รีเซต

กทม. พร้อมรับมือน้ำท่วม คาดการณ์ 'ลานีญา' เข้าไทยเดือนก.ค.-ก.ย.

กทม. พร้อมรับมือน้ำท่วม คาดการณ์ 'ลานีญา' เข้าไทยเดือนก.ค.-ก.ย.
TNN ช่อง16
3 มิถุนายน 2567 ( 18:21 )
49
กทม. พร้อมรับมือน้ำท่วม คาดการณ์ 'ลานีญา' เข้าไทยเดือนก.ค.-ก.ย.

วันนี้ (3 มิ.ย. 67) นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)  เปิดเผยว่าจากกรณีที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี  ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมหารือเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 67) ในการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เนื่องจากมีความเป็นห่วงแนวโน้มของอิทธิพลสภาวะลานีญาที่จะส่งผลให้สถานการณ์ฝนปีนี้มากกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงเดือนกรกฎาคม - กันยายนนี้ ที่มีความเข้มข้นของฝนสูงขึ้น จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และเร่งรัดการจัดทำแผนปฏิบัติการตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 พร้อมกำชับให้ สทนช. ติดตามผลการดำเนินการอย่างใกล้ชิดนั้นในวันนี้จึงมีการลงพื้นที่ติดตามประสิทธิภาพของอาคารรับน้ำบึงหนองบอน เพื่อติดตามการเตรียมความพร้อมของกรุงเทพมหานครและกรมชลประทาน 


นายสุรสีห์ ระบุว่า ทั้งสองหน่วยงานได้มีการประสานงานอย่างใกล้ชิดในการติดตามสถานการณ์น้ำเหนือและกำหนดเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำร่วมกัน และได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการที่ได้กำหนดไว้ เช่น การพัฒนาระบบระบายน้ำเส้นเลือดฝอย ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนของผู้ว่ากรุงเทพมหานคร การตรวจสอบและเตรียมความพร้อมของสถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำและอุโมงระบายน้ำต่างๆ ให้สามารถใช้งานได้จริง การสำรวจและติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราวประจำจุดเสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซาก การจัดเตรียมพื้นที่แก้มลิงเพื่อรับน้ำ รวมทั้งการจัดเตรียมเจ้าหน้าที่เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมงและพร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนได้ทันที 


ทั้งนี้สทนช. ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการประเมินสถานการณ์ฝน โดยคาดว่าลานีญาจะเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป ทำให้ปริมาณฝนมากกว่าค่าปกติ ซึ่งประสิทธิภาพการระบายน้ำของพื้นที่กรุงเทพมหานครอยู่ที่ 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง 


ดังนั้น หากปริมาณฝนตกมากกว่านั้นจะส่งผลต่อระบบการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งเหล่าทัพและกรมราชทัณฑ์ ในการเร่งขุดลอกล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งถือว่าเป็นแผนการดำเนินงานที่เร็วกว่าในทุก ๆ ปี


ส่วนพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ปริมาณฝนที่ตกลงมาในคลองประเวศบุรีรมย์ และการระบายน้ำยังไม่สามารถรองรับพื้นที่ฝั่งตะวันออกได้มากนัก ซึ่งกรุงเทพมหานครมีการดำเนินการก่อสร้างโครงการอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ที่จะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 69 


นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำส่วนต่อขยายจากบึงหนองบอนถึงคลองประเวศบุรีรมย์และคลองสี่ ระยะทาง 13.25 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาเสนองบประมาณในปี 69 และจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 73 หากทั้งสองโครงการดำเนินการแล้วเสร็จ จะทำให้ประสิทธิภาพการระบายน้ำดียิ่งขึ้น เชื่อมั่นว่า จะสามารถช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานครได้เป็นอย่างดี


ในส่วนของกรมชลประทาน ได้ดำเนินโครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง ระยะเวลาดำเนินงาน 6 ปี (ปี 68-73) ซึ่งอยู่ใน 9 แผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตอนล่าง ที่จะช่วยเพิ่มอัตราการระบายน้ำจาก 210 ลบ.ม./วินาที เป็น 400 ลบ.ม./วินาที สามารถป้องกันและลดพื้นที่น้ำท่วมได้ 298,250 ไร่ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจที่สำคัญ นอกจากนี้ ในช่วงฤดูแล้งยังสามารถเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำในคลองได้ถึง 17 ล้าน ลบ.ม./ปี ปัจจุบันเตรียมเสนอ กนช. พิจารณาให้ความเห็นต่อไป


ด้าน รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมถึงความพร้อมพร้อมแผนเผชิญเหตุอุทกภัยในพื้นที่ว่า ทั้ง 50 เขตของกรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมแล้ว ซึ่งสอดรับทั้ง 10 มาตรการรับมือฤดูฝนของรัฐบาล หากเกิดสถานการณ์เล็กน้อยแต่ละเขตจะสามารถบริหารจัดการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้เอง


ทั้งนี้ หากเกิดน้ำท่วมขยายวงกว้างขึ้น กรุงเทพมหานครได้จัดเตรียมจุดรวมพลเพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขังในจุดเสี่ยงน้ำท่วม จำนวน 6 จุด ที่เป็นการทำงานแก้ไขปัญหาร่วมกันกับเขตพื้นที่ข้างเคียง โดยเป็นการเตรียมพร้อมวัสดุอุปกรณ์สนับสนุนเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมทั้งการรณรงค์สร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในการแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงให้รับทราบปริมาณฝนตกเกิน 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง หรือจุดเสี่ยงน้ำท่วมขัง ซึ่งจะเป็นการสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนด้วย

นส่วนแผนระยะยาวในการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำนั้น กรุงเทพมหานคร มี สทนช. เป็นเสมือนพี่เลี้ยงที่คอยแนะนำในการศึกษาสภาพปัญหาและกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนในการเตรียมความพร้อมของแผนงาน/โครงการที่เป็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในภาพรวม ให้สอดรับกับแผนบริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่สามารถเชื่อมต่อขยายร่วมกับพื้นที่จังหวัดข้างเคียง เพื่อเป็นบูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทั้งระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ภาพจาก:  AFP 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง