รีเซต

คมนาคม ชูเอ็มอาร์-แมป เชื่อมท่าเรือชุมพร-ระนอง 1.1 แสนล้าน หนุนแลนด์บริดจ์

คมนาคม ชูเอ็มอาร์-แมป เชื่อมท่าเรือชุมพร-ระนอง 1.1 แสนล้าน หนุนแลนด์บริดจ์
มติชน
21 กุมภาพันธ์ 2565 ( 09:27 )
133

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุถึงความคืบหน้าผลศึกษาพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (เอ็มอาร์ แมป) ว่า ขณะนี้ กรมทางหลวง (ทล.) อยู่ระหว่างประชุมรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำรายละเอียดแผนแม่บทโครงการดังกล่าว ซึ่งตามเป้าหมายกระทรวงฯ คาดว่าจจะสามารถสรุปแผนแม่บท เอ็มอาร์ แมป ภายในปี 2565 และเริ่มดำเนินการในขั้นตอนจัดหาเอกชนร่วมลงทุน

 

สำหรับแผนแม่บทดังกล่าว กระทรวงฯ ศึกษาพัฒนาจะมอเตอร์เวย์บูรณาการคู่ไปกับรถไฟทางคู่ 9 เส้นทาง ตั้งแต่เหนือจรดใต้ (N-S Corridors) และตะวันออกจรดตะวันตก (E-W Corridors) และเชื่อมกับเส้นทางรางรถไฟจะรองรับรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง และรถไฟสายใหม่ ที่จะทยอยก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการ ปี 2566-2580 โดยแนวเส้นทางเอ็มอาร์ แมป ทั้งหมดมีระยะทาง 7,003 กิโลเมตร (กม.) โดยพัฒนาเป็นมอเตอร์เวย์ร่วมกับระบบราง 4,321 กม.

 

ขณะที่แผนดำเนินการระยะแรก กระทรวงฯ จะผลักดันพัฒนา 4 เส้นทางแรกที่มีศักยภาพ และจะสนับสนุนการคมนาคมขนส่ง ประกอบไปด้วย 1.เส้นทาง MR2 กรุงเทพฯ-ชลบุรี (แหลมฉบัง)-หนองคาย (ด่านหนองคาย) ช่วงนครราชสีมา-แหลมฉบัง 2.เส้นทาง MR5 กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์)-อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6) ช่วงนครราชสีมา-อุบลราชธานี 3.เส้นทาง MR8 ชุมพร-ระนอง และ 4.เส้นทาง MR10 เชื่อมต่อกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

 

โดยความคืบหน้าล่าสุด การศึกษาในเส้นทางศักยภาพสูงอย่างเส้นทาง MR8 ชุมพร-ระนอง มีความชัดเจนในส่วนของแนวเส้นทางแล้ว โดยจะมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่บริเวณแหลมริ่ว ตำบลบางน้ำจืด อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร และสิ้นสุดโครงการที่บริเวณอ่าวอ่าง ตำบลราชกรูด อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง โดยจะก่อสร้างมีทางเข้าออก 3 แห่ง ทางแยกต่างระดับ 3 แห่ง ศูนย์บริการทางหลวง 1 แห่ง สถานกที่บริการทางหลวง 1 แห่ง และจุดพักรถ 1 แห่ง

 

ผลการศึกษายังประมาณราคาของแนวเส้นทางเบื้องต้น ช่วงแหลมริ่ว-อ่าวอ่าง วงเงินลงทุน 114,775 ล้านบาท แบ่งเป็น ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 91 กม. เป็นค่าเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 1,970 ล้านบาท ราคาค่าก่อสร้าง 66,690 ล้านบาท รวม 68,660 ล้านบาท ส่วนทางรถไฟจะก่อสร้าง 91 กม. เป็นค่าเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 330 ล้านบาท และราคาค่าก่อสร้างโครงการอีก 45,785 ล้านบาท รวมใช้งบประมาณ 46,115 ล้านบาท

 

ประโยชน์ของการพัฒนาโครงการเอ็มอาร์ แมป ชุมพร – ระนอง จะลดพื้นที่การเวนคืนประมาณ 2 พันไร่ เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีกการบูรณาการมอเตอร์เวย์ร่วมกับระบบราง รวมทั้งจะเป็นเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้งอ่าวไทยและอันดามันตามนโยบายแลนด์บริดจ์ ช่วยให้เกิดความรวดเร็วและความปลอดภัยในการขนส่ง เชื่อมโนงการเดินทางและการขนส่งระหว่างพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้ (เอสอีซี) และพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง