รีเซต

Universal Prevention คืออะไร?

Universal Prevention คืออะไร?
TeaC
19 สิงหาคม 2564 ( 12:04 )
863

Universal Prevention คืออะไร? ครอบจักวาลขนาดไหน? วันนี้ TrueID จะพาไปดูวิธีปฏิบัติป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวขอให้ประชาชนทุกคนร่วมมือยกระดับการป้องกันตัวเองด้วยหลักการดังกล่าว

 

สำหรับ Universal Prevention หรือเรียกว่า "การป้องกันโรคขั้นสูงสุด ที่ครอบคลุมทุกคน ในการดำเนินชีวิตทุกเรื่องที่อาจเกิดความเสี่ยง" โดยมีแนวปฏิบัติทั้งหมด 10 ข้อด้วยกัน นั่นคือ

 

1. ออกจากบ้านเมื่อจําเป็นเท่านั้น

 

2. เว้นระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร ในทุกสถานที่

 

3. สวมหน้ากากอนามัยและทับด้วยหน้ากากผ้าตลอดเวลาทั้งเมื่ออยู่นอกบ้านและในบ้านที่มีคนมากกว่า 2 คน โดยเฉพาะเมื่ออยู่ใกล้ผู้สูงอายุหรือกลุ่มเสี่ยง

 

4. ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง ก่อนรับประทานอาหาร หลังใช้ห้องน้ำ หรือหลังจากไอจาม หรือหลังสัมผัสวัตถุหรือสิ่งของที่ใช้ร่วมกัน ต้องคิดว่าทุกสิ่งอย่างมีคนอื่นที่ติดเชื้อสัมผัส หรืออาจสัมผัสมาแล้วทั้งนั้น

 

5. หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัส หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าที่สวมใส่อยู่ รวมทั้งใบหน้า ตา ปาก จมูก โดยไม่จําเป็น

 
6. ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปี และเป็นผู้มีโรคเรื้อรังให้เลี่ยงการออกนอกบ้าน หากจําเป็นจริงๆให้ใช้ระยะเวลาสั้นที่สุด
 
7. ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อพื้นผิวที่ถูกสัมผัสบ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้หรือสิ่งแวดล้อมด้านกายภาพ
 
8. แยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิด ไม่ควรใช้ของร่วมกับผู้อื่น
 
9. เลือกทานอาหารที่ร้อนหรือปรุงสุกใหม่ ๆ ควรทานอาหารแยกชุด หรือหากทานอาหารร่วมกันให้ใช้ช้อนกลางส่วนตัวด้วย
 
10. หากสงสัยว่า ตนเองมีความเสี่ยง เช่น สัมผัสผู้ที่อาจมีการติดเชื้อ ไปในสถานที่ที่มีความเสี่ยง หรือมีอาการ ควรได้รับการตรวจด้วย Antigen Test Kit (ATK) เพื่อยืนยันว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ หรือให้ไปรับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน
 
 
"เราต้องคิดเสมือนว่า ทุกคนที่เราพบปะมีโอกาสเป็นผู้ติดเชื้อได้ทั้งสิ้น และทางการแพทย์ได้พิสูจน์แล้วว่าโควิดนั้นติดกันทางอากาศได้เมื่ออยู่ใกล้กัน การอยู่ใกล้ผู้อื่นโดยไม่มีสิ่งป้องกันจึงเป็นความเสี่ยงต่อการติดโรคได้ตลอดเวลา ผมจึงขอให้ทุกท่านได้ยึดหลักการ Universal Prevention อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ยังมีความเสี่ยงสูงในขณะนี้" 
 
 
 
​ซึ่งต้องยอมรับว่า สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ของประเทศไทยนั้น หลังจากเริ่มมาตรการล็อกดาวน์มาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม แม้ว่าจะมียอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันอยู่มากกว่า 20,000 คน แต่เริ่มจะเห็นสัญญาณของการชะลอตัว และมีสัญญาณของผู้ป่วยที่หายดีมากกว่าผู้ติดเชื้อรายวัน
 
 
 
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ตัวเลขของผู้เสียชีวิต ที่แม้ว่าเราจะมีจำนวนผู้เสียชีวิตที่ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของทั่วโลก แต่ก็ยังมีบางวันที่ยังขึ้นสูงอยู่ และเราทุกคนไม่อยากให้มีใครเสียชีวิตแม้แต่คนเดียว ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขได้วิเคราะห์ว่า หากเราสามารถที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของการล็อกดาวน์ได้มากกว่านี้ ก็จะสามารถลดยอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตได้มากขึ้น ที่ประชุม ศบค. จึงมีมติให้ขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการออกไปจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม ซึ่งหากเราสามารถควบคุมการล็อกดาวน์ได้ดีขึ้นกว่านี้ อาจจะสามารถผ่านจุดสูงสุดของยอดการติดเชื้อได้ภายในสิ้นเดือนนี้ และเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องได้ในต้นเดือนกันยายน ซึ่งจะทำให้เราสามารถปรับมาตรการการควบคุมและผ่อนคลายกิจการและกิจกรรมบางอย่างได้ 
 
 

 
 
 
และนี่คือหลักการ Universal Prevention จากนายกรัฐมนตรีของไทยที่ขอความร่วมมือจากประชาชนอย่างเรา ๆ ในการป้องกันขั้นสูงอย่างเข้มงวดและร่วมฝ่ามหันตภัยโควิด-19 ไปด้วยกันนะจ๊ะ
 
 
 
 
 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง