รีเซต

สธ.รับเตียงผู้ป่วยหนักยังตึง ปรับฮอสปิเทลรองรับ 10% แฉพบลอบส่งเครื่องออกซิเจนขายปท.เพื่อนบ้าน

สธ.รับเตียงผู้ป่วยหนักยังตึง ปรับฮอสปิเทลรองรับ 10% แฉพบลอบส่งเครื่องออกซิเจนขายปท.เพื่อนบ้าน
มติชน
27 กรกฎาคม 2564 ( 14:56 )
42
สธ.รับเตียงผู้ป่วยหนักยังตึง ปรับฮอสปิเทลรองรับ 10% แฉพบลอบส่งเครื่องออกซิเจนขายปท.เพื่อนบ้าน

 

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงกรณีหลายโรงพยาบาล (รพ.) เริ่มขยายเตียงผู้ป่วยโรคโควิด-19 ไปยังห้องฉุกเฉิน และความวิกฤตของกรุงเทพมหานคร ว่า ขณะนี้เตียงรองรับผู้ป่วยทั้ง รพ.รัฐ และ รพ.เอกชน ติดลบแล้ว อย่างหลายแห่งรับได้เพียง 10 ราย แต่รับผู้ป่วยจริงเข้าไป 12 เตียง ดังนั้น ณ ขณะนี้เตียงรองรับผู้ป่วยอาการสีเหลืองและสีแดงตึงหมด

 

 

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังรอเครื่องผลิตออกซิเจนในหลายๆ ส่วนทั้งรัฐและเอกชน เพื่อนำไปใช้ในฮอสปิเทล เพื่อรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง ที่จะเข้มขึ้นและต้องการออกซิเจน ให้นอนในฮอสปิเทลได้

 

 

“ฮอสปิเทลในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีกว่า 2 หมื่นห้อง ถ้าเราแค่แปลงร้อยละ 10 จะมีเตียงสีเหลืองเพิ่มอีก 2,000 กว่าเตียง ก็จะสามารถรองรับผู้ป่วยได้ แต่ตอนนี้ติดขัดเรื่องเครื่องผลิตออกซิเจน ถังออกซิเจน อยู่มากพอสมควร เพราะได้ข่าวว่ามีการลักลอบนำออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะชายแดนเมียนมา” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

 

 

เมื่อถามว่า ยาฟาวิพิราเวียร์เพียงพอหรือไม่ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ยืนยันว่าสำรองในประเทศไทยมียาประมาณ 10 ล้านเม็ด และจะทยอยเข้ามา โดยเดือนหน้า จะเข้ามาทีละสัปดาห์ รวมแล้วประมาณ 40 ล้านเม็ด ในเดือนสิงหาคม

 

 

“ดังนั้น อัตราการใช้ไม่มีปัญหาเรื่องสต็อกยา ขณะเดียวกัน เดิมมีเรื่องเบิกยาค่อนข้างวุ่นวาย เราพยายามตัดขั้นตอนทั้งหมด ปัจจุบันมีความร่วมมือกับภาคประชาสังคม ยกตัวอย่าง การทำโรงพยาบาลเสมือนจริง โดยเอาผู้ป่วยที่โทรเข้ามา 1668 มาขึ้นทะเบียนเป็น Home Isolation ผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการเราก็ส่งยาฟาวิพิราเวียร์ และเรายังมีภาคประชาสังคมต่างๆมาช่วยกัน ประสานเข้ามากรณีคนไข้เริ่มมีอาการ เราก็จะจัดส่งยาไปให้ หลักการเราเอื้อในส่วนนี้มากที่สุด ส่วนใครจะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์นั้น หลักเกณฑ์คือ หากอาการดี ไม่มีโรคร่วม ก็จะไม่ต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ ก็กินยาลดไข้ หรือฟ้าทะลายโจร แต่ถ้ามีอาการ ขอให้เริ่มยาเร็วที่สุด ซึ่งตรงนี้เป็นแนวทางจากคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย ทั้งโรงเรียนแพทย์ สมาคมโรคติดเชื้อ ระบุว่า ต้องเริ่มยาให้เร็วที่สุดเมื่อเริ่มมีอาการ หรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว แต่ไม่มีอาการขอให้อยู่กับดุลพินิจของแพทย์ ตรงนี้เป็นการป้องกันไม่ให้อาการสีเขียวเป็นสีเหลือง” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง