รีเซต

Exclusive มูฮัมหมัด ยูนุส: 'บิดาแห่งไมโครไฟแนนซ์' ชวนคนรุ่นใหม่พลิกโลก

Exclusive มูฮัมหมัด ยูนุส:  'บิดาแห่งไมโครไฟแนนซ์' ชวนคนรุ่นใหม่พลิกโลก
TNN ช่อง16
8 เมษายน 2568 ( 19:42 )
9

สำนักข่าว TNN ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส ผู้ก่อตั้งธนาคารเพื่อคนจนในบังกลาเทศที่เป็นต้นแบบไปทั่วโลก จนทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งฐานะประธานคณะที่ปรึกษารัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ หรือผู้นำรัฐบาลรักษาการของบังกลาเทศนั่นเอง


ศาสตราจารย์ยูนุสเยือนไทยเพื่อร่วมประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศ BIMSTEC และได้ให้สัมภาษณ์ถึงเส้นทางชีวิตที่ผ่านมา ตลอดจนสิ่งที่คาดหวังกับคนหนุ่มสาวเพื่อช่วยการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้


นี่คือบทสรุปของการสัมภาษณ์ครั้งนี้...


  • จุดเริ่มต้นของไมโครไฟแนนซ์และการเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คน


ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส ได้รับการยกย่องทั่วโลกในฐานะ "บิดาแห่งไมโครไฟแนนซ์" ซึ่งเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนนับล้านในบังกลาเทศและทั่วโลกผ่านโมเดลธนาคารกรามีน เมื่อเขาถูกถามว่าตอนที่ริเริ่มโมเดลนี้ เคยคาดหวังหรือไม่ว่ามันจะส่งผลไปทั่วโลกได้ขนาดนี้ เขาตอบว่า "ไม่เลยครับ" ตอนนั้นเขาแค่เริ่มต้นจากการแก้ปัญหาเล็กๆ ในหมู่บ้านหนึ่งใกล้มหาวิทยาลัยที่เขาสอนอยู่ เขาตั้งใจทำงานเพื่อดูว่ามันจะสร้างผลกระทบอะไรได้บ้างในชีวิตของผู้คน


อย่างไรก็ตาม เมื่อแนวคิดนี้ได้ผล เขาเริ่มอธิบายให้ผู้คนฟังถึงความสำคัญ แต่กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า "นี่ไม่ใช่ธนาคาร" ยิ่งถูกปฏิเสธมากเท่าไร เขายิ่งยืนกรานว่านี่คือเส้นทางที่ถูกต้อง ศาสตราจารย์ยูนุสเน้นย้ำว่า "ความยากจนไม่ได้เกิดจากคนจน แต่เกิดจากระบบที่เราสร้างขึ้นมา" และเขาเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงระบบจะช่วยขจัดความยากจนได้


ยูนุสกล่าวว่า “ถ้าคุณเปลี่ยนระบบ ไม่มีใครจะต้องเป็นคนจนอีกต่อไป ดังนั้น แทนที่จะมุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือแบบแจกเงินให้พวกเขาเพื่อดูแลตัวเอง แต่แท้จริงแล้ว พวกเขาไม่ต้องการเงินแจกหรอกครับ แต่ต้องการสิทธิในการเข้าถึงบริการต่างๆ ที่เราไม่ได้ให้แก่พวกเขา”


  • ความท้าทายหลังจาก 40 ปีของไมโครไฟแนนซ์


แม้แนวคิดไมโครไฟแนนซ์จะประสบความสำเร็จในหลายประเทศ เช่น แอฟริกา แต่ระบบการเงินกระแสหลักและนโยบายของรัฐบาลต่างๆ ยังไม่ได้ปรับตัวตาม ศาสตราจารย์ยูนุสเรียกร้องให้สร้างสถาบันใหม่หรือปรับเปลี่ยนแนวทางเพื่อช่วยเหลือคนจน โดยเฉพาะผู้หญิง ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนแปลงชีวิตครอบครัว


ศาสตราจารย์ยูนุส ยกตัวอย่างของสหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่ได้ให้ความสนใจแนวคิดนี้เท่าไหร่นัก  เขาเล่าว่า “สหรัฐฯ มีโครงการสวัสดิการหากคุณเป็นพลเมือง แต่ถ้าคุณเป็นผู้อพยพ พวกเขาไม่มีความรับผิดชอบใดๆ ต่อคุณ เราจึงไปสร้างโครงการนี้เพื่อช่วยเหลือผู้อพยพ ซึ่งหลายคนไม่มีเอกสารยืนยันตัวตนเลย โครงการนี้กำลังขยายตัว แต่ก็ยังคงเป็นเพียงโครงการเดียวที่มี”



  • วิสัยทัศน์แห่งโลกสามศูนย์ (Zero Poverty, Zero Unemployment, Zero Net Carbon Emission)


เมื่อถูกถามว่าโลกของเราเข้าใกล้บรรลุวิสัยทัศน์ ตามที่หนังสือ A World of Three Zeros ของเขาได้นำเสนอวิสัยทัศน์ของโลกที่ไร้ความยากจน การว่างงาน และการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิหรือยัง 


ศาสตราจารย์ยูนุส ตอบว่า หากมองในแบบแยกส่วน เขาอยากจะพูดในประเด็นการปล่อยก๊าซคาร์บอนและการกระจุกตัวของความมั่งคั่ง ซึ่งเราไม่ค่อยได้ยินเรื่องนี้เท่าใดนัก ซึ่งกำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากขึ้น เพราะคนรวยมีส่วนเกี่ยวข้อง ถ้าคุณรวย คุณก็มีอำนาจ


ยูนุสกล่าวว่า “ถ้าคุณควบคุมความมั่งคั่ง คุณก็จะควบคุมอำนาจได้ ดังนั้นอำนาจของคุณจะทำให้ สถานะของคุณจะไม่ถูกพูดถึง เมื่อเป็นเช่นนั้น จะไม่มีเรื่องนี้ในโทรทัศน์ ไม่มีในสื่อ ไม่อยู่ในการจัดทำนโยบาย มันก็จะเป็นอยู่เช่นนั้น ราวกับเป็นเรื่องปกติธรรมชาติ”


“หากคุณรวย คุณก็จะรวยขึ้นในวันพรุ่งนี้ หากคุณรวยขึ้น คุณก็จะรวยมากขึ้นอีกในวันต่อมา นี่ไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ”


ยูนุสย้ำว่า เราออกแบบสิ่งนี้ผิดทาง  ความมั่งคั่งไม่ควรไหลขึ้นไปด้านบน แต่ควรเป็นอีกทางหนึ่ง ความมั่งคั่งควรไหลลงไปด้านล่าง เพื่อให้ด้านล่างเปลี่ยนแปลง ต้องกลับเกียร์ แต่ไม่มีใครอยากกลับเกียร์เลย



เมื่อถูกถามว่า การทำเช่นนั้นดูจะเป็นเรื่องยากหรือไม่ 


ศาสตราจารย์ยูนุส ยืนยันว่า ไม่มีอะไรยากเมื่อเราลงมือทำ ไมโครเครดิตเคยถูกมองว่ายากมาก เราจะให้เงินใครโดยไม่มีหลักประกันได้อย่างไรแล้วหวังว่าเงินจะกลับมา ซึ่งเขาไม่สามารถโต้เถียงเรื่องนี้ได้ แต่จะแสดงให้เห็นว่ามันเกิดขึ้นจริงได้

  • รางวัลโนเบลสันติภาพเปลี่ยนแปลงชีวิตและประเทศชาติอย่างไร


ศาสตราจารย์ยูนุส พูดถึงการเป็นชาวบังกลาเทศคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลนี้ว่า รางวัลโนเบลเป็นที่เคารพทั่วโลกเสมอ ดังนั้นไม่ว่าใครจะได้รับ ทุกคนก็จะเคารพและให้เกียรติผู้ที่ได้รางวัล เพราะพวกเขารู้ดีว่า ต้องผ่านกระบวนการคัดกรองมากมาย ใครก็ตามที่ได้รับรางวัล ก็จะมีการพูดถึงหรือตั้งคำถามว่าคนเหล่านี้ทำอะไร จึงได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ เมื่อคนหนุ่มสาวอยากรู้ ก็จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนต่อได้ 


นอกจากนี้ รางวัลนี้ยังเป็นสิ่งที่ช่วยผลักดันแนวคิดที่เรากำลังส่งเสริม สิ่งที่เราได้ทำไป ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นด้วย


  • อนาคตของบังกลาเทศเมื่อก้าวผ่านรัฐบาลรักษาการ


ศาตราจารย์ยูนุสกล่าวว่า ตลอดช่วงชีวิตของเขา ไม่ว่าจะไปถึงจุดใดก็ตาม ก็จะยังมีพื้นที่ให้คนรุ่นต่อไปก้าวมา และตัวเขาก็จะพาคนรุ่นต่อไปเดินหน้าไปด้วย  เขาเชื่อว่า แต่ละคนมีเวอร์ชันของตนเอง ที่อาจมีคนเลือกไปต่อยอด ผู้คนก็จะพยายามปรับปรุงพัฒนากลไกด้วยวิธีการต่างๆ และอาจนำไปสู่มุมที่ใหญ่ขึ้น ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ด้านการเงิน แต่สามารถกระจายไปยังมิติอื่นๆ อีกมากมาย


ยูนุสย้ำว่า ทุกอย่างนั้นเป็นไปทั้งนั้น บางที่เราไม่มีเวลาที่จะไปด้วยตลอดทางหรือไม่ได้คิดไปในทิศทางเดียวกัน แต่อาจมีคนเอาความคิดนั้นไปต่อยอดแล้วทำได้ดีก็เป็นได้


  • นำพาประเทศอย่างไรในโลกที่ซับซ้อนทั้งปัจจัยภายในและภายนอก 


ศาสตราจารย์ยูนุส ให้ข้อคิดว่า เราควรสร้างวัฒนธรรมใหม่ อารยธรรมใหม่ เพราะรากฐานอารยธรรมเดิมนั้นตั้งอยู่บนหลักการของ ‘ความโลภ’  ความโลภเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อน ผู้คนต้องการหาเงินมากขึ้นและคิดว่านั่นเป็นอำนาจเดียวที่พวกเขามี 


แต่ยูนุสมองว่า ไม่ใช่ จิตสำนึกทางสังคมต่างหากที่อาจมีพลังมากกว่า และยกตัวอย่างว่าตอนที่เขาบอกว่าต้องสร้างธุรกิจเพื่อสังคม แต่ผู้คนจะพูดกันว่า มันไม่ได้ผลหรอก เพราะต้องมีแรงจูงใจในการทำกำไร เพื่อผลักดันผู้คนให้คลั่งไคล้ในการหาเงินมากขึ้น ซึ่งเขามองว่า นั่นผิดโดยสิ้นเชิง เพราะการหาเงินอาจทำให้เรามีความสุขในระดับหนึ่ง แต่การทำให้คนอื่นมีความสุขนั้น เป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่กว่า


เขาขยายความว่า การทำให้คนอื่นมีความสุขเป็นความสุขที่เหนือกว่ามาก มากกว่าความสุขที่ได้รับจากการสร้างรายได้เพราะมันมีขีดจำกัด แต่การทำให้คนอื่นมีความสุขนั้น ไม่มีขีดจำกัด สามารถทำต่อไปได้เรื่อยๆ 


ยูนุสกล่าวว่า มีอีกแง่มุมหนึ่งของมนุษย์ที่นักเศรษฐศาสตร์ไม่เคยใส่ใจ และเขาคิดว่า “ความไม่เห็นแก่ตัว” นั้นแข็งแกร่งกว่าความเห็นแก่ตัว เพราะเป็นเรื่องของการสัมผัสชีวิตของผู้คน ถ้าเราเปลี่ยนชีวิตของผู้คน เราก็จะเปลี่ยนโลก


  • โลกจะเปลี่ยนหากมีเจตจำนงในทางการเมือง?


ศาสตรจารย์ยูนุส มองว่า การเมืองเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่หากเราต้องการขับเคลื่อนทัศนคติของผู้คน และสร้างคนรุ่นต่อๆ ไป เราต้องจัดการที่ระบบการศึกษา นั่นเป็นช่องทางเดียวที่จะเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้


หากบูรณาการเรื่องนี้เข้ากับระบบการศึกษา พูดถึงธุรกิจสองประเภทที่ในชั้นเรียนที่มีสองสิ่งคือ ความเห็นแก่ตัวและความไม่เห็นแก่ตัว ซึ่งนักเรียนไม่จำเป็นต้องชอบสิ่งหนึ่งมากกว่ากัน แต่สามารถผสมผสานได้เช่นกัน ทำสิ่งเห็นแก่ตัวแล้ว ก็ทำสิ่งไม่เห็นแก่ตัวด้วย แต่คำถามคือ อะไรคือเส้นแบ่งว่าจะเห็นแก่ตัวหรือไม่เห็นแก่ตัวมากน้อยแค่ไหน คนรุ่นใหม่สามารถคิดและออกแบบได้เองด้วยการออกแบบจุดประสงค์ของชีวิตตัวเอง 


  • บังกลาเทศจะรับมือกับภาษีทรัมป์อย่างไร


ศาสตราจารย์ยูนุสกล่าวว่า ยังคงต้องทำความเข้าใจถึงผลกระทบของเรื่องนี้ก่อน และพิจารณาว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในเชิงบวกหรือไม่ เพราะเป็นสิ่งที่ทำโดยประเทศหนึ่ง เราต้องแก้ปัญหาในขณะที่ต้องทำงานร่วมกับพวกเขาไปด้วย เป็นเรื่องของการเจรจาต่อรอง เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายต่างได้รับประโยชน์


เมื่อถูกถามว่ากลุ่มประเทศ BIMSTEC จะหารือกันเรื่องนี้หรือไม่นั้น ยูนุสกล่าวว่า ประเด็นนี้ไม่ได้อยู่ในวาระการประชุม เศรษฐกิจของแต่ละประเทศแตกต่างกัน และเขายังไม่รู้ว่า ความเหมือนกันจะมีมากน้อยแค่ไหน แต่ละประเทศจะพยายามปกป้องเศรษฐกิจของตนเองเพื่อให้ได้ทางออกที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ก็ยังสามารถเรียนรู้จากกันและกันได้ 


  • คนรุ่นใหม่ อนาคตของ BIMSTEC 


ยูนุสกล่าวว่า คนรุ่นใหม่ คือประเด็นที่เขาต้องการผลักดันในวาระของ BIMSTEC ในทศวรรษนี้ และเขาอยากให้คนเหล่านี้มาคิดร่วมกันว่าจะสร้างโลกใหม่อย่างไร โลกใหม่นี้ควรจะมีฟีเจอร์อะไรบ้าง อาจจะมีโครงการแข่งขันออกแบบ ‘โลกในปี 3000’ ก็เป็นได้


โครงการออกแบบนี้ แม้จะเป็นจินตนาการ แต่ก็จะทำให้เราได้เห็นว่าคนหนุ่มสาวหลายแสนคนเข้าร่วมในการออกแบบนี้มองโลกอย่างไร และพวกเขามีความคิดสร้างสรรค์อย่างไร ซึ่งนี่คือการสร้างแรงบันดาลใจให้คนหนุ่มสาวรับผิดชอบต่อโลก ในขณะที่พวกเขามีเทคโนโลยีทรงพลังอยู่ในมือ ดังนั้นแนวคิดที่รังสรรค์มานั้นสามารถนำไปใช้ได้อย่างรวดเร็ว และเข้าถึงผู้คนหลายล้านได้ในชั่วข้ามคืน


  • อยากเปลี่ยนอะไรในชีวิตหรือไม่และอยากฝากอะไรไว้กับโลกใบนี้


ศาสตราจารย์ยูนุสทิ้งท้ายว่า เขาไม่คิดว่าควรจะทำอะไรแตกต่างออกไป เขารู้สึกโชคดีที่ไม่เคยหยุด เขาทำต่อไปแม้จะเจออุปสรรค และพยายามที่จะเอาชนะอุปสรรคเหล่านั้น


ถ้าไม่สามารถเอาชนะอุปสรรคได้ เขาก็จะหันออกมาและเดินอ้อมไป ซึ่งก็ได้พบวิธีที่จะก้าวไปข้างหน้า และระหว่างทาง ก็ได้พบหลายสิ่งที่คิดว่ามีประโยชน์มากสำหรับผู้คน


ในชีวิตของเขา เขาได้ท้าทายหลายสิ่ง พบทางออกสำหรับหลายสิ่ง ซึ่งคนรุ่นต่อไปและคนอื่นๆ จะปรับปรุงมันให้ดียิ่งขึ้นไปอีก เขาหวังว่า หากคนรุ่นใหม่รู้สึกตื่นเต้นกับสิ่งที่เขาได้พูดและกำลังทำ พวกเขาจะรับมันไปและจะสร้างโลกที่เราจินตนาการ โลกแห่งความฝันของเราก็จะเป็นจริงขึ้นมา


บทส่งท้ายของการสัมภาษณ์

โดยธันย์ชนก จงยศยิ่ง


เป็น 20 นาทีของการพูดคุยที่คุ้มค่าและเราสัมผัสได้ว่า ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ความคิดเล็กๆ สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ หากเรามีความมุ่งมั่นและไม่หยุดที่จะเดินหน้าต่อไป บทสัมภาษณ์นี้ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงความสำเร็จในอดีต แต่หวังว่าจะเป็นแรงบันดาลใจสำหรับอนาคตที่กำลังอยู่ในมือของคนรุ่นใหม่ด้วย



ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง