ศึกษาพบ 'ผึ้งน้ำหวาน' เรียนรู้เต้นส่ายท้อง บอกข้อมูลเพื่อนร่วมรัง
ปักกิ่ง, 14 มี.ค. (ซินหัว) -- คณะนักวิจัยของจีนค้นพบว่าฝูงผึ้งน้ำหวานต้องเรียนรู้ "การเต้นรำส่ายท้อง" จากผึ้งโตเต็มวัยตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อการส่งสัญญาณบอกข้อมูลระหว่างกันอย่างถูกต้องแม่นยำ
ฝูงผึ้งน้ำหวานนั้นใช้การสื่อสารแบบอ้างอิงเชิงพื้นที่อันซับซ้อน โดยการเต้นรำส่ายท้องจะบอกทิศทาง ระยะทาง และคุณภาพของแหล่งอาหารแก่เพื่อนร่วมรัง ผ่านการแปลงข้อมูลเกี่ยวกับท้องฟ้า ทิศทางการเคลื่อนที่ และคุณค่าของแหล่งอาหาร เป็นการเคลื่อนไหวและส่งเสียงภายในรัง
ทีมวิจัย นำโดยถานเคิ่น นักวิจัยจากสวนพฤกษศาสตร์เขตร้อนสิบสองปันนา สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ได้สร้างรังผึ้งที่มีผึ้งอายุน้อย อุณหภูมิเพื่อการเติบโตที่เหมาะสม และแหล่งอาหารมากเพียงพอ โดยผลการศึกษาพบผึ้งในรังเทียมขาดโอกาสเรียนรู้การเต้นรำส่ายท้องจากผึ้งโตเต็มวัย ไม่เหมือนกับผึ้งอายุน้อยที่เติบโตในรังตามธรรมชาติ
ทีมวิจัยได้ทำเครื่องหมายกับผึ้งในรังเทียมและผึ้งตามธรรมชาติที่เตรียมออกจากรังทีละตัว และเมื่อพวกมันกลับมายังรังและเริ่มเต้นรำส่ายท้อง กล้องได้บันทึกการเต้นรำของพวกมันและวิเคราะห์ระยะเวลาการเต้น มุมองศา จังหวะการส่ายท้อง และตัวบ่งชี้อื่นๆ
ผลการศึกษาพบผึ้งฝูงทดลองมีข้อบกพร่องตอนเต้นอย่างเห็นได้ชัด โดยมีการส่งต่อข้อมูลต่างๆ เช่น ตำแหน่งอาหาร ระยะทางและคุณภาพของแหล่งอาหาร ผ่านการเต้นรำส่ายท้องอย่างไม่ถูกต้องแม่นยำ โดยเฉพาะข้อมูลระยะห่างระหว่างแหล่งน้ำผึ้งกับรังผึ้ง
ดังนั้นการเรียนรู้ทางสังคมจึงกำหนดรูปแบบการส่งสัญญาณของผึ้ง เช่นเดียวกับการสื่อสารในเด็กทารก นก และสัตว์มีกระดูกสันหลังอื่นๆ อีกหลายชนิด
อนึ่ง คณะนักวิจัยได้ตีพิมพ์การค้นพบของพวกเขาผ่านวารสารไซเอนซ์ (Science)