รีเซต

"ประพันธ์ บุณยเกียรติ"ปธ.บอร์ด กยท. ลุยอัพเกรดยาง

"ประพันธ์ บุณยเกียรติ"ปธ.บอร์ด กยท. ลุยอัพเกรดยาง
มติชน
29 สิงหาคม 2563 ( 08:22 )
150
"ประพันธ์ บุณยเกียรติ"ปธ.บอร์ด กยท. ลุยอัพเกรดยาง

แผนยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปีซึ่งการยางแห่งประเทศไทยได้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นกรอบทิศทางในการพัฒนาและแก้ปัญหายางพาราทั้งระบบ ชาวสวนยางมีรายได้ที่มั่นคง ส่งเสริมอุตสาหกรรมยางพารา พัฒนาระบบตลาดและช่องทางการจัดจำหน่ายยางพาราทั้งในและต่างประเทศ

 

ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์ได้กำหนดเป้าหมายที่ต้องทำให้สำเร็จภายในปี 2579 คือ

 

1) ลดจำนวนพื้นที่ปลูกยาง จาก 23.3 ล้านไร่ (ปี 59) เหลือ 18.4 ล้านไร่

2) เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตต่อหน่วยพื้นที่ เฉลี่ย 224 กก./ไร่ (ปี 59) เป็น 360 กก./ไร่

3) เพิ่มรายได้จากการทำสวนยาง จาก 11,984 บาท/ไร่ เป็น 19,800 บาท/ไร่

4) เพิ่มมูลค่าการส่งออกยางพาราจาก 250,000 ล้านบาท/ปี เป็น 800,000 ล้านบาท/ปี 5) เพิ่มสัดส่วนการใช้ยางภายในประเทศ จากร้อยละ 13.6 (ปี 59) เป็นร้อยละ 35

 

ในการให้สัมภาษณ์พิเศษ  นายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานกรรมการ (บอร์ด) การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้พูดคุยเกี่ยวกับการดำเนินงานของ กยท.หลังจากนี้

 

โดยระบุว่าจะเน้นพัฒนายางพาราที่มีคุณภาพสูง ภายใต้สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง คือรัฐออกแบบให้มีการเก็บเงินจากการส่งออกยางให้เป็นกองทุน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการปลูกยางพันธุ์ดี


ปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่ผลิตยาง เป็นอันดับ 1 ของโลก หรือประมาณ 35% ของโลก โดยพบว่ามีคนไทยมาขึ้นทะเบียนปลูกยางพารากับ กยท.กว่า 1.7 ล้านคน ซึ่งถือได้ว่ายางพารามีส่วนเกี่ยวข้องกับคนไทยเป็นอย่างมาก สังเกตได้จากการซื้อรถกระบะในช่วงที่ราคาปรับขึ้น ซึ่งในอดีตมีราคาขายสูงถึง 150 บาทต่อกิโลกรัม ฉะนั้นเมื่อราคายางปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 30-40 บาทต่อกิโลกรัม เกษตรกรชาวสวนยางจึงได้รับความเดือดร้อนทันที เพราะยางพาราถือเป็นอาชีพหลักของหลายชีวิต ดังนั้น กยท.ต้องเร่งพัฒนาและผลักดันราคายางให้ชาวสวนได้รับประโยชน์มากที่สุดต่อไป

 

สำหรับแนวทางการดำเนินงานในปัจจุบัน มองว่าความรู้ชั้นสูงไม่ได้อยู่ในประเทศของผู้ผลิต แต่อยู่ในต่างประเทศ อาทิ อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และจีน แม้แต่เกาหลีที่ไม่มีการปลูกยางพารา ยังมีเทคโนโลยีพัฒนายางได้สูงกว่าไทย ดังนั้น การที่จะทำให้ยางพาราแข็งแกร่งได้คือต้องสร้างไทยให้เป็นแหล่งองค์ความรู้ตั้งแต่ขั้นต้น ขั้นกลาง จนถึงขั้นสูงให้ได้

 

ในส่วนของการดำเนินงานขั้นต้น ทาง กยท.จะเริ่มให้งบประมาณ ด้านทุนการศึกษาเกี่ยวกับยางพารา ให้กับนักศึกษาปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกที่สนใจเรียนเรื่องที่เกี่ยวกับยางพารา สามารถเข้ามาขอทุนสนับสนุนจากงบประมาณฯ ในส่วนนี้ได้ โดยการสนับสนุนดังกล่าวจะเริ่มในปี 2564 วงเงินอยู่ที่ประมาณ 40 ล้านบาทต่อปี

 

โดยในระยะแรก จะเริ่มจากให้ทุนกับนักศึกษาปริญญาตรี เป็นลูกหลานชาวสวนยางก่อน และต้องเรียนสาขาที่เกี่ยวข้องกับยางพาราเท่านั้น ส่วนปริญญาโท และปริญญาเอก เรียนคณะใดก็ได้ แต่งานวิจัยจะต้องเกี่ยวข้องกับยางพาราเท่านั้น จึงจะขอทุนในส่วนนี้ได้

 

ซึ่งจุดประสงค์ของการมอบทุนการศึกษาในครั้งนี้ เพื่อต้องการสร้างแรงงานที่เป็นลูกหลานชาวสวนยาง และสร้างบุคลากรที่มีความรู้เรื่องยางพารา ป้อนให้กับอุตสาหกรรมยางเพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต

 

อีกทั้งต้องมีการสนับสนุนธุรกิจสตาร์ตอัพ ทั้งในเรื่องช่วยเหลือแหล่งเงินทุน และติดอาวุธให้สามารถแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้ ซึ่งในส่วนนี้ กยท.มีงบประมาณในการสนับสนุนประมาณ 3,000 ล้านบาท แต่อาจจะต้องมีการแก้ไขกฎระเบียบให้ผู้ประกอบการสตาร์ตอัพ สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้ได้ ซึ่งมองว่าเรื่องนี้ต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบบิ๊กดาต้า เพื่อให้รู้ถึงปริมาณการปลูกยางที่ชัดเจน และจะได้มีการจัดการกับผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพดันมาร์จิ้นให้สูงขึ้นต่อไป

 

อีกสิ่งหนึ่งที่ไทยจะต้องสู้ คือในเรื่องของผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ ที่ยังไม่สามารถตีตลาดยุโรปได้เนื่องจากคนยุโรปมีการแพ้โปรตีนในยางธรรมชาติของไทย ซึ่งในปัจจุบันถุงมือที่หลายประเทศใช้เป็นถุงมือที่ผลิตจากยางสังเคราะห์เป็นส่วนใหญ่ หรือประมาณ 80% อีก 20% เป็นยางธรรมชาติ ซึ่งสิ่งที่ยังทำให้ถุงมือจากยางธรรมชาติยังอยู่ได้ เนื่องจากมีคุณสมบัติที่สามารถกระชับไปกับผิว เหมาะกับถุงมือที่ใช้ทางการแพทย์

 

 

หลังจากนี้ กยท.จะต้องมุ่งมั่นในเรื่องของการวิจัยและพัฒนาเป็นอย่างมาก โดยอาศัยความร่วมมือจากนักวิชาการที่มีความรู้ และนักวิจัยที่เป็นที่ยอมรับระดับโลก มาร่วมกันพัฒนาถุงมือยางธรรมชาติ ให้เป็นที่ยอมรับ ก่อนจะหาแนวทางประชาสัมพันธ์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันต่อไป

 

สิ่งที่ไทยจะต้องรีบสร้างให้ได้ คือ โปรดักต์แชมเปี้ยน ยกตัวอย่างประเทศมาเลเซียที่ถือเป็นประเทศที่มีการผลิตถุงมือยางเป็นอันดับ 1 ของโลก ส่วนไทยตอนนี้อยู่ที่อันดับ 3 ของโลก ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่าในภาวะนี้ราคาถุงมือยางมีการปรับราคาขึ้น 100-200% แต่ทำไมราคาน้ำยางถึงไม่ขึ้นตาม แต่ต้องมองจากพื้นฐานความเป็นจริงว่าโลกธุรกิจที่วัดกันจากผลกำไร และอาศัยปัจจัยหลายอย่างเพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งเป็นคนละส่วนกับราคายาง

 

ดังนั้น ไทยควรทำธุรกิจต้องมีกำไรข้างต้น หรือมาร์จิ้น ที่สูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันในแง่วัตถุดิบไทยมีการส่งออกยางพารากว่า 85% ส่วนอีก 15% นำมาใช้ในประเทศ และผลิตสินค้าเพื่อส่งออกโดยหลักๆ แล้วไทยมีการส่งออก ยาง 3 ประเภท ได้แก่ ยางแห้ง ยางแผ่นรมควัน และน้ำยางข้น ซึ่งมีมาร์จิ้น

 

เพียงนิดเดียวเท่านั้น มองว่าถึงเวลาที่ กยท.จะต้องหาสินค้าที่มีมาร์จิ้นสูงให้ได้ รวมทั้งส่งเสริมสินค้าบางชนิดให้เป็นโปรดักต์แชมเปี้ยนแบบมาเลเซีย และต้องสร้างศูนย์องค์ความรู้ระดับโลก โดยเริ่มจากแข่งกับกลุ่มประเทศอาเซียนตั้งเป้าว่าไทยต้องเป็นเบอร์ 1 ให้ได้

 

สอดคล้องกับการพัฒนา โครงการรับเบอร์วัลเลย์ ที่ต้องการสร้างให้เป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้านวัตกรรมเกี่ยวกับยางพาราครบวงจรของโลกในอนาคต โดยเลือกพื้นที่ใน จ.นครศรีธรรมราช พื้นที่ประมาณ 1.04 หมื่นไร่ ซึ่งอยู่ในพื้นที่สีม่วงหรือพื้นที่ที่สามารถทำอุตสาหกรรมได้ โดยในรับเบอร์วัลเลย์จะเริ่มตั้งแต่องค์ความรู้เรื่องการจัดการสวนยาง แม้แต่การวิจัยที่ตอบโจทย์ความต้องการสมัยใหม่

 

ทั้งนี้ จะมีการดึงมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้เข้ามาตั้งคณะในพื้นที่โดยมี กทย.ให้การสนับสนุนอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีข้อดีในส่วนของพื้นที่ตั้งมีซัพพลายยางมหาศาล ดังนั้น รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะช่วยกันผลักดันให้รับเบอร์วัลเลย์เกิดขึ้นโดยเร็ว เบื้องต้นอยู่ระหว่างการศึกษาความคุ้มค่าของรับเบอร์วัลเลย์ คาดจะเห็นข้อสรุปภายในสิ้นปี 2563 และเริ่มก่อสร้างระยะเวลา 3-4 ปี ระหว่างนี้ กยท.จะหารือกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในการปรับเงื่อนไขเพื่อจูงใจนักลงทุน ให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ (เอส เคิร์ฟ) รวมถึงปรับหลักเกณฑ์ให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) สามารถขอยื่นขอส่งเสริมการลงทุนได้อีกด้วย

 

นายประพันธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ส่วนในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบเกี่ยวกับยางพาราถือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ และต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในส่วนของการจัดงานประชาสัมพันธ์ ยกตัวอย่าง งานวันยางบึงกาฬ ถือเป็นแนวทางการจัดงานที่ดี แต่อาจจะต้องมีการคุยกับจังหวัดบึงกาฬว่าในอนาคตอาจจะมีการย้ายไปบุกตลาดในจังหวัดอื่นบ้าง เพื่อเพิ่มความหลากหลายของรูปแบบการจัดงาน ทั้งนี้ กยท.ก็พร้อมที่จะสนับสนุนเต็มที่Ž

ข่าวที่เกี่ยวข้อง