รีเซต

สถานการณ์น้ำเขื่อนเจ้าพระยา เตือนพื้นที่นอกคันกั้นยกของขึ้นที่สูง

สถานการณ์น้ำเขื่อนเจ้าพระยา เตือนพื้นที่นอกคันกั้นยกของขึ้นที่สูง
TNN ช่อง16
12 สิงหาคม 2567 ( 12:30 )
16
สถานการณ์น้ำเขื่อนเจ้าพระยา เตือนพื้นที่นอกคันกั้นยกของขึ้นที่สูง

สถานการณ์น้ำเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท กุญแจสำคัญในการบริหารจัดการน้ำลุ่มภาคคกลาง ยังคงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด มวลน้ำเหนือไหลเข้าสู่เขื่อนยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากปริมาณฝนที่ตกทางตอนบนของประเทศ ล่าสุดวัดได้ 1,216 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะที่เขื่อนเจ้าพระยา ยังคงอัตราการระบายน้ำลงท้ายเขื่อนไว้ที่ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อเพิ่มพื้นที่ว่างในลำน้ำเหนือเขื่อน รองรับปริมาณน้ำเหนือที่จะลงมาเพิ่มในระยะต่อไป 


ด้าน กรมชลประทาน ยืนยันจะยังคงการระบายน้ำในเกณฑ์ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ต่อไปอีกในระยะ 1-2 วันนี้ คาดว่าจะทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นอีก 10-15 เซนติเมตร ภายใน 24 ชั่วโมง ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ริมคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง และริมคลองบางบาล ตำบลบ้านป้อม อำเภอบางบาล /ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด และตำบลท่าดินแดง อำเภอหักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะเกิดน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ ขอให้ยกของขึ้นที่สูง และฝ้าสังเกตความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ รวมทั้งติดตามประกาศจากทางราชการอย่างใกล้ชิดต่อไป


ส่วนที่จังหวัดพิษณุโลก นาย สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมคณะ ลงพื้นที่ประตูระบายน้ำบ้านใหม่โพธิ์ทองลุ่มน้ำยม ตำบลพรหมพิราม อำเภอพรหมพิราม เพื่อติดตามการบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่รับน้ำบางระกำโมเดล โดยมี ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิษณุโลก นำเสนอข้อมูลปริมาณและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่


ขณะนี้ แม่น้ำยมสายเก่า ที่ไหลผ่าน อำเภอพรหมพิราม และ อำเภอบางระกำ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่วนสถานการณ์เฝ้าระวังในพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปี ทุ่งหน่วงน้ำบางระกำโมเดล ปัจจุบันมีการเก็บเกี่ยวข้าวไปแล้วกว่าร้อยละ 80 คาดว่าจะเก็บเกี่ยวครบทั้งหมด ก่อนวันที่ 15 สิงหาคมนี้ ทันรองรับสถานการณ์น้ำเหนือ ที่คาดว่าจะมีฝนตกเพิ่มขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือ ช่วงปลายเดือนสิงหาคม ถึง กันยายนนี้ 


สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ยังได้แต่งตั้งคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าชั่วคราว ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำยม-น่าน เพื่อรับมือสถานการณ์และอำนวยการหน่วยงานในพื้นที่ บริหารจัดการมวลน้ำในช่วงฤดูฝนให้เกิดความเป็นเอกภาพจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย


ข้อมูลจาก: กรมชลประทาน 

ภาพจากกรมชลประทาน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง