งบธุรกิจ Q1/63 ซมพิษโควิด นักวิเคราะห์ฟันธงไตรมาส2 "ต่ำได้อีก" รอยาดีมาตรการรัฐเยียวยาต่อลมหายใจ
ผ่านเข้าสู่ไตรมาส 2 ของปี 2563 อย่างช้า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่สามารถคลายตัวลงได้ ซ้ำยังทวีความรุนแรงขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป (อียู) อีก ซึ่งแม้สถานการณ์ตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อจะไม่ได้เร่งตัวขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถวางใจได้ เพราะยังพบผู้ติดเชื้อใหม่รายวันเพิ่มขึ้นอยู่ดี
ตอนนี้กิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจ การเดินทางท่องเที่ยว หรือแม้แต่การดำเนินชีวิตของคนทั่วทั้งโลก หลายอย่างต้องหยุดชะงักไป สภาพธุรกิจต่างๆ ทั้งภาคการผลิต ภาคการบริการ การอุปโภคบริโภค และการลงทุน ถูกบั่นทอนและบางธุรกิจอยู่ในช่วงสุญญากาศ กลายเป็นกดดันภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย ทั้งหมดนี้เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ล้วนๆ
กลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงแรกๆ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงและสินทรัพย์ปลอดภัยผันผวนหนัก ทั้งตลาดหุ้นและตลาดทองคำ โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยการซื้อขายแดงหนักสลับเขียวเล็กน้อยต่อเนื่องเป็นเดือนๆ ความเป็นห่วงจึงเกิดขึ้นกับ “ผลประกอบการ” ของบรรดาบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทยในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่ส่วนใหญ่เตรียมเปิดเผยผลประกอบการในไตรมาส 1/2563 และทิศทางทั้งปี 2563 ในสัปดาห์นี้
ไตรมาสแรกชิมลางไตรมาส2โดนเต็มๆ
ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่า ไตรมาส 1/2563 เป็นไตรมาสที่ยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แบบไม่เต็มที่ ยังไม่เต็มทั้งไตรมาสจริงๆ เนื่องจากโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดในช่วงปลายเดือนมกราคม ก่อนทวีความรุนแรงในประเทศไทยตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์เรื่อยมาถึงปัจจุบัน คาดว่าในไตรมาส 2/2563 เดือนเมษายนเต็มเดือนจะเป็นเดือนที่ได้รับผลกระทบหนักๆแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย และแม้ว่าเดือนพฤษภาคมนี้อาจมีการปลดล็อกมาตรการควบคุมเกี่ยวกับโควิด-19 ออกมาบ้าง แต่การจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้จริงๆ น่าจะเป็นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไปจึงเชื่อว่าทั้งไตรมาส 2 จะเป็นไตรมาสที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างเต็มที่ และมากกว่าไตรมาส 1 แน่นอน
ซึ่งนอกจากช่วงเดือนพฤษภาคมจะเป็นเดือนที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องเน้นๆ ในไตรมาส 2 แล้ว ยังเป็นเดือนที่มีเรื่องราวเฉพาะตัวด้วย เพราะจากสถิติที่ผ่านมาพบว่า ในเดือนนี้จะเป็นเดือนที่ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลง เพราะจะเป็นเดือนที่มีแรงขายดัชนีหุ้นไทยออกมามากกว่าปกติอยู่แล้ว ซึ่งหากรวมกับผลกระทบที่เกิดจากโควิด-19 จะทำให้ดัชนีปรับตัวลดลงมากกว่าเดิมอีกครั้ง และเป็นช่วงรอยต่อของงบประมาณเงินกู้ตาม พ.ร.ก.วงเงินกว่า 1 ล้านล้านบาท ที่คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายในช่วงครึ่งหลังของเดือนพฤษภาคม ทำให้ประเมินว่าครึ่งแรกของเดือนพฤษภาคมจะเป็นช่วงที่สภาพคล่องในระบบไม่ได้ดีมากนัก
สำหรับแนวโน้มการประกาศงบของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทยในไตรมาส 1/2563 เริ่มต้นที่กลุ่มแบงก์ คาดว่าภาพรวมจะปรับลดประมาณ 9.7% หรือตัวเลขกลมๆ ประมาน 10% โดยจะมีเพียง 2 ธนาคารที่ยังสามารถเติบโตได้คือ ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารทีเอ็มบี โดยธนาคารกรุงเทพจะเป็นสินเชื่อในภาคธุรกิจที่ยังไม่ได้รับผลกระทบมากเท่าสินเชื่อกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) ซึ่งจะมีสัดส่วนอยู่ในธนาคารกสิกรไทยและธนาคารไทยพาณิชย์มากกว่า ทำให้ธนาคารกรุงเทพยังมีการเติบโตได้ แม้จะไม่ได้เยอะมากมายนัก
ส่วนธนาคารทีเอ็มบีเห็นการเติบโตได้จากการควบธนาคารทหารไทยเข้ามา จึงดูเติบโตได้สูงกว่าภาพรวมเล็กน้อย โดยภาพรวมหุ้นกลุ่มธนาคาร ในระยะสั้นยังต้องระวังการขายทำกำไรออกมา หลังจากประกาศงบแล้วเสร็จ (เซลออนแฟคท์) เนื่องจากคาดว่านักลงทุนจะยังมีความกังวล ในส่วนของหนี้ไม่ก่อรายได้ (เอ็นพีแอล) หรือหนี้สิน อาจเร่งขึ้นในไตรมาส 2/2563 ได้ แต่อาจไม่ได้ส่งผลกระทบทำให้หุ้นปรับลดลงไปลึกมากนัก เพราะแบงก์ก็อยู่ในโซนที่ต่ำอยู่แล้วในปัจจุบัน
กลุ่มเกษตร-อาหารยังสดใส
หากประเมินตามกลุ่มหุ้นและดูในภาพรวมผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทยคาดว่าจะรับแรงเสียดทานจากภาวะเศรษฐกิจได้ เป็นหุ้นกลุ่มเกษตรและอาหาร เนื่องจากได้รับปัจจัยเชิงบวกในเรื่องของการกักตุนอาหารและการส่งออก ซึ่งจะเป็นการเร่งส่งออกในส่วนของเนื้อหมู และไก่ อาทิ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ, บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือทีเอฟจี, บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือจีเอฟพีที และหุ้นกลุ่มเครื่องดื่ม ยังมีแนวโน้มเห็นการเติบโตได้ อาทิ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือโอเอสพี, บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือซีบีจี ซึ่งกลุ่มเหล่านี้จะเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับของกินของใช้ที่ยังดูดีอยู่
อีกกลุ่มเป็นกลุ่มสื่อสารที่ผลประกอบการถึงแม้จะไม่ได้โตมากเหมือนไตรมาส 1 ปี 2562 ซึ่งประเมินว่าน่าจะออกมาแบบทรงตัว แต่ถือว่าดีกว่าหุ้นกลุ่มอื่นๆ ในภาพรวมตลาด อาทิ แอดวานซ์ ดีแทค รวมถึงกลุ่มที่จะเห็นการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปคือหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า ซึ่งหากสามารถเดินเครื่องจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (ซีโอดี) ได้แล้วจะทำให้กำไรเติบโตมากขึ้น อาทิ จีพีเอสซี ที่มีการบวกกำไรของบริษัทย่อยเข้ามาเพิ่มด้วย ส่วนอีกกลุ่มเป็นหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ คาดว่าจะเติบโตได้จากปัจจัยบวกเฉพาะตัว เพราะช่วงไตรมาส 1/2563 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจมีการชะลอตัว และได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้มีการวิ่งเข้าหาสินเชื่อมากขึ้น เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจมากขึ้น
กำไรบจ.ไตรมาส1ทรุดฮวบ10-15%
