THREเปิดปัจจัยท้าทายธุรกิจ ภัยธรรมชาติ-ประกันสุขภาพ
#THRE #ทันหุ้น THRE เปิดปัจจัยท้าทายธุรกิจประกันวินาศภัย ชี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดภัยเสี่ยงในพื้นที่ใหม่ๆ และประกันสุขภาพที่เคลมสูงเป็นความท้าทายในการบริหารจัดการธุรกิจ มองบริษัทประกันภัยต้องปรับตัว ทั้งบริหารต้นทุนความเสี่ยง และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่คุ้มครองความเสี่ยงที่เปลี่ยนไป
นายโอฬาร วงศ์สุรพิเชษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) หรือ THRE กล่าวถึงความท้าทายในธุรกิจประกันวินาศในปัจจุบันและมีผลต่อเนื่องไปยังอนาคตเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ที่ทำให้เกิดภัยพิบัติรุนแรงขึ้น และค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้นเป็นผลจากนวัตกรรมการรักษาที่พัฒนาขึ้น การรักษาที่เป็นแบบเฉพาะเจาะจง
นายโอฬาร กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมาประเทศไทยถือว่ามีความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติน้อยกว่าเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเรื่องของแผ่นดินไหว หรือภัยของพายุ แต่จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทำให้พื้นที่ที่ไม่เคยได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติก็ได้รับผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้น ถี่ขึ้น ดังนั้นในมุมของบริษัทรับประกันภัยต่อต่างชาติจะมองความเสี่ยงภัยของไทยต่างไปจากเดิม
"จากเดิมที่รีอันชัวร์รันส์ต่างประเทศจะมองความเสียหายของภัยในแต่ละพื้นที่ แต่ละประเทศไม่เท่ากัน เช่นพื้นที่พายุรุนแรงก็จะเกิดบ่อยที่เวียดนามความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวบ่อยครั้งจะเป็นที่อินโดนีเซีย ส่วนไทยมักไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติใหญ่ๆ จะมีก็น้ำท่วมในพื้นที่ที่เกิดขึ้นเป็นประจำอย่างภาคกลาง แต่ล่าสุดที่ไทยเกิดทั้งแผ่นดินไหว และน้ำท่วมรุนแรงที่ภาคเหนือ ทำให้บริษัทอันชัวร์รันส์ต่างประเทศวางกรอบการประเมินความเสี่ยงจากรายประเทศเป็นแบบภูมิภาค”
นั่นหมายความว่า ลูกค้า หรือ บริษัทประกันวินาศภัยไทย มีโอกาสถูกปรับเบี้ยเพิ่มขึ้นจากความเสียหายที่มากขึ้น รุนแรงขึ้นและถี่ขึ้น ผลกระทบจากส่วนนี้ก็จะส่งต่อไปยังลูกค้าที่ทำประกันภัย อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของอัตราเบี้ยประกันภัยต่อในปัจจุบันนั้นไม่ได้มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างที่ผ่านมา ที่มีความเข้มงวดในมาตรฐานการรับประกันภัย หรือที่เรียกว่า ตลาดแข็งตัว หรือ Hard Market เพราะบริษัทประกันภัยต่อ หรือรีอินชัวรันส์ในต่างประเทศยังคงมีกำไรจากการดำเนินงานที่สูง ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดี แต่กระนั้นอัตราเบี้ยประกันก็ไม่ได้อยู่ในระดับที่ถูก เนื่องจากปัจจัยที่กล่าวไปในข้างต้นว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทำให้ ภัยพิบัติเกิดถี่ขึ้น บางพื้นที่ไม่เคยเกิดความเสียหายร้ายแรงก็เกิด จึงทำให้อัตราเบี้ยประกันภัยต่อทรงตัวในระดับสูง
“ปัจจัยท้าทายทั้งจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้ภาคธุรกิจต้องมีการปรับตัว เพื่อจัดการกับต้นทุนความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างบริษัทประกันก็ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ครบคลุมความเสี่ยงที่เปลี่ยนไป ในส่วนของลูกค้าก็จะต้องเตรียมแผนรับมือกับภัยที่คาดไม่ถึง เพราะเราเชื่อว่าท้ายสุดแล้ว ต่อให้ลูกค้ามีประกันความเสี่ยงแต่ก็คงไม่อยากให้ทรัพย์สินของตัวเองต้องเสียหาย เพราะทำให้ธุรกิจต้องหยุดชะงักได้”
นายโอฬาร กล่าวต่อไปว่า อีกประเด็นที่เป็นความท้าทายของภาคธุรกิจประกันวินาศภัยคือ เคลมสินไหมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประกันสุขภาพ เป็นผลมาจากค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น ซึ่งมาจากหลายปัจจัยทั้งนวัตกรรมการรักษาใหม่ๆ ความเชี่ยวชาญของโรคเฉพาะด้าน การให้บริการต่างๆ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ค่ารักษาพยาบาลปรับตัวเพิ่มขึ้นเร็ว ด้วยตัวเลขอัตราเงินเฟ้อค่ารักษาพยาบาลไทยปรับขึ้นราว 8-10% ต่อปี
ซึ่งในส่วนของประกันสุขภาพ ที่จะมีการนำระบบส่วนร่วมจ่ายค่ารักษา (Co-Payment)มาใช้ก็เพื่อไม่ให้อัตราเบี้ยประกันเพิ่มสูงขึ้นจนคนทั่วไปเข้าไม่ถึง เพราะเมื่อมีระบบ Co-Paymentอัตราเบี้ยประกันก็จะปรับตัวลง
นายโอฬาร ยังกล่าวถึง ภาพรวมประกันวินาศภัยปี 2567 มีการเติบโตน้อยมากที่ประมาณ 0.4% คาดเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ราว 187,000 ล้านบาท ขณะที่เบี้ยประกันภัยต่อ 8 เดือนการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 3% ส่วนเบี้ยประกันภัยต่อครึ่งปีแรก อยู่ที่ประมาณ 43,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ภาพรวม 8 เดือน เติบโตที่ 0.4% นั้นเพราะว่า ภาพเศรษฐกิจไม่ได้มีการเติบโตมาก GDP โตอยู่แค่ 1% กว่า เลยทำให้อัตราเบี้ยประกันภัยต่อเติบโตไม่มาก ในขณะที่ตลาดประกันภัยรถยนต์ไม่ได้เติบโตไปจากเดิม ทำให้เบี้ยประกันภัยโดยรวมไม่เติบโต ทั้งนี้ที่ไม่โต เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจ ที่ไม่เติบโต ประกอบกับธนาคารมีการชะลอ การปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มรถยนต์น้อยลง ส่งผลให้ธุรกิจประกันภัยรถยนต์ไม่เติบโต ส่วนเบี้ยประกันภัยพร๊อพเพอร์ตี้ มีการเติบโต เป็นผลมาจาก เบี้ยประกันภัยต่อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
ถึงสิ้นปี 2567 ภาพรวมอุตสาหกรรม คาดว่าน่าจะเติบโตที่ประมาณ 0.5 – 1% ปัจจัยที่ส่งผลให้เติบโต เช่นการประกันภัยข้าวนาปี จะส่งให้การเติบโตขึ้น ส่วนตัวอื่นๆ โดยภาพรวมไม่ได้มีการเติบโตมากขึ้นสักเท่าไร อาจจะทรงๆ อยู่ประมาณเท่านี้ ตลาดรถยนต์หากมีการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ยอดขายดีขึ้น ก็อาจจะมีโอกาสในการเติบโตมากขึ้น