที่ได้จากพืชตามธรรมชาติ เช่น สีส้มจากแคร์รอต หรือ สีม่วงจากดอกอัญชัน เป็นต้น
--- หลอดกินได้จากข้าวและพืชของบริษัท กัญจนาพร(สยาม) จำกัด ---
ที่มา: https://ibusiness.co/
นอกจากตัวอย่างที่กล่าวมา ยังมีบรรจุภัณฑ์กินได้ทั้งที่ผลิตออกมาวางจำหน่ายแล้ว และอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยและพัฒนาก่อนเข้าสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์อีกมาก แม้จะมีต้นทุนสูง แต่ความต้องการของตลาดรักษ์โลกนี้ก็ดูจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้นทำให้ความต้องการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งกลับมาเพิ่มมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะผู้บริโภคเองต้องการความมั่นใจในอาหารว่าจะต้องสะอาด ปลอดภัยจากเชื้อโรค โดยมีบรรจุภัณฑ์เป็นตัวกลางและทำหน้าที่โดยตรงของมันคือปกป้องผลิตภัณฑ์จากการปนเปื้อน
ส่งผลให้บรรจุภัณฑ์กินได้ไม่อาจทำหน้าที่เป็นบรรจุภัณฑ์ชั้นเดียวที่อยู่ได้โดยตัวของมันเองเพียงชิ้นเดียวอีกต่อไป แต่ยังจำเป็นต้องมีบรรจุภัณฑ์ชั้นนอกเพื่อเข้ามาตอบโจทย์ความสะอาดและสุขอนามัย อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีใครรับประทานบรรจุภัณฑ์กินได้ในช่วงที่ผู้บริโภคยังกังวลเรื่องสุขอนามัยนี้ แต่นวัตกรรมนี้ก็ถือเป็นก้าวสำคัญของการลดขยะพลาสติกที่แม้ไม่กินก็ยังย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ แบบที่ไม่ทิ้งร่องรอย และไม่ทิ้งขยะใดไว้ให้โลกเลย
-------------------
อ้างอิง
- https://cen.acs.org/food/food-science/time-edible-packaging/98/i4
- https://www.kolabtree.com/blog/edible-food-packaging-eat-your-food-and-the-wrapping-too/
- https://www.foodpackthailand.com/
- https://www.prnewswire.com/news-releases/edible-packaging-market-size-to-reach-usd-581-8-million-by-2027-at-cagr-3-5---valuates-reports-301352055.html
- https://www.notpla.com/
- https://www.dezeen.com/2020/07/13/holly-grounds-dissolvable-noodle-packaging-design/?fbclid=IwAR0j93n9bs7gIB-mDiVQt6EoAHWCBdZhZLgLqVbiQUDlIxxWe2K7r1mXUUQ
- https://www.doa.go.th/pprdd/?cat=18