รีเซต

วิทยุสื่อสารระเบิดในประเทศเลบานอนเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

วิทยุสื่อสารระเบิดในประเทศเลบานอนเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
TNN ช่อง16
19 กันยายน 2567 ( 15:54 )
11
วิทยุสื่อสารระเบิดในประเทศเลบานอนเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

วันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา เกิดเหตุวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ใช้งานระเบิดอย่างรุนแรงในประเทศเลบานอน โดยสำนักข่าวบีบีซี อังกฤษ รายงานตัวเลขผู้เสียชีวิต 20 คน บาดเจ็บ 450 คน โดยเหตุระเบิดครั้งล่าสุดนี้เกิดขึ้นหลังจากเครื่องเพจเจอร์ระเบิดในประเทศเลบานอนเมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 12 คนและบาดเจ็บร่วม 3,000 คน


โดยคาดว่าวิทยุสื่อสารที่ระเบิดเป็นอุปกรณ์สื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์สั่งซื้อมาใช้เมื่อ 5 เดือนก่อน ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกันการสั่งซื้อเครื่องเพจเจอร์มาใช้ในการติดต่อสื่อสาร โดยกลุ่มฮิซบอลเลาะห์เชื่อว่าการใช้งานอุปกรณ์ทั้งชนิดนี้สามารถหลบเลี่ยงการถูกสอดแนมเก็บข้อมูลการติดต่อสื่อสารโดยหน่วยข่าวกรองอิสราเอล


ทางด้านของสำนักข่าวกรองแห่งชาติของรัฐบาลเลบานอน (NNA) รายงานว่าวิทยุที่ระเบิดดังกล่าวว่าเป็นวิทยุ VHF แบบพกพา ICOM-V82 ซึ่งผลิตโดยบริษัท ICOM ในประเทศญี่ปุ่น มีการผลิตและส่งออกไปยังตะวันออกกลางตั้งแต่ช่วงปี 2004 ถึงเดือนตุลาคม 2014 และหยุดผลิตไปแล้วประมาณ 10 ปี นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอการระเบิด และภาพชิ้นส่วนวิทยุ VHF แบบพกพา ICOM-V82 ในสภาพที่พังเสียหายจากแรงระเบิดที่รุนแรงบนโซเชียลมีเดีย


สำหรับรายละเอียดของวัตถุระเบิดยังไม่พบข้อมูลว่าเป็นระเบิดชนิดเดียวกับที่ใช้ในระเบิดเพจเจอร์เมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา หรือไม่ โดยในครั้งนั้นใช้ผู้ก่อเหตุใช้สารระเบิด PETN หรือ Pentaerythritol Tetranitrate ซึ่งเป็นวัสดุระเบิดร้ายแรงชนิดหนึ่งในกลุ่ม "ดินระเบิดแรงสูง" มีคุณสมบัติไม่ละลายน้ำ สามารถใช้ใต้น้ำได้ แม้ใช้ในปริมาณเล็กน้อย 10-20 กรัม ก็สร้างความเสียหายได้รุนแรง เช่น นิ้วมือ ดวงตา และอาจทำให้เสียชีวิต


ในตอนนี้หน่วยข่าวกรองอิสราเอลยังไม่มีการแถลงการณ์หรือแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นระเบิดทั้ง 2 ครั้ง ที่ประเทศเลบานอน แต่สำนักข่าวบีบีซี อังกฤษ รายงานอ้างอิงจากแหล่งข่าวในสหรัฐอเมริกาและเลบานอนที่เปิดเผยข้อมูลกับสำนักข่าวนิวยอร์กไทมส์และรอยเตอร์ว่า หน่วยข่าวกรองอิสราเอลเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการฝังวัตถุระเบิดเอาไว้ในเพจเจอร์และวิทยุสื่อสาร


ที่มาของข้อมูล CNN, Reuters, Axios.com, BBC

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง