เลื่อนเซ็นท่ออีอีซี คำชี้แจง‘ธนารักษ์’
โครงการบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก หรือ โครงการท่อส่งน้ำอีอีซี ใกล้หมดสัญญา 30 ปี ช่วงระยะเวลาตั้งแต่ 1 มกราคม 2537-31 ธันวาคม 2567
กรมธนารักษ์ในฐานะเจ้าของโครงการ ต้องเริ่มทำการเปิดประมูล และคัดเลือกผู้รับจ้างรายใหม่ตามกฎหมาย จะต้องลงนามสัญญาฉบับต่อไป ในเวลา 3 ปี ก่อนที่จะหมดระยะเวลาเดิม
ที่ผ่านมากรมธนารักษ์ได้เปิดประมูล 2 ครั้ง ครั้งแรก บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก หรือ อีสท์วอเตอร์ ได้เสนอศักยภาพในการส่งน้ำอยู่ที่ 350 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี รวมถึงท่อในส่วนของอีสท์วอเตอร์เองด้วย
ขณะที่บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ได้เสนอเทคนิคอยู่ภายในกรอบ 150 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
เมื่อพิจารณาผลตอบแทนที่รัฐจะได้ พบว่า อีสท์วอเตอร์ เสนอให้รัฐประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท ขณะที่อีกบริษัทเสนอให้รัฐ 6,000 ล้านบาท
แต่ด้วยร่างขอบเขตสัญญา หรือ TOR ที่ไม่ได้ทำการระบุชัดเจนถึงศักยภาพของท่อส่งน้ำตามผลการศึกษา ที่ระบุศักยภาพของท่อส่งน้ำจะอยู่ที่ 150 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เป็นศักยภาพท่อส่งน้ำของธนารักษ์ตามจริง ไม่สามารถนำมารวมการส่วนอื่นได้
คณะกรรมการจึงได้ยกเลิกการประมูลครั้งที่ 1 อีสท์วอเตอร์ จึงฟ้องร้องกรมธนารักษ์ว่า การยกเลิกการประมูลครั้งที่ 1 มีความมิชอบ โดยฟ้องต่อศาลเพื่อให้พิจารณา ให้ดำเนินการคัดเลือกครั้งที่ 1 ต่อไปจนจบ ขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณา ยังไม่มีคำพิพากษาจากศาล
ส่วนการประมูลครั้งใหม่ มีการกำหนดชัดเจนใน TOR ถึงศักยภาพด้านเทคนิค พบว่าทั้ง 2 บริษัทเสนอศักยภาพในการส่งน้ำที่ 150 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีเท่ากัน ขณะที่ผลตอบแทนรัฐ อีสท์วอเตอร์เสนอ ที่ 24,000 ล้านบาท ส่วนวงษ์สยามฯ เสนอที่ 25,000 ล้านบาท
ดังนั้น คณะกรรมการที่ราชพัสดุ จึงมีมติให้ วงษ์สยามฯ เป็นผู้ชนะการประมูล เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่มากกว่า และรอดำเนินการลงนามสัญญาเป็นลำดับถัดไป ด้านอัยการเองก็ได้ปลดล็อกให้กรมธนารักษ์สามารถลงนามสัญญากับ ‘วงษ์สยามฯ’ ได้เลย โดยไม่ต้องรอรายการทรัพย์สินและได้รับความยินยอมจาก อีสท์วอเตอร์ก่อน
ต่อมาเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม กรมธนารักษ์ได้เตรียมจัดงานแถลง การลงนามสัญญากับ ‘วงษ์สยามฯ’ แต่ก็ต้องสะดุด ยกเลิกการลงนามก่อนเวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงก่อนที่จะถึงเวลาลงนาม
มีกระแสข่าวว่า เป็นเพราะผู้ใหญ่มีคำสั่ง ให้เลื่อนการลงนามออกไป เพราะกังวลที่ฝ่ายค้านจะทำการอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องนี้ในสภา โดยมุ่งไปที่ประเด็น การประมูลโครงการดังกล่าว มีความไม่โปร่งใส ไม่ผ่านการประมูลอี-บิดดิ้งตามระบบ รวมถึงอยู่ในระหว่างที่รอคำพิพากษาศาลปกครอง
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับมอบหมายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตอบเรื่องดังกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ทราบเรื่องแล้วและได้สั่งการให้กระทรวงการคลังดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบโดยเร็วในทุกขั้นตอน
จึงได้เลื่อนการเซ็นสัญญาระหว่างกรมธนารักษ์และวงษ์สยามฯ ออกไปก่อน
ขณะที่ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ประธานคณะกรรมการที่ราชพัสดุ กล่าวยืนยันว่า การประมูลโครงการมีความโปร่งใส มีการแข่งขันราคาที่เห็นโดยชัดเจน ยืนยันว่า ไม่ได้มีการเอื้อประโยชน์ใดๆ และรัฐบาลไม่ได้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท อีสท์วอเตอร์ เพราะฉะนั้นไม่ใช่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจแล้ว ปัจจุบันเป็นการประปาส่วนภูมิภาคที่ถือหุ้นอยู่ 40% จึงถือเป็นบริษัทเอกชน
ด้านนายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ ได้กล่าวหลังการเลื่อนลงนามในสัญญาโครงการท่อส่งน้ำอีอีซี กับ วงษ์สยามฯ ว่า เนื่องจากยังมีกระแสความไม่เข้าใจและเข้าใจคลาดเคลื่อน ในการดำเนินโครงการดังกล่าว จึงได้ตัดสินใจเลื่อนการลงนามออกไป และเร่งสร้างความเข้าใจแก่สังคมให้มากและเร็วที่สุด ก่อนจะกำหนดวันลงนามสัญญาอีกครั้ง
‘ไม่มีการสั่งการจากผู้ใหญ่ในรัฐบาล หรือรอคำสั่งศาล ที่ยังมีประเด็นฟ้องร้องของ อีสท์วอเตอร์ และไม่เกี่ยวข้องกับการอภิปรายในสภา เพราะขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะมีการอภิปรายในประเด็นนี้หรือไม่’ นายประภาศกล่าว
ขณะที่การตั้งข้อสังเกต การแก้ TOR ที่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประมูลบางรายหรือไม่นั้น อธิบดีกรมธนารักษ์ ระบุว่า การแก้ TOR นั้น ไม่มีผู้เข้าร่วมประมูลรายใดเสียสิทธิ การแก้ TOR เป็นการทำให้เกิดความชัดเจนในประเด็นข้อเสนอทางเทคนิค และยังทำให้เกิดผลประโยชน์ต่อรัฐสูงกว่าการประมูลในครั้งแรก ดังนั้นเมื่อไม่มีผู้เสียสิทธิ จึงไม่ใช่การแก้ไข TOR เพื่อเอื้อต่อใครผู้ใดผู้หนึ่งแน่นอน ส่วนขั้นตอนของการคัดเลือกผู้ที่จะเข้ามาบริหารโครงการนั้น เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายภายใต้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่ราชพัสดุ และได้มีการตั้งคณะกรรมการคัดเลือก เพื่อพิจารณาคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมคัดเลือก ซึ่ง วงษ์สยามฯ ก็มีแผนชัดเจนในการบริหารจัดการ
อธิบดีกรมธนารักษ์กล่าวทิ้งท้ายว่า กรมยึดถือแนวทางการคัดเลือกเอกชนภายใต้ 3 เงื่อนไข คือ ถูกต้องตามกฎหมาย คุ้มครองผลประโยชน์รัฐ และคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งที่ผ่านมาก็ดำเนินภายใต้กฎหมาย พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ และกฎกระทรวงขณะที่ในแง่ของผลประโยชน์ต่อรัฐนั้น หากมีการลงนามสัญญากับ วงษ์สยามฯ รัฐจะได้รับเงินก้อนแรกทันที 743 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญา 580 ล้านบาท ผลประโยชน์ตอบแทนรายปีล่วงหน้าปีที่ 1 วงเงิน 44,644,356 บาท และหลักประกันสัญญา 118,623,856 บาท
ขณะที่ผลประโยชน์ต่อผู้บริโภค คือ ในสัญญากำหนดชัดเจน ที่ผู้ชนะจะต้องคิดค่าน้ำต่อผู้บริโภคไม่เกิน 10.98 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ตลอดอายุสัญญา 30 ปี