"เลขาฯเม้ง" ปลื้ม นโยบายกัญชาคืบหน้าเป็นรูปธรรม หลัง "อนุทิน" ผลักดันเต็มที่
เมื่อวันที่ 28 มีนาคม นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(นายอนุทิน ชาญวีรกูล) กล่าวถึงความคืบหน้าในการผลักดันให้กัญชา และกัญชง เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ว่า
ความสำคัญของนโยบายนี้ คือ เป็นสิ่งที่นายอนุทิน หาเสียงไว้ในช่วงของการเลือกตั้ง เมื่อมาเป็นรัฐบาล นโยบาย ก็ต้องเดินหน้า และต้องทำให้เกิดรูปธรรมสูงสุด ที่ผ่านมา มีอุปสรรคมากมายทั้งในแง่ของกฎหมาย และการยอมรับจากสังคม เพราะอย่าลืมว่ากัญชา อยู่ในสถานะของการเป็นยาเสพติดมาหลายสิบปี แม้จะมีประโยชน์ และมีการยอมรับทางวิทยาศาสตร์ถึงประโยชน์นั้น แต่การนำมาใช้ ก็ยังมีการตั้งคำถามจากหลายภาคส่วนดังนั้นการขับเคลื่อนนโยบายจึงต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ระมัดระวัง
ท่านรองฯอนุทิน เริ่มต้นจากการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ เปิดคลินิกกัญชาทั่วประเทศ และได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีได้รับความนิยมจากประชาชน ปัจจุบันนี้น้ำมันและสารสกัดจากกัญชาที่กระจายไปให้บริการประชาชนนั้น พิสูจน์แล้วว่าสามารถใช้รักษาโรคได้จริง มาขวบปีล่าสุด ทางกระทรวงฯ กำลังผลักดันให้กัญชา กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ เป็นตัวเลือก เพื่อสร้างรายได้ให้กับประชาชน ซึ่งกฎหมาย ได้คลายล็อกไปมาก และประชาชนสามารถปลูก จำหน่าย และนำวัตถุดิบไปใช้ได้ เพียงแต่ต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย ซึ่งในทางปฏิบัติ มีประชาชนเดินหน้าทำเรื่องนี้ทั่วประเทศ
สังเกตุได้ว่า กัญชากำลังเป็นเทรนด์ใหม่ ผู้ประกอบการจำนวนมาก นำกัญชาไปผสมในอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอางค์ และประชาชนทุกคนสามารถทำได้ แต่ต้องศึกษาวิธี ทำให้ถูกกฎหมาย
เบื้องต้นการปลูก ประชาชนต้องไปจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน แล้วร่วมมือกับสถานพยาบาล อาทิ รพ.สต.เป็นต้น ภายใต้เงื่อนไขว่า ชาวบ้านปลูก แล้วให้ รพ.สต.นำไปผลิตเป็นยา กลับมารักษาคนไทย รายละเอียดสามารถไปสอบถามกับ อย.หรือทาง สสจ.ได้ ท่านรัฐมนตรีกำชับว่า ทางภาครัฐจะต้องอำนวยความสะดวก ต้องทำให้กัญชา กัญชง เป็นโอกาสของประชาชนให้ได้
ทั้งนี้ ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นการคลายล็อกให้นำส่วนต่างๆ ของกัญชา กัญชง ได้แก่ เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก ใบซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย สารสกัดที่มีสารแคนนาบิไดออลเป็นส่วนประกอบและต้องมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก กากหรือเศษที่เหลือจากการสกัดกัญชาและต้องมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอลไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือสารสกัดจากเมล็ดกัญชง กากหรือเศษที่เหลือจากการสกัดกัญชงและต้องมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอลไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก มาผสมเป็นวัตถุดิบ เพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ และแหล่งที่มาของวัตถุดิบ ต้องถูกต้องตามกฎหมาย รายละเอียดสามารถสืบหาได้จากเว็บไซต์ของ อย.
ตรงนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าสำคัญ เพราะร้านค้าจำนวนมาก ได้นำกัญชาไปใส่ในสินค้าของตัวเอง โดยได้รับความนิยมจากประชาชน
“ท่านรัฐมนตรีฯ ย้ำเสมอว่านโยบายกัญชานั้นยาก แต่ต้องทำ และต้องทำให้เกิดเป็นรูปธรรม มาถึงวันนี้ เมื่อนโยบายจับต้องได้ มีร้านอาหารกัญชา ร้านน้ำกัญชา เครื่องสำอางค์ที่มีส่วนผสมจากกัญชาเกิดขึ้น ก็ถือว่านโยบายมีความเป็นรูปธรรม แต่ทางกระทรวงฯ วางเป้าจะคลายล็อกมากขึ้น และพร้อมจะสนับสนุนประชาชนในการผลิต สร้างรายได้ เพื่อให้กัญชา กัญชง เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่อย่างยั่งยืน”