รีเซต

‘ชัชชาติ’ แนะ อยากได้แรงงาน มาหาใต้สะพานปิ่นเกล้า เยี่ยม ‘จุดบริการอิ่มใจ’ ช่วยคนไร้บ้าน ครบวงจร

‘ชัชชาติ’ แนะ อยากได้แรงงาน มาหาใต้สะพานปิ่นเกล้า เยี่ยม ‘จุดบริการอิ่มใจ’ ช่วยคนไร้บ้าน ครบวงจร
มติชน
31 ตุลาคม 2565 ( 17:41 )
84
‘ชัชชาติ’ แนะ อยากได้แรงงาน มาหาใต้สะพานปิ่นเกล้า เยี่ยม ‘จุดบริการอิ่มใจ’ ช่วยคนไร้บ้าน ครบวงจร

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 31 ตุลาคม ที่ส่วนการท่องเที่ยว สำนักงานวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว บริเวณใต้สะพานพระปิ่นเกล้า เขตพระนคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. นางอณุสรา ชื่นทรวง ผอ.สำนักพัฒนาสังคม นายสัมฤทธิ์ สุมาลี ผอ.เขตพระนคร ตรวจเยี่ยมจุดบริการอิ่มใจ (Drop – in) พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่

นายชัชชาติกล่าวว่า ปัญหาคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ มีความจำนวนมากขึ้น แม้ว่าตัวเลขที่ทางการบันทึกอยู่มีประมาณ 1,600-1,800 คน แต่เชื่อว่าคนไร้บ้านน่าจะมีมากกว่านั้น ที่ผ่านมา กทม.ได้จัดสถานที่บ้านอิ่มใจ ซึ่งเป็นที่อยู่ให้อาศัยชั่วคราว ตรงการประปานครหลวง สาขาแม้นศรี แต่ปัจจุบันได้ปิดไปแล้ว ทั้งนี้ คนไร้บ้านต้องไม่ไร้สิทธิ คนไร้บ้านมีสิทธิเหมือนคนทั่วไป แต่เป็นจังหวะอุปสรรคของชีวิต หรือพบความรุนแรงภายในครอบครัว จึงต้องมาอาศัยนอกบ้าน

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า ทาง กทม.มีหลักการคือ ต้องดูแลให้มีอาหาร อำนวยความสะดวกเรื่องสิทธิต่างๆ เช่น หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยเลี้ยงคนพิการ เป็นต้น จัดสถานที่อาบน้ำ ซักเสื้อผ้า ช่วยหางานทำ ปัจจุบันจะเห็นว่ามีคนไร้บ้านจำนวนมากอยู่ที่ถนนราชดำเนินกลาง เพราะมีประชาชนมาแจกอาหารบริเวณนี้จำนวนมาก แต่ทาง กทม.อยากให้มาบริจาคอาหารอยู่ที่จุดเดียว ที่บริเวณใต้สะพานพระปิ่นเกล้า เพื่อให้มีการบริหารจัดการสะดวกมากขึ้น ทำให้คนไร้บ้านมาจุดตรงนี้ ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น การให้บริการซักผ้าอบผ้า อาบน้ำ การตรวจสุขภาพ การสมัครงาน ผ่านโครงการจ้างวานข้า รวมถึงทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ตั้งโต๊ะลงทะเบียนให้คนไร้บ้านกลับภูมิลำเนา หรือไปอยู่ที่อาศัยผ่านศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง

“บางคนกลัวคนไร้บ้าน แต่ไม่ต้องกลัวนะ จากข้อมูลที่มีคนไร้บ้านที่มีปัญหาสภาพจิตไม่เยอะ ถ้ามีปัญหาเราต้องไปแก้ไขให้เร็ว เชื่อว่าตอนนี้นักท่องเที่ยวกลับมา ตลาดแรงงานมีความต้องการ แม่บ้าน รปภ. ถ้าต้องการแรงงาน ให้มาจุดนี้ได้” นายชัชชาติกล่าว

ด้าน นายศานนท์ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ที่ผ่านมาเมื่อคนไร้บ้านมีงานทำจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่ง กทม.ร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา จัดหาตำแหน่งงานรายวันให้กับคนไร้บ้าน ทั้งงานรักษาความสะอาด งานคัดแยกขยะ อย่างไรก็ตาม ต้องขอความร่วมมือประชาชน ให้มาแจกอาหารที่จุดนี้ เพื่อทำให้การบูรณาการมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ด้าน นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดแผนงานพัฒนาองค์ความรู้ฯ สุขภาวะคนไร้บ้าน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่าคนไร้บ้านหน้าใหม่มีมากถึง 30-40% ที่ประสบปัญหาสถานการณ์โรคโควิด-19 จากการตกงาน หลักสำคัญคือ “ต้องช้อนให้ไว” การมีจุด Drop – in จะช่วยอุ้มคนไร้บ้าน ถ้าไม่มีตรงนี้สถานการณ์คนไร้บ้านจะแย่กว่านี้

สำหรับ จุดบริการอิ่มใจ (Drop – in) ที่บริเวณอาคารส่วนท่องเที่ยว ใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เป็นการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงาน กทม.ประกอบด้วย สำนักพัฒนาสังคม สำนักวัฒนธรรมกีฬาและการท่องเที่ยว สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย สำนักงานเขตพระนคร เพื่อให้คนไร้บ้านเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐาน อาทิ มีจุดทำบัตรประจำตัวประชาชน มีหน่วยปฐมพยาบาลที่ให้บริการยาสามัญประจำบ้านและวิเคราะห์อาการเบื้องต้นเพื่อส่งต่อศูนย์บริการสาธารณสุข 9 (ประชาธิปไตย) ที่อยู่ใกล้เคียงบริการปรึกษาอาชีพและการจัดหางาน

ทั้งนี้ กทม.ยังได้ร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา เพี่อรับคนไร้บ้านเข้าทำงานในโครงการ “จ้างวานข้า” รวมถึงยังมีจุดบริการ “ซัก อบ อาบ” ที่ได้รับการสนับสนุนรถซักผ้าเคลื่อนที่ Chumanee Laundry Move โดย บริษัท ชูมณี นอกจากนี้ ยังมีจุดแจกอาหารให้กับคนไร้บ้าน ซึ่งผู้ที่สนใจบริจาคอาหารสามารถแจ้งความประสงค์และนำมาบริจาคกับเจ้าหน้าที่ได้ที่จุด Drop – in ใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า หรือที่สำนักงานเขตพระนคร

สำหรับจุดดร็อปอิน (Drop – in) ในกรุงเทพฯ มีทั้งหมด 4 จุด คือตรอกสาเก อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา หัวลำโพง และจุดหลักอยู่ที่บริเวณใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง