รีเซต

โครงการลับ Facebook แอบส่องข้อมูลผู้ใช้ ? ทั้งซื้ออะไรบน Amazon และดูอะไรบน Youtube

โครงการลับ Facebook แอบส่องข้อมูลผู้ใช้  ? ทั้งซื้ออะไรบน Amazon และดูอะไรบน Youtube
TNN ช่อง16
30 มีนาคม 2567 ( 14:04 )
38

เมตา (Meta) ตกเป็นข่าวในด้านลบอีกครั้ง เมื่อเอกสารใหม่ล่าสุดที่เผยแพร่ในระหว่างการฟ้องร้องของผู้บริโภคกับ Meta ผู้ให้บริการเฟซบุ๊ก (Facebook) ได้ทำให้รู้ว่ามีโครงการลับที่ชื่อว่า “โกสต์บัสเตอร์ส” (Ghostbusters) ที่จะแอบล้วงข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานของผู้ใช้ Facebook เมื่อใช้งานแอปพลิเคชันแชตอย่างสแนปแชต (Snapchat) รวมถึงการใช้งานเมื่อสั่งซื้อของบนแอมะซอน (Amazon) แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชื่อดัง และแม้แต่การดูวิดีโอบนยูทูบ (Youtube) ก็ไม่รอดพ้นโครงการลับนี้


ที่มาเอกสารโครงการลับแอบส่องข้อมูลผู้ใช้ Facebook

เอกสารข้อมูลดังกล่าวเปิดเผยโดย ไบรอัน เจ ดูน (Brian J. Dunne) ทนายความที่ยื่นต่อศาลแขวงเหนือในรัฐแคลิฟอร์เนียในปี 2023 ประกอบคดีที่ยื่นฟ้องว่าเมตามีพฤติการณ์ขัดขวางการแข่งขันอย่างเป็นธรรมและมีการนำเข้ามูลผู้ใช้ไปหาผลประโยชน์ในปี 2020 ในโครงการที่ชื่อว่า Ghostbusters ซึ่งล้อมาจากตรา (Logo) ของแอปพลิเคชัน Snapchat ที่เป็นรูปการ์ตูนผี 


โครงการดังกล่าวเป็นการพัฒนาการสร้างคำสั่งภายในแอปพลิเคชัน (In-App Action Panel: IAPP) เพื่อให้ทำงานในเบื้องหลังแอปพลิเคชัน Facebook ที่ใช้งานระหว่างปี 2016 - 2019 ตามการสั่งการ “โดยตรง” จากผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) อย่างมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) 


วิธีการแอบส่องข้อมูลของ Facebook

โดยปกติแล้วข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้ เช่น ประวัติการสนทนา การตอบโต้ต่าง ๆ หรือประวัติการเยี่ยมชม จะถูกส่งไปยังผู้ให้บริการแบบเข้ารหัส ซึ่งนอกจากผู้ให้บริการแล้วจะไม่มีทางที่ถอดรหัสและเข้าถึงข้อมูลโดยตรงได้ 


ดังนั้น มาร์กจึงสั่งให้ทีมดักข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์ โดยอาศัยเทคโนโลยีที่มีพื้นฐานจากบริการเครือข่ายส่วนตัวเสมือน (Virtual Private Network: VPN) ซึ่งเป็นการทำให้ระบบเฟซบุ๊กเสมือนเป็นส่วนหนึ่งในระบบติดต่อภายในระหว่างผู้ใช้กับแอปพลิเคชันที่เฟซบุ๊กดักเก็บข้อมูล


เทคโนโลยีที่ว่านี้มาจากบริษัทผู้ให้บริการ VPN ที่ชื่อว่าออนนาโว (Onavo) ที่ Meta หรือ Facebook ในขณะนั้นซื้อกิจการไปในปี 2013 ซึ่งภายหลังก็ตกเป็นข่าวว่าทางบริษัทได้จ่ายเงินให้กับเหล่าวัยรุ่นเพื่อใช้บริการของบริษัทเพื่อหลอกอ่านข้อมูลการเข้าใช้งานเว็บไซต์ โดยหลักการคล้ายกันนี้ได้นำมาใช้กับโครงการ Ghostbusters ซึ่งสามารถทำงานได้ทั้งบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) และไอโอเอส (iOS) ซึ่งเรียกว่าเป็นชุดเครื่องมือ (Kits - มีหลายชุดตามรายงานข่าว)


โดยสรุปแล้ว การทำงานของชุดเครื่องมือเหล่านี้จะเป็นตัวกลางระหว่างผู้ใช้งาน กับแอปพลิเคชันเป้าหมาย ซึ่งเริ่มจาก Snapchat ก่อนจะขยายเป้าหมายไปยัง Amazon และ Youtube แต่รายละเอียดอื่น ๆ ทางทนายที่ยื่นเรื่องได้ปิดเป็นความลับเอาไว้


ปฏิกิริยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแอบส่องของ Facebook

ทั้งนี้ เปโดร คานาฮัวติ (Pedro Canahuati) หัวหน้าวิศวกรความปลอดภัยในเวลานั้น ได้เขียนโต้ตอบอีเมลว่า “ผมไม่สามารถหาข้ออ้างดี ๆ ในการที่จะบอกว่านี่ (โครงการ Ghostbusters) เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ ไม่มีใครในวงการนี้จะรู้สึกดีกับเรื่องนี้ ไม่สำคัญว่าจะได้ความยินยอมใด ๆ จากสาธารณชน เพราะคนเหล่านั้นแค่ไม่รู้ว่าสิ่งนี้ทำงานยังไง”


ส่วน Snapchat เชื่อว่าโครงการ Ghostbuster ทำให้บริษัทเสียผลประโยชน์จากรายได้โฆษณา แต่ในกระบวนการฟ้องร้อง Meta ได้ยื่นคำคัดค้านโดยให้เหตุผลส่วนหนึ่งว่า พยานหลักฐานที่ Snapchat ยื่นมาก็ไม่สามารถหาข้ออ้างที่จะบอกได้ว่ารายได้และจำนวนโฆษณาที่ลดลงนั้นมาจาก “โครงการวิจัยผลิตภัณฑ์” ของ Meta แต่อย่างใด


ในขณะที่ แมชอะเบิล (Mashable) สำนักข่าวออนไลน์ชื่อดังที่เป็นหนึ่งในสำนักข่าวที่รายงานเรื่องนี้ได้ทำเรื่องเพื่อขอความเห็นจาก Meta แต่ ณ วันที่ TNN Tech ได้รับรายงานข่าว Meta ไม่ได้มีปฏิกิริยาใด ๆ ต่อข่าวนี้ รวมถึง Snapchat, Google ที่เป็นเจ้าของ Youtube และ Amazon ด้วยเช่นกัน 


ทั้งนี้ TNN Tech มองว่า ภาพรวมของการฟ้องร้องในครั้งนี้ไปไกลกว่าการละเมิดสิทธิผู้บริโภค แต่กลายเป็นเรื่องของการเขย่าภาพจำความปลอดภัยที่มีต่อแพลตฟอร์มต่าง ๆ รวมถึงเป็นการตั้งคำถามด้วยว่า ผู้บริโภคมีความเป็นส่วนตัวที่แท้จริงในโลกออนไลน์หรือไม่


ข้อมูลจาก MashableArs Technica

ภาพจาก Reuters

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง