เครื่องบินอวกาศปริศนา X-37B ของกองทัพสหรัฐฯ อาจขึ้นทำการทดลองด้านพลังงานนอกโลก
จรวดขนส่งอวกาศ Atlas V ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ทะยานขึ้นจากศูนย์อวกาศเคนเนดีในรัฐฟลอริดา เพื่อนำส่งเครื่องบินอวกาศไร้คนขับ X-37B ขึ้นปฏิบัติการในวงโคจรโลกเป็นครั้งที่ 6 เมื่อช่วงเช้าของวันอาทิตย์ที่ 17 พ.ค.ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งตรงกับช่วงค่ำราว 19.00 น.ตามเวลาในประเทศไทย
เครื่องบินอวกาศซึ่งเป็นโดรนที่บังคับจากระยะไกลลำนี้ ได้ชื่อว่าเป็นพาหนะลึกลับของกองทัพอากาศสหรัฐฯ เนื่องจากแทบไม่เคยมีการเปิดเผยข้อมูลความสามารถของตัวเครื่องบิน รวมทั้งภารกิจที่ได้รับมอบหมายในแต่ละครั้ง
- สเปซเอ็กซ์เตรียมส่งนักท่องเที่ยวสู่ห้วงอวกาศลึกกว่าที่เคย ภายในปี 2022
- สนใจไหม นาซารับสมัครนักบินอวกาศไปเหยียบดวงจันทร์ครั้งใหม่
- นาซาส่ง "เตาอบอวกาศ" ขึ้นไปทดลองทำคุกกี้นอกโลก
เครื่องบินอวกาศ X-37B ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทโบอิง มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า "พาหนะทำการทดสอบในวงโคจร" (Orbital Test Vehicle - OTV) ได้ขึ้นปฏิบัติการนอกโลกเพื่อทำการทดลองลับต่าง ๆ มาตั้งแต่ปี 2010 โดยภารกิจแรกใช้เวลาถึง 8 เดือนอยู่ในห้วงอวกาศ
สำหรับภารกิจในครั้งนี้ นางบาร์บารา บาร์เรตต์ รัฐมนตรีว่าการกองทัพอากาศและกองทัพอวกาศสหรัฐฯ ระบุว่า จะมีการทดลองต่าง ๆ บนเครื่องบินอวกาศลำนี้มากกว่าภารกิจทุกครั้งที่ผ่านมา
การทดลองที่ว่านี้อาจรวมถึงการศึกษาผลกระทบจากรังสีในอวกาศต่อเมล็ดพืชและวัสดุต่าง ๆ ทั้งยังมีรายงานว่าจะมีการปล่อยดาวเทียม FalconSat-8 จากเครื่องบินอวกาศ เพื่อทดลองเปลี่ยนแสงอาทิตย์เป็นคลื่นไมโครเวฟที่สามารถส่งพลังงานลงมายังพื้นโลกได้อีกด้วย
เครื่องบินอวกาศ X-37B สร้างขึ้นตามแบบของกระสวยอวกาศที่มีคนขับ ซึ่งสหรัฐฯได้ปลดประจำการไปเมื่อปี 2011 แต่โดรนลึกลับลำนี้มีขนาดเล็กกว่า โดยมีความยาวของเครื่องราว 9 เมตร และระยะห่างระหว่างปลายปีกทั้งสองข้างเกือบ 4.6 เมตร มีน้ำหนักรวมเกือบ 5,000 กิโลกรัม ใช้พลังงานขับเคลื่อนในอวกาศจากแผงเซลล์สุริยะ สามารถร่อนผ่านชั้นบรรยากาศเพื่อกลับมาลงจอดยังพื้นโลกได้เหมือนกับกระสวยอวกาศรุ่นก่อน ๆ
ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่า เครื่องบินอวกาศ X-37B จะขึ้นปฏิบัติการนอกโลกเป็นเวลานานเท่าใดในครั้งนี้ แต่มีความเป็นไปได้ว่าอาจต้องใช้เวลานานหลายเดือน
ในภารกิจครั้งล่าสุดซึ่งเสร็จสิ้นลงเมื่อเดือนตุลาคมของปีที่แล้ว เครื่องบินอวกาศ X-37B ใช้เวลาอยู่ในวงโคจรโลกถึง 780 วัน ทำให้มีช่วงเวลาปฏิบัติภารกิจในอวกาศสะสมรวมกันแล้วถึง 2,865 วัน หรือกว่า 7 ปี