รีเซต

อว. ชู 'เครื่องผสมน้ำกรดฟอร์มิกผลิตยางก้อนถ้วย' ลดสัมผัสสารเคมี

อว. ชู 'เครื่องผสมน้ำกรดฟอร์มิกผลิตยางก้อนถ้วย' ลดสัมผัสสารเคมี
ข่าวสด
16 มีนาคม 2565 ( 13:48 )
52
อว. ชู 'เครื่องผสมน้ำกรดฟอร์มิกผลิตยางก้อนถ้วย' ลดสัมผัสสารเคมี

เมื่อวันที่ 16 มี.ค. น.ส.สุณีย์ เลิศเพียรธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) พร้อม น.ส.ทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ผอ.กลุ่มอุทยานวิทยาศาสตร์ภายใต้กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(กปว.) สำนักงานปลัด อว.ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคในการยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจท้องถิ่น และการสร้างกำลังคนและทักษะแห่งอนาคตในภูมิภาค ในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ชมโครงการการถ่ายทอดเทคโนโลยีเครื่องผสมน้ำกรดฟอร์มิกเพื่อการผลิตยางก้อนถ้วยกลุ่มวิสาหกิจ ชุมชนยางพาราบ้านโนนแคนที่ ต.ตบหู อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี ที่ดำเนินการโดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

 

 

โครงการดังกล่าวได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งกำกับดูแลโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.) เพื่อนำเทคโนโลยีไปแก้ปัญหาสําคัญของชาวสวนยาง ในเรื่องการใช้กรดสําหรับการทํายางก้อนถ้วย ซึ่งโดยทั่วไปกรดที่นิยมใช้ในการทํายางก้อนถ้วยคือกรดซัลฟิวริก และกรดฟอร์มิก โดยกรดฟอร์มิกเป็นกรดอินทรีย์ มีความปลอดภัยมากกว่ากรดซัลฟิวริก ไม่ทําลายสิ่งแวดล้อม และยังให้คุณภาพยางก้อนถ้วยที่ดีกว่า แต่เกษตรชาวสวนยางในภาคอีสานก็ยังนิยมใช้กรดซัลฟิวริกในการผลิตมากกว่า ถึงแม้ว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อคุณภาพก้อนยาง และต่อสุขภาพของเกษตรกรเองก็ตาม สาเหตุที่เกษตรกรไม่นิยมใช้กรดฟอร์มิกเนื่องจากความยุ่งยากในการใช้งานเพราะต้องมีขั้นตอนการเจือจางกรดตามสัดส่วน ซึ่งเกษตรกรไม่มีความคุ้นเคยและขาดอุปกรณ์ที่เหมาะสม

 

 

นายอนุพงษ์ รัฐิรมย์ และคณะ จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงได้วิจัยและพัฒนาเครื่องผสมน้ำกรดฟอร์มิกเพื่อการผลิตยางก้อนถ้วย เป็นเครื่องแบบอัตโนมัติ โดยอาศัยหลักการเจือจาง น้ำกรดด้วยปั๊มลมดูดมาผสมกับน้ำ มีการควบคุมอัตราส่วนผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ให้เกษตรกรได้น้ำกรดที่มีคุณภาพในการผลิตยางก้อนถ้วย เกษตรกรลดการสัมผัสสารเคมี และได้ยางก้อนถ้วยมีคุณภาพมาตรฐานเดียวกัน และได้นําผลงานไปถ่ายทอดให้แก่วิสาหกิจชุมชุนยางพาราบ้านโนนแคน ต.ตบหู อ.เดชอุดม จ. อุบลราชธานี ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 80 ราย โดยวิสาหกิจได้ใช้เครื่องนี้เป็นอุปกรณ์ส่วนกลางเพื่อผลิตกรดฟอร์มิกจําหน่ายให้แก่สมาชิกในราคาถูก ส่งผลให้สมาชิกมีความสะดวก และได้กรดคุณภาพดี ปลอดภัย และไม่ ทําลายสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังสามารถผลิตยางก้อนถ้วยที่มีคุณภาพดีขึ้นอีกด้วย

 

 

“โครงการดังกล่าวนับว่าตอบโจทย์ชุมชนเป้าหมายอย่างมาก เนื่องจากเป็นการจัดการปัญหาหลัก (Pain Point) ของชุมชนอย่างตรงจุด จนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกษตรกรเลิกใช้กรดซัลฟิวริก และหันมาใช้กรดฟอร์มิกได้อย่างถาวร นอกจากนี้เครื่องยังกล่าวยังได้รับความสนใจ และถูกนําไปขยายผลติดตั้งเพิ่มเติมในชุมชนชาวสวนยางอีกกว่า 20 แห่ง นับว่าประสบความสําเร็จ และถือว่าเป็นการนำเอาเทคโนโลยีไปสู่การพัฒนาชุมชนได้อย่างอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังเกิดวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการตัดตั้งและซ่อมบำรุงเครื่องดังกล่าวเกิดขึ้นอีกด้วย” น.ส.สุนีย์ กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง