รีเซต

ศาสนสถาน 2,997 แห่ง ประเมินโควิดผ่านเกณฑ์ 2,797 แห่ง ไม่ผ่าน 201 แห่ง

ศาสนสถาน 2,997 แห่ง ประเมินโควิดผ่านเกณฑ์ 2,797 แห่ง ไม่ผ่าน 201 แห่ง
มติชน
13 กุมภาพันธ์ 2565 ( 15:54 )
49

​วันนี้ (13 กุมภาพันธ์ 2565) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในสถานประกอบการประเภทต่างๆ และจากการรวมกลุ่มคนจำนวนมากในงานบุญ หรืองานพิธีกรรมทางศาสนา โดยเฉพาะในช่วงวันมาฆบูชาที่จะถึงนี้ คาดว่าจะมีประชาชนเข้าวัดทำบุญ เวียนเทียน เป็นจำนวนมาก จึงขอความร่วมมือศาสนสถานต่างๆ ประเมินสถานที่ผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop COVID 2 Plus ด้วยหลัก COVID Free Setting

 

ซึ่งประกอบด้วยมาตรการ 3 ด้าน คือ 1.มาตรการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม (COVID Free Environment) 2. มาตรการสำหรับผู้นำทางศาสนา ผู้ประกอบพิธีกรรม และเจ้าหน้าที่ (COVID Free Personnel) และ 3.มาตรการสำหรับผู้มาเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนา (COVID Free Customer) เพื่อสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้กับประชาชน ซึ่งขณะนี้มีศาสนสถานที่ประเมินแล้ว จำนวน 2,997 แห่ง ผ่านเกณฑ์ 2,797 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 93.30 ไม่ผ่านเกณฑ์ 201 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 6.70

 

​นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า จากผลการประเมินพบว่า มาตรการส่วนใหญ่ที่ศาสนสถานไม่ผ่านเกณฑ์ ได้แก่ 1.เลือกวิธีทำบุญ ผ่านแอพพลิเคชั่น/ผ่านระบบบริจาค e-Donation เพื่อลดการสัมผัส คิดเป็นร้อยละ 8.58 2. มีช่องทางการทำบุญออนไลน์ เพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสสิ่งของและลดผู้เข้าร่วมในพิธีกรรมทางศาสนา คิดเป็นร้อยละ 3.20 และ 3.ผู้นำทางศาสนา ผู้ประกอบพิธีกรรม และเจ้าหน้าที่ ควรได้รับการฉีดวัคซีน ครบตามเกณฑ์ที่ สธ.กำหนดแล้วเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน คิดเป็นร้อยละ 2.47 จึงต้องเน้นย้ำให้ศาสนสถานที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์บางข้อ ได้ปรับปรุงและพัฒนาให้ผ่านเกณฑ์เพิ่มมากขึ้น

 

​”ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมในวันมาฆบูชาต้องเป็นไปตามมาตรการ COVID Free Setting โดยจัดให้มีจุดคัดกรอง ผู้เข้ามาใช้บริการ กำหนดระยะห่างระหว่างบุคคล โดยเฉพาะช่วงฟังเทศนาธรรม ทำบุญถวายสังฆทาน พิธีเวียนเทียน มีการจัดอาหารแบบแยกชุด รวมถึงการดูแลความสะอาดของสถานที่ และให้เปิดโล่ง เพื่อการระบายอากาศที่ดี ส่วนประชาชนที่ร่วมงาน และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ต้องป้องกันตนเองขั้นสูงสุดด้วยหลัก UP–DMHTA พร้อมทั้งคัดกรองความเสี่ยงตนเองทุกวันผ่านระบบ “ไทยเซฟไทย” หากมีไข้ ไอ หรือมาจากพื้นที่เสี่ยง ควรงดออกจากบ้าน เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 สำหรับกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็ก คนท้อง ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว แนะนำให้หลีกเลี่ยงการทำบุญที่วัด ให้ทำบุญผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ เช่น ทำบุญ ผ่านคิวอาร์ โค้ด (e-Donation) และเปลี่ยนเป็นการเวียนเทียนออนไลน์แทน ก็เป็นการสั่งสมบุญ และสร้างความสุขทางใจได้เช่นเดียวกัน” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง