'ธปท.'ชี้เศรษฐกิจพ.ค.หดตัวสูงต่อเนื่อง พร้อมหนุนรัฐใช้งบ 4 แสนล้านเน้นสร้างงาน
‘ธปท.’ชี้เศรษฐกิจพ.ค.หดตัวสูงต่อเนื่อง พร้อมหนุนรัฐใช้งบ 4 แสนล้าน เน้นสร้างงาน
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคม 2563 ยังหดตัวสูงต่อเนื่อง จากอุปสงค์ต่างประเทศ ทั้งภาคการท่องเที่ยวที่หดตัวจากการจำกัดการเดินทาง ส่งออกสินค้าหดตัว ลบ23.6% และถ้าตัดการส่งออกทองคำออกจะหดตัวสูงถึง ลบ 29% ส่วนการลงทุนและการผลิตภาคเอกชนหดตัว แต่การใช้จ่ายภาครัฐยังขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการเยียวยา ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนหดตัวลดลง
นายดอน กล่าวว่า มองว่าปัจจัยที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้ คือเรื่องการจ้างงานที่ในเดือนพฤษภาคม มีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น 3.3 แสนคน มีการเลิกจ้างงาน 1.1 แสนคน แม้รัฐจะมีการผ่อนคลายมาตรการในช่วงเดือนพฤษภาคม แต่ชั่วโมงการทำงานที่หายไปยังไม่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าตัวเลขการว่างงานในไตรมาส 2-3/2563 จะสูงขึ้น และจะเริ่มมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาส 4/2563
“ในส่วนของการใช้งบฟื้นฟู 4 แสนล้านบาท จากการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท จากการติดตามข้อมูลจากทางสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่คาดว่ารัฐบาลจะเน้นไปในเรื่องของการจ้างงาน เพราะตลาดแรงงานยังเปราะบาง ในช่วงแรกอาจจะต้องตัดงบการสร้างถนนมาใช้ก่อน ซึ่งผมเห็นด้วยกับการนำวงเงินกู้มาใช้ในเรื่องที่สำคัญและถูกจุดประสงค์” นายดอนกล่าว
นายดอน กล่าวว่า ทั้งนี้ จากการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/2563 จะขยายต่ำที่สุดในปีนี้ โดย ธปท.คาดว่า จะหดตัวในระดับ 2 หลัก หรือมากกว่า ลบ10% แต่ไม่เกิน ลบ20% และคาดว่าทั้งปีจะหดตัว ลบ8.1 ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดการณ์ไว้ และคาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 3/2563 เป็นต้นไป
สำหรับ ความเสี่ยงในช่วงครึ่งปีหลัง มองว่ามีปัจจัยเสี่ยงหลัก 3 เรื่อง คือ ความกังวลในเรื่องของการระบาดของโควิด-19 รอบที่ 2 ที่จะส่งผลให้หลายประเทศต้องมีการชัตดาวน์ประเทศ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโลกแย่ลง, สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และเสถียรภาพระบบการเงินของโลก ที่ในหลายประเทศ ตราสารหนี้เอกชน เริ่มมีการผิดนัดชำระหนี้