สำหรับหุ้นที่ยังมีทิศทางดูดีและมีแนวโน้มเติบโตได้เป็นหุ้นกลุ่มเกษตรอาหารและเครื่องดื่ม โรงไฟฟ้า ไฟแนนซ์ และสื่อสาร ที่แม้จะไม่ได้ดีมาก แต่หากเทียบกับค่าเฉลี่ยของตลาดในภาพรวมแล้วประเมินว่าน่าจะออกมาแล้วดีกว่าค่าเฉลี่ย โดยกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในไตรมาส 1/2563 ภาพรวมน่าจะปรับลดลงประมาณ 10-15% แม้จะไม่ได้ลงเยอะมากนักแต่จะมาลงเยอะจริงๆ ในช่วงไตรมาส 2/2563 โดยภาพในไตรมาส 2/2563 ประเมินว่าจะมีการปลดล็อกหลายเรื่องเกี่ยวกับโควิด-19 ทำให้หุ้นที่เคยได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ ทั้งในภาคการผลิตและภาคการขายสินค้าแบบค้าปลีก จะโดดเด่นในไตรมาส 2/2563 เนื่องจากราคาปรับลดลงจากผลกระทบที่เกิดจากโควิด-19 ไปแล้วในช่วงไตรมาส 1/2563 ค่อนข้างมาก อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะได้แรงสนับสนุนเชิงบวกในช่วงที่คนทำงานที่บ้านมากขึ้น ทำให้มีการซื้ออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าไอทีและเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้นด้วย
กลุ่มค้าปลีกที่ได้รับผลกระทบมากในช่วงที่ผ่านมา แม้จะยังสามารถขายของได้อยู่แต่เนื่องจากรายได้ที่มาจากหน้าร้านปรับลดลงไป เพราะต้องปิดร้านเพื่อทำตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม และแนวคิดการหยุดเชื้อเพื่อชาติ รวมถึงร้านค้าสะดวกซื้อก็ไม่สามารถเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงได้ตามปกติ หุ้นกลุ่มเหล่านี้จึงน่าจะกลับมาดีขึ้นช่วงไตรมาส 2/2563 ได้ โดยหุ้นที่ยังไม่สดใสแน่นอนว่าเป็นหุ้นกลุ่มท่องเที่ยว ที่แนะนำให้ชะลอการลงทุนไว้ก่อน เลือกไว้เป็นอันดับสุดท้าย เนื่องจากแม้จะมีการปลดมาตรการล็อกดาวน์แล้วแต่เชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงยังไม่อยากออกเดินทางท่องเที่ยวและชะลอการเดินทางอยู่ คาดว่าหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวจะกลับมาดีขึ้นได้ในไตรมาส 4/2563 ทีเดียว โดยระยะสั้นอาจสามารถปรับขึ้นมาได้บ้าง แต่จะปรับลดระดับลงสลับกันออกมา
ลุ้นภาพรวมเศรษฐกิจฟื้นไตรมาส3
ในแง่ของภาพเศรษฐกิจคาดว่าจะฟื้นขึ้นได้ในไตรมาส 3/2563 เป็นต้นไป แต่ในแง่ของตลาดหุ้นจะฟื้นนำล่วงหน้าไปก่อน เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะเห็นคือดัชนีอาจมีการพักตัวลงบ้าง ในช่วงที่รัฐบาลยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าดัชนีหุ้นไทยจะไม่สามารถปรับลดลงไปแตะระดับต่ำสุดที่บริเวณ 969 จุด ถือว่าต่ำสุดในรอบ 8 ปีที่ผ่านมาได้อีกแล้ว เนื่องจากหากมองภาพไปถึงไตรมาส 3 นี้จะมีความชัดเจนและแน่นอนแล้วว่าทุกอย่างจะต้องฟื้นคืนมาได้
ซึ่งตามสถิติแล้วหุ้นจะปรับตัวขึ้นนำไปก่อน ทำให้หากนักลงทุนประเมินแล้วว่าในอนาคต หุ้นไทยจะฟื้นได้ นักลงทุนไม่น่าจะขายหุ้นแน่นอน ในเมื่อขายแล้วรู้ว่าหุ้นมีโอกาสฟื้นกลับมาจะขายทำไม ต้องถือต่อเพื่อรอการกลับมาเป็นบวกอยู่แล้ว อาจเห็นดัชนีหุ้นไทยในไตรมาส 3 ปรับตัวขึ้นได้ ส่วนไตรมาส 4 จะเร่งตัวขึ้นดี และเป็นภาพการปรับขึ้นได้ดีในระยะยาวๆ แต่หากประเมินตามมูลค่าหุ้น (แวลูเอชั่น) ในตลาด ขณะนี้ถือว่าค่อนข้างตึงตัวมาก เนื่องจากดัชนีหุ้นปรับขึ้นมาจากจุดต่ำสุดที่ระดับ 969 จุด มาอยู่ที่ระดับ 1,239.24 จุด ซึ่งปรับขึ้นมาแล้วกว่า 28% ถือว่าหุ้นไทยเป็นตลาดที่ปรับตัวขึ้นมาสูงมาก หากเทียบกับค่าเฉลี่ยของตลาดหุ้นอื่นๆ ที่ปรับขึ้นมาเพียง 20% เท่านั้น ทำให้เกิดภาวะการตึงตัวในแง่ของการปรับขึ้นมาสูงเกินภาพรวมตลาดหุ้นอื่นๆ
“ไตรมาส 2/2563 ประเมินว่าเดือนที่จะกลับมาดีได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ซึ่งเดือนพฤษภาคม หากเห็นดัชนีปรับระดับอ่อนตัวลงมาก็เป็นโอกาสในการเข้าซื้อสะสม เนื่องจากหากมองไปข้างหน้าจะเห็นว่าโควิด-19 น่าจะเริ่มคลายตัวได้แล้ว และคงมีการปลดล็อกกฎเกณฑ์หรือการควบคุมอะไรเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงคิดว่าปลายไตรมาส 2 เป็นช่วงลงทุนได้มากขึ้น ส่วนในต้นไตรมาส 2 ให้ชะลอการลงทุนเพื่อรอดูความชัดเจนก่อน เป็นการลงทุนแบบผ่อนคันเร่ง และรอการอ่อนตัวแล้วค่อยซื้ออีกครั้งดีกว่า
โดยการแนะนำในแง่ของกลยุทธ์ในการลงทุน โดยประเมินว่าหากจำนวนผู้ติดเชื้อรายต่อวันไม่ได้เร่งตัวขึ้นจนเกินขีดจำกัด และภาครัฐสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ หมายความว่าไม่ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และขยายเวลามาตรการล็อกดาวน์เพิ่มขึ้นก็มีโอกาสได้เห็นดัชนีหุ้นไทยไต่ระดับขึ้นแตะ 1,300 จุดได้แต่โอกาสที่จะปรับขึ้นไปในระดับต้นปีที่ผ่านมาที่ 1,500 จุด อาจเป็นไปได้ยากเกินไป เพราะสภาพกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทยไม่สนับสนุนจริงๆ รวมถึงจุดที่พิจารณาระดับดัชนีในปัจจุบันก็ปรับขึ้นมามากแล้วด้วย”
แนะรับมือผลกระทบภัยแล้ง
ปัจจัยที่มีน้ำหนักกับตลาดหุ้นในระยะถัดไปเป็นการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศ โดยเมื่อผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปแล้ว จะต้องเตรียมรับมือกับภัยแล้งที่กำลังจะเข้ามา และปัญหาในเรื่องการเมืองตามมาในส่วนของการตรวจสอบการใช้งบประมาณของรัฐบาล ด้วยความที่เศรษฐกิจไทยพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวสูงมากจึงต้องจับตามองในส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติว่าจะกลับเข้ามาหรือไม่ โดยหากไม่กลับมาก็จะเป็นความเสี่ยงในการไร้สภาพคล่องกระแทกเข้ามาอีก
นอกจากนี้ ยังต้องจับตามองว่าภาครัฐจะมีมาตรการอะไรออกมาช่วยเหลือเยียวยาอีกหรือไม่ เพราะขณะนี้ต้องยอมรับว่ากำไรบริษัทจดทะเบียนไทยย่ำแย่มาก และหากดูเนื้อในดีๆ บริษัทจดทะเบียนไทยยังไม่ได้รับการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เลย ซึ่งที่ผ่านมามาตรการเหล่านั้นออกมาเพื่อช่วยบริษัทนอกการจดทะเบียน และช่วยผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) มากกว่า โดยต้องจับตามองว่ารัฐบาลจะกล้าออกมาตรการช่วยเหลือบริษัทจดทะเบียนไทย ผ่านมาตรการทางภาษีนิติบุคคลลงมาได้หรือไม่ ซึ่งหากรัฐบาลกล้าทำออกมาจริงก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนในการทำให้ดัชนีหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าระดับ 1,300 จุดได้ เพราะจะทำให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนปรับขึ้นในทันที
โควิดไม่จบอีก3เดือนอ่วมหนัก
สอดคล้องกับบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เปิดเผยว่า ในสภาวะปัจจุบัน แม้ว่าผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทยไตรมาส 1/2563 ยังคงไม่เลวร้ายมากนัก แต่ไตรมาส 2/2563 มีโอกาสที่ผลประกอบการกลุ่มได้รับผลกระทบหนักและมากสุด เนื่องจากยังไม่มีทีท่าว่าโควิด-19 จะจบลงสามารถคลายตัวได้ในช่วงใด
สมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน ระบุว่า จากผลการสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนต่อมุมมองด้านการลงทุนในไตรมาส 2/2563 คาดว่าดัชนีราคาหุ้นไทย ณ สิ้นไตรมาส 2/2563 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,118 จุด พร้อมคาดการณ์ระดับดัชนีสิ้นปี 2563 อยู่ที่ 1,276 จุด ลดลงจากผลสำรวจไตรมาส 1/2563 อยู่ที่ 1,679 จุด สำหรับความเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นไทยตั้งแต่เดือนเมษายนนี้ถึงสิ้นปี 2563 คาดว่าจะทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 954 จุด และสูงสุดอยู่ที่ระดับ 1,323จุด โดยคาดการณ์กำไรสุทธิต่อหุ้น (อีพีเอส) ของตลาดปี 2563 เฉลี่ยอยู่ที่ 79.70 บาท โดยมองว่าดัชนีราคาหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 2/2563 มีแนวโน้มไปในทิศทางลบ และแกว่งตัวผันผวน ซึ่งมีกลุ่มน้อยที่ประเมินว่าดัชนีปรับขึ้นมาเคลื่อนไหวในแดนบวกได้
สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการขับเคลื่อนตลาดในไตรมาส 2/2563 มองว่าเป็นสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ถือเป็นปัจจัยลำดับแรกที่มีอิทธิพลต่อทิศทางราคาหุ้นไทยระยะสั้น รองลงมาคือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทย โดยคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมปี 2563 เฉลี่ยติดลบ 0.60% และปี 2564 เป็นบวกเฉลี่ยอยู่ที่ 2.94% บนสมมุติฐานราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยปี 2563 ที่ 39.26 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยปัจจัยที่ส่งผลลบต่อการลงทุนในตลาดทุนไทยปี 2563 ได้แก่ โควิด-19 เศรษฐกิจภายในประเทศ และปัจจัยด้านผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน
วิตกค่าใช้จ่ายพุ่งมากกว่าการเมือง
ขณะที่ปัจจัยด้านการเมืองในต่างประเทศไม่มีผลมากนักต่อทิศทางราคาหุ้นในช่วงปีนี้ โดยปัจจัยที่ส่งผลบวกต่อดัชนีหุ้นไทยในปีนี้ ได้แก่ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา (เฟด) และคาดการณ์คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ในปี 2563
“มาตรการที่ต้องนำเสนอให้ภาครัฐคือ ใช้นโยบายการคลังโดยเฉพาะการช่วยเหลือประชาชนให้มีกำลังซื้อ ได้แก่ ชดเชยรายได้ การลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ลดค่าน้ำ ไฟฟ้า โทรศัพท์ ส่วนด้านการช่วยเหลือภาคธุรกิจ 35% เสนอการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลง หรือการชดเชยอื่นๆ ที่เป็นรูปธรรม ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบนอกเหนือจากนโยบายการคลังแล้วยังต้องการเสนอให้ภาครัฐเร่งโครงการลงทุนและมีประมาณ 10% แนะนำให้นำกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) กลับมาเปิดอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ยังแนะนำให้นักลงทุนถือครองเงินสดหรือเงินฝากระยะสั้น 39% หุ้นหรือกองทุนหุ้นไทย 21% และหุ้นต่างประเทศหรือกองทุนต่างประเทศ 13% เพื่อเฉลี่ยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นด้วย”
จากความคิดเห็นข้างต้นสะท้อนทิศทางผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทยไตรมาส 1/2563 ไม่น่าจะสดใสเท่าที่ควร แต่หากประเมินไตรมาส 2/2563 อาจจะหนักหน่วงกว่านั้น ทำให้ปี 2563 อาจเป็นปีที่เหน็ดเหนื่อยของตลาดหุ้นไทยอีกปี หลังจากที่ดัชนีหุ้นไทยไม่ได้ปรับลดระดับลงอย่างร้อนแรงแบบนี้ตั้งแต่ 8 ปีที่ผ่านมา
ดังนั้น คงต้องติดตามว่าบริษัทจดทะเบียนไทยจะรับมือกับแรงกระแทกของเศรษฐกิจได้มากน้อยเท่าใด และรัฐบาลจะมีมาตรการอะไรออกมาอุ้มตลาดทุนไทยแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่อย่างไร ติดตามพฤษภาคมนี้มีคำตอบ!!