รีเซต

รบ.ปลื้ม 6 เดือน ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม 1.64 แสนล้าน เครื่องเงิน-เครื่องทองพุ่งสุด

รบ.ปลื้ม 6 เดือน ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม 1.64 แสนล้าน เครื่องเงิน-เครื่องทองพุ่งสุด
มติชน
31 สิงหาคม 2565 ( 08:47 )
68
รบ.ปลื้ม 6 เดือน ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม 1.64 แสนล้าน เครื่องเงิน-เครื่องทองพุ่งสุด

รัฐบาลมุ่งผลักดันผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยสู่สากล ปลื้มมูลค่าตลาดส่งออก 6 เดือนแรกปี 2565 สูงกว่า 1.64 แสนล้านบาท

 

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลยินดีที่มูลค่าตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยใน 6 เดือนแรกปี 2565 เติบโตถึงกว่า 1.64 แสนล้านบาท พร้อมกำชับทุกฝ่ายผลักดันสินค้าภูมิปัญญาไทยให้เป็นที่ต้องการของตลาดภายในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ภายหลังการประกาศเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวภายในประเทศ ประกอบกับรัฐบาลผลักดันนโยบาย Soft Power ส่งเสริมอัตลักษณ์ท้องถิ่นไทยทุกมิติทั้งในและต่างประเทศของรัฐบาล กระทรวงพาณิชย์ โดยสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ SACIT ผู้รับผิดชอบงานด้านศิลปหัตถกรรมไทย ได้เปิดเผยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย เฉพาะเดือนมิถุนายนมีมูลค่าสูงถึง 28,311 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 18.72 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2564 ในขณะที่ 6 เดือนแรกปี 2565 (มกราคม-มิถุนายน) มีมูลค่ารวม 164,579 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 33.42 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

นายอนุชากล่าวว่า กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องเงิน เครื่องทอง มีมูลค่ามากที่สุด 80,268 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 43.48 เปอร์เซ็นต์ โดยปัจจุบันตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น และอาเซียน ตามลำดับ แสดงถึงแนวโน้มภาคการตลาดต่างประเทศที่ดีขึ้นจากสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 และสภาพเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนจากภัยความมั่นคงรูปแบบต่างๆ

 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นอกจากนี้ SACIT ได้เตรียมจัดงานแสดงสินค้าศิลปหัตถกรรมและงานคราฟต์ร่วมสมัยฝีมือคนไทยแห่งปี งานอัตลักษณ์แห่งสยามครั้งที่ 13 (The 13th Identity of Siam) และ Crafts Bangkok 2022 ระหว่างวันที่ 8-11 กันยายน 2565 ณ ฮอลล์ 101-102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา โดยมุ่งหวังพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาและผลักดันผู้ประกอบการสินค้าไทยสู่ตลาดสากล คาดจะมีผู้เข้าชมงานไม่ต่ำกว่า 30,000 ราย สร้างเงินสะพัดกว่า 140 ล้านบาท

 

“รัฐบาลมุ่งส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มีความมั่นคง ยั่งยืน และสามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมบูรณาการการทำงาน พัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมไทยให้มีมาตรฐาน มีรูปแบบทันสมัย สามารถใช้งานในชีวิตประจำวันได้ ตลอดจนเสริมสร้างองค์ความรู้ใหม่แก่ผู้ประกอบการเพื่อการสร้างสรรค์ผลงานอย่างมีประสิทธิภาพและพร้อมสู่ตลาดสากล” นายอนุชากล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง