รีเซต

3 ทางเลือกในการบริหารเงิน จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหลังเกษียณ

3 ทางเลือกในการบริหารเงิน จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหลังเกษียณ
ทันหุ้น
28 พฤศจิกายน 2566 ( 15:10 )
27
3 ทางเลือกในการบริหารเงิน จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหลังเกษียณ

#กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ #ทันหุ้น - 3 ทางเลือกในการบริหารเงิน” จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหลังเกษียณ โดย ฝ่ายสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

 

ช่วงเวลาปลายปี อาจเป็นช่วงเวลาที่ผู้มีรายได้ประจำหลายท่านเฝ้ารอถึงวันหยุดยาวเพื่อท่องเที่ยวพักผ่อนชาร์จพลังและกลับมาทำงาน แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้มีรายได้ประจำอีกหลายท่านที่อาจจะได้พักผ่อนยาวเนื่องจากเกษียณอายุตามปีปฏิทิน

 

ถ้าบริษัท/องค์กรของท่านมีสวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (กองทุนฯ) ให้กับพนักงาน ในช่วงวันที่พนักงานในฐานะสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (สมาชิกฯ) เกษียณจะได้รับเงินกองทุนที่สะสมมาตลอดชีวิตการทำงาน ซึ่งมีองค์ประกอบ 4 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ เงินสะสม ผลประโยชน์ของเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินสมทบ โดยเงินทั้ง 4 ส่วนนี้จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากเข้าเงื่อนไขภาษีที่กรมสรรพากรกำหนด คือ เกษียณเมื่ออายุครบ 55 ปี ขึ้นไป และเป็นสมาชิกกองทุนฯ มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีต่อเนื่องกัน แต่หากอายุเกษียณที่นายจ้างกำหนดไว้น้อยกว่า 55 ปี สมาชิกฯ ควรคงเงินไว้ในกองทุนฯ ต่อไปจนกว่าจะเข้าเงื่อนไขที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี หรืออาจเลือกโอนเงินไปลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่รับโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือที่เราเรียกกันสั้น ๆ ว่ากองทุน RMF for PVD[1] ไว้ก่อนก็ได้ จนเมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามเงื่อนไขภาษีแล้ว ค่อยมาพิจารณาทางเลือกในการบริหารจัดการเงินกองทุน

 

การเตรียมตัวล่วงหน้าและเข้าใจแนวทางการบริหารจัดการเงินกองทุนฯ หลังเกษียณ จะส่งผลดีต่อสมาชิกฯที่ จะเลือกเส้นทางที่เหมาะสมกับตนเองที่สุดจาก 3 ทางเลือก ดังนี้

 

1. การคงเงินทั้งหมด

หากสมาชิกฯ ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินที่ได้รับจากกองทุนฯ เนื่องจากมีเงินหรือแหล่งรายได้อื่นสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ก็สามารถคงเงินทั้งหมดไว้กองทุนฯ เช่นเดิมได้ เพื่อการลงทุนที่ต่อเนื่องและโอกาสการเติบโตของพอร์ต ซึ่งเงินที่คงอยู่ในกองทุนฯ จะได้รับการบริหารตามนโยบายการลงทุนที่เลือกไว้ ทั้งนี้ สมาชิกฯ ควรศึกษาเงื่อนไขและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง ตามที่ข้อบังคับกองทุนกำหนด เช่น การคงเงินจะมีค่าธรรมเนียมรายปี เป็นต้น

 

2. การรับเงินเป็นงวด

หากสมาชิกฯ ต้องการใช้เงินบางส่วนที่ได้รับจากกองทุนฯ โดยไม่ต้องการถอนเงินออกมาทั้งหมด สามารถแจ้งขอรับเงินเป็นงวด ๆ ได้ เช่น ทุกไตรมาส ทุกครึ่งปี หรือทุกปี เพื่อให้เงินส่วนที่ยังคงอยู่ในกองทุนฯ มีโอกาสเติบโตและยังได้รับการบริหารตามนโยบายการลงทุนที่เลือกไว้ได้ โดยสมาชิกฯ ควรศึกษาเงื่อนไขและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องตามที่ข้อบังคับกองทุนกำหนด เช่น การรับเงินเป็นงวดจะมีค่าธรรมเนียมการรับเงินรายงวด เป็นต้น

 

3. การถอนเงินทั้งหมด

หากสมาชิกฯ มั่นใจว่าสามารถบริหารจัดการเงินกองทุนฯ ที่จะได้รับมาทั้งหมดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจนำไปลงทุนต่อเองในด้านต่าง ๆ หรืออาจนำไปฝากธนาคารเพื่อความสะดวกในการถอนเงินด้วยตนเอง สามารถแจ้งขอถอนเงินกองทุนฯ ทั้งหมดของตนได้ ในทางกลับกัน วิธีนี้อาจไม่เหมาะสำหรับสมาชิกฯ ที่ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการนำไปลงทุนด้วยตนเอง หรือไม่มีมีวินัยในการใช้เงิน ซึ่งหากนำเงินกองทุนฯ ที่ได้ไปฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด ผลตอบแทนที่ได้รับจากการฝากเงินมักจะต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ ยิ่งนานวันยิ่งทำให้เงินที่มีอยู่ซื้อสินค้าได้น้อยลง และหากไม่มีวินัยหรือขาดการวางแผนการใช้เงิน ก็มีโอกาสที่เงินจะหดหายจนไม่พอใช้ ประกอบกับการถอนเงินออกจากกองทุนฯ ในช่วงที่ภาวะตลาดทุนปรับตัวลงหรือมีความผันผวนสูง ก็จะมีความเสี่ยงที่ทำให้เงินออมมีมูลค่าลดลงยิ่งขึ้นไปอีก

 

ในช่วงก่อนเกษียณ สมาชิกฯ ควรพิจารณาอย่างรอบคอบว่าจะบริหารจัดการเงินกองทุนฯ อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิธีการรับเงิน การเลือกนโยบายการลงทุน (กรณีคงเงิน/รับเงินเป็นงวด) เงื่อนไขและค่าใช้จ่าย และข้อบังคับกองทุนฯ ฯลฯ โดยสามารถสอบถามและขอคำแนะนำจากคณะกรรมการกองทุนของบริษัท/องค์กรท่าน หรือเจ้าหน้าที่ของบริษัทจัดการซึ่งรับผิดชอบการบริหารจัดการเงินกองทุนฯ รวมถึงแจ้งความประสงค์ล่วงหน้าได้ที่เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในบริษัท/องค์กรที่สมาชิกทำงานอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล

 

ไม่ว่าจะเลือกทางใดในการบริหารจัดการเงินเกษียณข้างต้น ยังมีอีกเรื่องสำคัญที่สมาชิกฯ ต้องระวัง คือ ภัยจากการหลอกลวงลงทุนที่แฝงตัวเข้ามาไม่ว่าจะเป็นมิจฉาชีพหรือบุคคลที่มีเจตนาไม่ดี ไม่เช่นนั้นเงินกองทุนฯ ที่สะสมมาตลอดหลายสิบปีอาจหายไปได้ในพริบตา โดยหากพบบุคคล ผลิตภัณฑ์ หรือบริษัทที่สงสัยว่าหลอกลวงลงทุนสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ โทร 1207 กด 22 หรือแจ้งผ่านระบบรับแจ้งบนเว็บไซต์ ก.ล.ต.(www.sec.or.th/scamalert ) หรืออีเมล scamalert@sec.or.th (อ่านบทความเรื่อง “เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งชีวิต ... อย่าปล่อยให้มิจฉาชีพมาหลอกไป” ได้ที่นี่ https://shorturl.asia/R4d9A

 


ดังนั้น ช่วงระยะเวลาที่เหลืออีก 1-2 เดือนก่อนการเกษียณ สมาชิกฯ ควรศึกษาแนวทางที่กล่าวไว้ข้างต้น เพื่อประกอบการพิจารณาทางเลือกที่ตอบโจทย์และเหมาะสมกับการดำเนินชีวิตหลังเกษียณของตนเองที่สุด ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อเกษียณอายุได้ที่นี่ https://shorturl.asia/7lUTG  และการเตรียมตัวเกษียณได้ที่นี่ https://shorturl.asia/tbqNK  หรือรายละเอียดเกี่ยวกับการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ที่ www.thaipvd.com

*****************************

หมายเหตุ:

[1] ปัจจุบันมีบริษัทจัดการ 10 แห่ง ที่ให้บริการกองทุน RMF for PVD ด้วยนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย เช่น ตราสารหนี้ ตราสารทุน เป็นต้น

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง