รีเซต

ครม.ทุ่ม 9 พันล้าน โครงการพลังสิบ ปั้นเด็กวิทย์-คณิต เพิ่มขีดความสามารถ ปท. ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ครม.ทุ่ม 9 พันล้าน โครงการพลังสิบ ปั้นเด็กวิทย์-คณิต เพิ่มขีดความสามารถ ปท. ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
มติชน
15 กุมภาพันธ์ 2564 ( 16:08 )
98

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า เห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินโครงการพลังสิบ เป็นเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564-2573 พร้อมอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายของโครงการพลังสิบเป็นจำนวน 9,619.88 ล้านบาท

 

เพื่อพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพผู้เรียน ตลอดจนเป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้เรียนที่มีความสนใจพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ในทุกพื้นที่ นำไปสู่การสร้างและพัฒนาบุคคลให้เป็นกำลังสำคัญในด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

 

นอกจากนี้ ยังให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ปรับแผนค่าใช้จ่ายงบประมาณประจำปี2564 สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการเตรียมการด้านบุคลากรและการพัฒนาโรงเรียนที่จะเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการดำเนินงานของโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ

 

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับโครงการพลังสิบนั้น เกิดจากความร่วมมือระหว่างสพฐ. สถาบันส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์และเครือข่ายมหาวิทยาลัยในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)ร่วมกันจัดทำขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสมรรถนะนักเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ผ่านกระบวนการของหลักสูตรและเครือข่ายการพัฒนาศักยภาพ มหาวิทยาลัย โรงเรียน ครูผู้สอน และนักเรียน

 

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ส่วนเป้าหมายของโครงการพลังสิบมีดังนี้คือ หลักสูตรวิทยาศาสตร์พลังสิบมีมาตรฐานและคุณภาพ สามารถเป็นต้นแบบในการจัดการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยปรับรายวิชาเพิ่มเติมเน้นสมรรถนะผู้เรียนเป็นฐาน เพื่อเน้นบูรณาการความรู้ ลดความซ้ำซ้อนในการจัดรายวิชา เน้นทักษะกระบวนการแสวงหาความรู้และสร้างกระบวนการคิดได้ด้วยตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านกิจกรรมส่งเสริมทักษะการคิดแก้ปัญหา และการคิดอย่างสร้างสรรค์

 

ทั้งนี้ มีเป้าหมายที่จะพัฒนาโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการให้มีคุณภาพ และมีศักยภาพเป็นโรงเรียนศูนย์ฝึกอบรมจำนวน 200 โรงเรียน แบ่งเป็นระดับประถมศึกษา 100 โรงเรียน และระดับมัธยมศึกษา 100 โรงเรียน เพื่อให้บริการทางวิชาการแก่โรงเรียนเครือข่ายอีกจำนวน 2,000 โรงเรียน หรืออัตราส่วน 1:10 รวมจำนวนโรงเรียนในโครงการทั้งสิ้น 2,200 โรงเรียน และพัฒนาครูในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการมากกว่า 10,000 คนต่อปี พัฒนานักเรียนที่มีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี อย่างเต็มศักยภาพมากกว่า 100,000 คนต่อปี นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา ครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ได้ฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูในโรงเรียนที่ร่วมโครงการด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง