รีเซต

ส่อง กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ สำหรับแรงงานในระบบทุกกลุ่ม ช่วยมีเงินใช้หลังเกษียณ

ส่อง กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ สำหรับแรงงานในระบบทุกกลุ่ม ช่วยมีเงินใช้หลังเกษียณ
มติชน
31 มีนาคม 2564 ( 08:48 )
193

 

ข่าววันนี้ 31 มีนาคม 2564 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า จากการที่ประเทศไทยเข้าสู่การเป็น “สังคมผู้สูงอายุ” (Aging Society) และคาดว่า ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป จะมีคนไทยอายุถึง 60 ปี ปีละล้านคน แต่ประชาชนไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการออมและการวางแผนทางการเงินไว้ใช้หลังเกษียณ

 

ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนเมื่อเข้าถึงวัยสูงอายุมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพหลังเกษียณ และเป็นการสร้างวินัยการออมของประชาชนวัยทำงาน ครม.จึงมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติรวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ 1.ร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. ….และ 2.ร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. ….

 

น.ส.รัชดากล่าวว่า สำหรับร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. …. มีสาระสำคัญ คือ

1. จัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เป็นหน่วยงานของรัฐและมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบ

 

ใครมีสิทธิ์บ้าง ?

 

1. ลูกจ้างเอกชน

2. ลูกจ้างชั่วคราวของราชการ

3. พนักงานราชการ

4. เจ้าหน้าที่องค์การมหาชน

5. พนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยได้รับผลประโยชน์ในรูปแบบการจ่ายบำเหน็จบำนาญ และเป็นศูนย์กลางบูรณาการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับระบบบำเหน็จบำนาญ โดยรายได้ของ กบช. ไม่ต้องนำส่งคลัง

6.กำหนดให้ลูกจ้างที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปและไม่เกิน 60 ปี (ที่ไม่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) ต้องเป็นสมาชิกของ กบช.

 

 

2. กำหนดให้ลูกจ้างและนายจ้างส่งเงินสมทบแต่ละฝ่าย 

 

  • ปีที่ 1 – 3 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของค่าจ้าง
  • ปีที่ 4 – 6 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของค่าจ้าง
  • ปีที่ 7 – 9 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 7 ของค่าจ้าง
  • ปีที่ 10 เป็นต้นไป ไม่น้อยกว่าร้อยละ 7-10 ของค่าจ้าง

 

โดยกำหนดเพดานค่าจ้างสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาทต่อเดือน กรณีลูกจ้างเงินเดือนน้อยกว่า 10,000 บาท ให้นายจ้างส่งเงินฝ่ายเดียว หากลูกจ้างและนายจ้างต้องการส่งเพิ่ม สามารถส่งเพิ่มได้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 30 ของค่าจ้าง โดยไม่จำกัดเพดานค่าจ้าง

 

 

3. วิธีการรับเงินจาก กบช.

 

เมื่อสมาชิกอายุครบ 60 ปี สามารถเลือกรับบำเหน็จ ได้ดังนี้

 

1. เลือกรับบำเหน็จหรือบำนาญรายเดือนเป็นระยะเวลา 20 ปี กรณีเลือกบำเหน็จ ได้รับเงินเท่ากับจำนวนเงินสะสมที่ลูกจ้างส่ง เงินสมทบจากนายจ้าง รวมผลตอบแทน

 

2. กรณีเลือกบำนาญ แล้วต้องการเปลี่ยนเป็นบำเหน็จก็สามารถทำได้ เช่น รับบำนาญแล้ว 5 ปี ต้องเปลี่ยนเป็นบำเหน็จ จะได้รับเงินเท่ากับเงินบำนาญ 15 ปีที่เหลือ

 

3. กรณีที่ทุพพลภาพหรือเจ็บป่วยจนใกล้ถึงแก่ชีวิตก่อนครบอายุ 60 ปีบริบูรณ์ เมื่อออกจากงานแล้ว จะขอรับเงินสะสม เงินสมทบ บางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้

 

ทั้งนี้ น.ส.รัชดา กล่าวว่า ส่วนรายละเอียด ร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. …. นั้น มีสาระสำคัญ คือให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (คนบ.) มีอำนาจหน้าที่จัดทำนโยบาย แผนแม่บท และแนวทางการพัฒนาระบบบำเหน็จบำนาญในภาพรวมของประเทศ เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากปัจจุบันระบบบำเหน็จบำนาญทั้งภาครัฐและเอกชนอยู่ในการกำกับดูแลของหลายหน่วยงาน จนเกิดความซ้ำซ้อนทั้งการดำเนินงาน งบประมาณ และบุคลากร สำหรับองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ ประกอบด้วย 13 คน โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นกรรมการและเลขานุการ

 

น.ส.รัชดา กล่าวด้วยว่า แม้ว่าการจัดตั้ง กบช. จะทำให้รายได้ต่อเดือนของลูกจ้างลดลงและเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้นายจ้าง แต่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ลูกจ้างทำให้มีหลักประกันรายได้หลังเกษียณ ทำให้นายจ้างมีการจัดสวัสดิการที่เหมาะสมแก่ลูกจ้าง และการออมภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการลงทุนภายในประเทศ อีกทั้งช่วยบรรเทาภาระงบประมาณการจัดสวัสดิการผู้สูงอายุในอนาคต

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง