รีเซต

เจาะสมรภูมิปะทะเดือดจีน-อินเดียบนเทือกเขาหิมาลัย

เจาะสมรภูมิปะทะเดือดจีน-อินเดียบนเทือกเขาหิมาลัย
TNN ช่อง16
18 มิถุนายน 2563 ( 11:30 )
464
เจาะสมรภูมิปะทะเดือดจีน-อินเดียบนเทือกเขาหิมาลัย

วันนี้( 18 มิ.ย.63) ทหารจีนและอินเดียปะทะกันในบริเวณหุบเขากัลวานใกล้อักไสชิน พื้นที่พิพาทบนเทือกเขาหิมาลัย พื้นที่เหล่านี้มีความสำคัญอย่างไรและลักษณะภูมิประเทศเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความสูญเสียมากเมื่อมีการปะทะกันได้อย่างไรไปดูกัน

 

หุบเขากัลวาน จุดปะทะระหว่างทหารอินเดียและจีน อยู่ในบริเวณที่เรียกว่าแนวเส้นแบ่งเขตควบคุมตามความเป็นจริง หรือ Line of Actual Control (LAC) ระหว่างสองประเทศ ขณะที่อินเดียและจีนมีพรมแดนติดกันความยาวกว่า 3,440 กิโลเมตร

 

หุบเขากัลวานนั้นมีสภาพอากาศที่รุนแรงและตั้งอยู่บนพื้นที่อัลทิจูดสูงไม่เหมาะกับการอยู่อาศั และยังอยู่ใกล้ “อักไสชิน” ซึ่งเป็นดินแดนที่จีนและอินเดียอ้างสิทธิครอบครอง แต่ในปัจจุบันจีนครอบครองพื้นที่นี้อยู่

 


จีนอ้างว่าอักไสชินนั้นเป็นส่วนหนึ่งของซินเจียง ส่วนอินเดียอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของลาดักห์

 

ภูมิภาคดังกล่าว ไม่เหมาะสมกับการอาศัยเพราะหนาวจัดแม้กระทั่งในฤดูร้อน นอกจากนี้ยังตั้งอยู่ในเทือกเขาหิมาลัยที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลราว 4,200 เมตรหรือเกือบสองเท่าที่ความสูงที่จะทำให้เกิดโรคแพ้ความสูงได้ นั่นจึงหมายความว่า มนุษย์ที่จะทนต่อสภาพรุนแรงของพื้นที่นี้ได้ต้องผ่านการฝึกฝนเรื่องการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศดังกล่าวมาก่อน

 

Neville Maxwell นักประวัติศาสตร์ของอังกฤษเคยให้คำนิยามพื้นที่บริเวณนี้ว่า "no-man's land ที่ที่ไม่มีอะไรเติบโตได้เลย และไม่มีใครอาศัยอยู่ แต่แม้จะไม่สามารถอาศัยได้ อินเดียและจีนต่างอ้างสิทธิครอบครองทั้งคู่

 


- สองชาติมีข้อพิพาทอะไร

Line of Actual Control คือกำหนดเขตแดนแบบหลวมๆหลังสงครามระหว่างอินเดียและจีนเมื่อปี 1962 แต่นำไปสู่กรณีพิพาทกันจนถึงปัจจุบัน 

 

แมกซ์เวลล์อธิบายในหนังสือ "India's China War" ของเขาว่า อธิปไตยเหนืออักไสชินนั้นเป็นเรื่องน่าสับสน  

 

ตั้งแต่ในอดีตช่วงยุคปี 1800s เทือกเขาหิมาลัยนั้นเป็นจุดสนใจของสามอาณาจักร คือรัสเซีย อังกฤษ และจีน ทั้งสามต่างอ้างสิทธิครอบครองพื้นที่ จนกระทั่งมาสู่ยุคอาณานิคมจึงเกิดความซับซ้อนเรื่องการอ้างสิทธิ หลังปากีสถานแยกตัวออกจากอินเดียและมีการแบ่งแยกแคว้นแคชเมียร์กัน แต่ในฝั่งพรมแดนระหว่างจีนและอินเดียนั้นกลับมีการกำหนดกันคร่าวๆเท่านั้น

-พื้นที่นี้สำคัญอย่างไร?

Harsh V. Pant ผู้เชี่ยวชาญจาก King's College, London ระบุว่า ต้นกำเนิดของวิกฤตรอบใหม่นี้มีสัญญาณให้เห็นตั้งแต่ปีที่แล้วเพราะอินเดียได้ประกาศยกเลิกกฎหมาย ที่ให้สถานะพิเศษในการปกครองตนเองแก่แคว้นแคชเมียร์ และทยอยเข้ามาสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆในพื้นที่จึงทำให้จีนเริ่มกังวลว่า อินเดียจะทำให้แผนของจีนยุ่งยาก ซึ่งแต่เดิมคนที่มักไปสร้างโครงสร้างพื้นฐานมักมีแต่ฝั่งจีน แต่ตอนนี้อินเดียได้เร่งดำเนินการตลอดแนวชายแดนของตนเองแล้ว

 

ซึ่งการเสริมโครงสร้างพื้นฐานของอินเดียเช่นนี้ ส่งผลกระทบต่อยุทธศาสตร์ของจีนในเอเชียกลาง และจีนได้ลงทุนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจกับปากีสถานไปมากกว่าหกหมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นโครงการสำคัญของแผนการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน


นอกจากนี้ เมื่อปีที่แล้วอินเดียได้สร้างถนนสายใหม่ที่ใกล้กับ Line of Actual Control (LAC) โดยถนนสายนี้มีจุดประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่กองทัพของอินเดียในการเติมเสบียงและกำลังพลได้ง่ายขึ้น จาก Daulat Beg Oldi ซึ่งเป็นฐานทัพอากาศอินเดีย ซึ่งขึ้นชื่อว่าตั้งอยู่ในที่สูงที่สุดในโลก

สำนักข่าวอัลจาซีรารายงานว่า ถนนสายนี้มีความยาว 255 กิโลเมตร เชื่อมเมืองเลห์ เมืองเอกของลาดักห์ไปยังด่าน “คาราโคราม” ซึ่งอยู่ใกล้กับหุบเขากัลวาน ในขณะที่ระเบียงเศรษฐกิจระหว่างจีน-ปากีสถาน และเอเชียกลาง ต้องผ่านด่านคาราโคราม 

ผู้เชี่ยวชาญระบุกับซีเอ็นเอ็นว่า จีนมีปฏิกิริยาเชิงรุกมากขึ้นเพื่อตอบโต้การสร้างถนนเส้นนี้ของอินเดีบ เพราะจีนมองว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสถานะปัจจุบันของ LACมีรายงานว่าเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กองทัพจีนได้ไปตั้งเต้นท์ ขุดสนามเพลาะ และย้ายอุปกรณ์หนักเข้าไปในพื้นที่ที่อินเดียอ้างว่าเป็นของอินเดียด้วย

- สงครามในหุบเขากัลวานเกิดขึ้นได้หรือไม่

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า สงครามในพื้นที่ดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ยากมาก ด้วยหลายปัจจัย

สภาพอากาศอันหนาวเหน็บในฤดูหนาวและหิมะตกหนัก ทำให้หุบเขากัลวานนั้นเข้าถึงยาก หมายความว่า การจัดทัพเพื่อทำศึกเต็มรูปแบบนั้นมีโอกาสทำได้น้อยหรือแม้กระทั่งในหน้าร้อนที่อากาศดีขึ้นก็ตาม ยังมีปัจจัยเรื่องระดับความสูง จึงยากต่อการพัฒนาเป็นความขัดแย้งทางการทหารเต็มรูปแบบ

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ทั้งกองทัพอินเดียและจีนตระหนักดีว่า ความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 4000 เมตรนั้นเปลี่ยน “หลักการทำสงครามในเกือบทุกมุม” เพราะที่ระดับความสูง 2,400 เมตร ทหารก็ต้องใช้เวลาหลายวันในการปรับตัวให้ชินกับระดับความสูงก่อน การขึ้นเขาไปอย่างรวดเร็วจะทำให้เกิดสถานการณ์ที่เลวร้ายมากสำหรับทหารและเคยเกิดความสูญเสียครั้งใหญ่แล้ว ในสงครามระหว่างสองฝ่ายเมื่อปี 1962 เพราะทหารอินเดียขึ้นไปสู่ที่สูงโดยไม่ได้ปรับร่างกายให้คุ้นชินจึงทำให้ทหารหนุ่มที่แข็งแรงราว 15% มีภาวะปอดบวมน้ำจากการอยู่ในพื้นที่สูง และนำไปสู่การเสียชีวิตได้อย่างเร็วสุดภายใน 12 ชั่วโมงเท่านั้น


นอกจากนี้ยังมีสาเหตุการเสียชีวิตหลักๆที่พบในภูมิภาคนี้ที่ระดับของสูงดังกล่าว คือ frost bite หรือภาวะผิวหนังถูกทำลายจากความเย็นจัดและ ภาวะสมองบวมจากการแพ้พื้นที่สูง ซึ่งที่ความสูงระดับดังกล่าว ทุกอย่างเป็นอุปสรรคหมดไม่ว่าจะเป็นการติดเครื่องที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง การบินและการเติมเสบียงไปจนถึงแม้กระทั่งการยิงในสภาพอากาศที่เบาบาง

สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า ในครั้งนี้สื่อหลายสำนักรายงานว่า กองทัพของทั้งสองฝ่ายปะทะกันที่ความสูงเกือบ 4,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลและยังมีรายงานว่าทหารบางรายตกจากที่ลาดชันอย่างรวดเร็ว ลงไปในแม่น้ำกัลวานที่ไหลเชี่ยว และมีอุณหภูมิต่ำกว่าศูนย์องศาเซลเซียสด้วย

ขณะที่กองทัพอินเดียยืนยันว่า ทหาร 17 นายที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการปะทะและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสภาพพื้นที่อัลทิจูดสูงและอุณหภูมิที่ติดลบ จึงทำให้พวกเขาทนพิษบาดแผลไม่ไหวอีกทั้งไม่สามารถเอาชีวิตรอดจากความหนาวเหน็บในยามค่ำคืนได้นั่นเอง


 

 

 

เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
facebook live : TNN Live
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNThailand
Instagram : @tnn_online

ข่าวที่เกี่ยวข้อง