รีเซต

แพทย์ รพ.ธรรมศาสตร์ เผย ‘หืด’ อาการคล้าย ‘โควิด’ แต่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง แนะวิธีสังเกตอาการ

แพทย์ รพ.ธรรมศาสตร์ เผย ‘หืด’ อาการคล้าย ‘โควิด’ แต่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง แนะวิธีสังเกตอาการ
มติชน
5 พฤษภาคม 2563 ( 11:26 )
166
1
แพทย์ รพ.ธรรมศาสตร์ เผย ‘หืด’ อาการคล้าย ‘โควิด’ แต่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง แนะวิธีสังเกตอาการ

 

​การประกาศผ่อนปรนมาตรการอันเข้มงวดของรัฐบาลช่วยให้ประเทศไทยกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง คนหาเช้ากินค่ำเริ่มมีรายได้ พ่อค้าแม่ขายทยอยเปิดร้านรวง ประชาชนคลายกังวลอย่างเห็นได้ชัด เชื่อว่าทุกคนภาวนาให้สัญญาณบวกในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของความปกติ

 

​ตลอดระยะเวลาที่โควิด 19 แพร่ระบาด สิ่งที่แพร่ระบาดไปไกลมากกว่าคือความวิตกจริต หลายครั้งเราจึงรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวเหมือนจะเป็นไข้ รู้สึกตกใจเมื่อคิดได้ว่าเผลอใช้มือขยี้ตาหรือป้ายปาก ขณะที่ในหัวก็เอาแต่ถามตัวเองว่า “เราติดโควิดแล้วหรือยัง”

 

​ถึงแม้แนวโน้มตัวเลขผู้ติดเชื้อจะลดต่ำลงจนอยู่ในระดับที่น่าพอใจบ้างแล้ว แต่ใช่หรือไม่ว่าเมื่อใครสักคนกระแอมเสียงในลำคอขึ้นมาให้ได้ยิน เราฉากหลบแทบไม่เป็นขบวน ในทางกลับกันหากเราเป็นฝ่ายไอเสียเอง คำถามที่ว่า “เราติดโควิดแล้วหรือยัง” ก็จะวนเวียนกลับมาอีก

 

​แท้จริงแล้ว โรคโควิด 19 ต้องมีอาการหลายอย่างประกอบกัน อาทิ ไอ เจ็บคอ ไข้สูง หายใจเหนื่อยหอบ ที่สำคัญคือต้องมีพฤติกรรมประวัติความเสี่ยง แต่ด้วยความอันตรายของโรคนี้คือการสร้างผลกระทบต่อปอด และระบบทางเดินหายใจ อาการที่แสดงออกมาจึงมีความคล้ายคลึงกับอีกหลายโรค หนึ่งในนั้นคือ “โรคหืด”

 

​เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนและวิตกกังวลกันไปใหญ่ สอดรับกับที่องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การหืดโลก Global Initiative for Asthma กำหนดให้วันอังคารแรกของเดือนพฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันโรคหืดโลก” (world asthma day) ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 5 พ.ค. 2563

 

จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ทำความรู้จักกับโรคนี้ ไปพร้อมกับผู้ที่ป่วยด้วยโรคหืดที่จะได้รับคำแนะนำการปฏิบัติตัวในช่วงโควิด 19 แพร่ระบาด

​ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืดและระบบหายใจ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และยังดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) อธิบายว่า โรคหืดเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ แต่กลับยังพบว่ามีคนไทยเสียชีวิตจากโรคนี้เกือบปีละ 7,000 ราย ซึ่งถือว่าสูงมาก

 

​ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกล่าสุดในปี 2017 ระบุว่า มีคนไทยเสียชีวิตจากโรคหืดถึง 6,808 ราย คิดเป็น 1.3% ของการเสียชีวิตทั้งหมด อยู่ในอันดับที่ 76 ของโลก และอันดับที่ 5 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยผู้ใหญ่มีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าเด็กถึง 5 เท่า

 

​“เดิมผู้ป่วยจะเข้าใจว่าโรคหืดเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หาย จึงมักจะขาดความสม่ำเสมอในการใช้ยา แต่ที่จริงแล้วโรคนี้รักษาให้หายได้ ยิ่งรักษาเร็วยิ่งมีโอกาสหายสูง โดยในเด็กมีโอกาสหายมากกว่า 50% ส่วนผู้ใหญ่และผู้สูงอายุจะเป็นกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากพ่นยาได้ยากกว่า มีอาการรุนแรงกว่า และหลายคนเคยชินกับอาการหอบโดยที่ไม่รู้ว่ากำลังป่วยเป็นโรคหืด” ศ.พญ.อรพรรณ ระบุ

 

​สำหรับการดูแลรักษา คนไข้จะต้องมียาติดตัว 2 ประเภท ได้แก่ 1. ยาควบคุม ซึ่งใช้ในระยะยาวจะช่วยรักษาให้หายได้ 2. ยาฉุกเฉิน ที่เป็นยาขยายหลอดลม เพราะอาการหอบจะกำเริบขึ้นมาเมื่อใดก็ได้ และผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเพราะไม่ได้พกยาฉุกเฉินจนขาดอากาศหายใจ

 

​“จริงๆ แล้วภาวะหอบไม่ได้เริ่มต้นด้วยอาการหอบ แต่มักเริ่มด้วยการไอในช่วงเวลากลางคืน” ศ.พญ.อรพรรณ ระบุ และว่า นอกจากผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้หอบง่าย อาทิ บุหรี่ ไรฝุ่น ฝุ่นละออง มลพิษ ความเครียดแล้ว ควรนำหลักการ 4Es มาใช้ควบคู่กันไป

 

​ประกอบด้วย

1. Exercise ต้องออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ 2. Eating รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ 3. Environment คนไข้โรคหืดจะต้องหลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดอาการ 4. Emotion ในภาวะที่คนไข้เครียด ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน จะทำให้โรคกำเริบขึ้นมา

 

​ในส่วนของผู้ป่วยโรคหืดในสถานการณ์โควิด 19 แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหืดรายนี้ ให้คำแนะนำถึงข้อปฏิบัติ 5 ประการ ซึ่งอ้างอิงตามองค์การหืดโลก ได้แก่

1. ห้ามหยุดยา-ลดยา ซึ่งนอกจะช่วยลดความเสี่ยงอาการกำเริบแล้ว ยังช่วยลดการเดินทางไปโรงพยาบาลด้วย

 

2.หลีกเลี่ยงการพ่นยาประเภทฝอยละออง หรือ Nebulization เนื่องจากมีโอกาสที่ผู้ป่วยโรคหืดที่ป่วยเป็นโควิด 19 จะแพร่กระจายเชื้อได้ แนะนำให้ใช้ยาพ่น MDI with spacers โดยสามารถทำ DIY Spacers ใช้เองด้วยงบประมาณ 30-40 บาท ดูได้ทางเพจ Asthma Talks by Dr.Ann

 

“ขณะนี้หมอได้จัดทำอุปกรณ์แจกจ่ายให้กับโรงพยาบาล 500-600 แห่งทั่วประเทศ ผ่านโครงการ“หยุดหอบ ป้องกัน Covid-19 ด้วย Thai Kit Spacer” และยังร่วมมือกับสถาบันพลาสติกฯ ทำนวัตกรรม Spacers พ่นยาขณะใส่เครื่องช่วยหายใจ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยวิกฤติที่ต้องพ่นยารักษาโรคหืดควบคู่ด้วย” ศ.พญ.อรพรรณ ระบุ

 

3.คนไข้ต้องเข้าใจและมีแผนปฏิบัติการดูแลในยามฉุกเฉิน (Asthma Action Plan) เพื่อรู้วิธีการปฏิบัติตัวและสังเกตอาการ โดยปกติสูตรการพ่นยาฉุกเฉิน ทุก 15 นาที x 3 ครั้ง ถ้าดีขึ้นพ่นห่าง 6 – 8 ชั่วโมงจนดีขึ้นไป 2-3 วัน ซึ่งคนไข้หลายคนจำผิด หรือจำไม่ได้ว่าจะต้องดูแลตัวเองอย่างไร ตรงนี้สามารถดาวน์โหลด Application : Asthma Care ไปใช้ได้

 

Application : Asthma Care เป็นแอปพลิเคชันที่คิดค้นโดยทีมวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งจะมีการระบุวิธีสังเกตอาการ วิธีการพ่นยาด้วยตนเอง เบอร์โทรฉุกเฉิน ข้อแนะนำ ตั้งเวลาเตือน พร้อมวิดีโอประกอบ รวมทั้งแบ่งระดับความรุนแรงของอาการตามสีเขียว-เหลือง-แดงด้วย

 

4.หลีกเลี่ยงการทำหัตถการเป่าปอดเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อ 5. การดูแลคนไข้ผ่าน Telemedicine โรคหืดสามารถที่จะตรวจดูอาการและรักษาผ่านทางไกลได้ โดยส่งยาไปที่บ้านหรือรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้าน

 

แม้ว่าโรคหืดจะมีอาการคล้ายคลึงกับโควิด 19 หากแต่ผู้ป่วยโรคหืดไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง เพราะไม่มีไข้สูง 37.5 องศา ไม่ได้เจ็บคอ ไม่ได้ปวดเมื่อยตามตัว และไม่มีอาการที่บ่งชี้สำคัญ เช่น ไม่ได้กลิ่นและไม่สัมผัสรส แต่ถึงอย่างนั้น ผู้ป่วยก็ต้องดูแลตัวเองอย่างใกล้ชิดและพ่นยาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันอาการกำเริบในสถานการณ์โควิด 19 นี้

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง