รีเซต

10 วิธีเอาตัวรอดสู้ "น้ำท่วม" พร้อมอุปกรณ์ที่ต้องมี ทำอย่างไรให้ปลอดภัย?

10 วิธีเอาตัวรอดสู้ "น้ำท่วม" พร้อมอุปกรณ์ที่ต้องมี ทำอย่างไรให้ปลอดภัย?
TNN ช่อง16
15 สิงหาคม 2565 ( 08:57 )
231

สถานการณ์น้ำท่วมยังส่งผลกระทบหลายจังหวัดในประเทศไทย และเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในบางแห่งที่พื้นที่ต่ำ รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ด้วย ล่าสุด ส่วนอำนวยการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 3 ได้ให้ข้อมูล คำแนะนำ 10 วิธีสู้ "น้ำท่วม" ทำอย่างไรให้ปลอดภัย พร้อมอุปกรณ์ที่ต้องมี รวมทั้งเบอร์โทรฉุกเฉินที่สำคัญ จะมีอะไรบ้างนั้น ติดตามได้เลย...

10 วิธีสู้ "น้ำท่วม" ทำอย่างไรให้ปลอดภัย

1. ประกาศเตือนภัยน้ำท่วม

ตามปกติหากสถานการณ์ไม่น่าไว้ใจ เจ้าหน้าที่จะเริ่มประกาศเตือนภัย หากได้ยินประกาศเตือนภัยน้ำท่วม สิ่งที่ต้องทำทันทีคือ ติดต่อสอบถามหน่วยงานที่จัดการด้านน้ำท่วม หรือหาข้อมูลด้วยตัวเองว่า ภายในละแวกบ้านของคุณเคยเกิดน้ำท่วมสูงที่สุดประมาณกี่เมตร จากนั้นก็คาดคะเน เตรียมการจัดเก็บของขึ้นที่สูงให้พ้นน้ำ

2. จดเบอร์โทรศัพท์สำคัญของหน่วยงานต่างๆ

เตรียมจดเบอร์โทรศัพท์สำคัญของหน่วยงานต่างๆ ไว้ เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้โทรขอความช่วยเหลือได้ทันท่วงที เช่น

- ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ติดต่อกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โทร. 1784

- ประสานงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน หรืออุบัติเหตุ โทรฟรี 1669 หรือ 0-2591-9769 ตลอด 24 ชั่วโมง

- สอบถามสภาพอากาศกรมอุตุนิยมวิทยา โทร. 0-2398-9830


3. คาดคะเนความเสียหายที่จะเกิดขึ้นที่บ้านของคุณ 

สำรวจเส้นทางการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุดจากบ้าน ไปยังที่สูงหรือพื้นทีซึ่งน้ำไม่ท่วมถึง พร้อมโทรหาประกันรถยนต์ ประกันทรัพย์สินต่างๆ ที่คุณทำไว้

4. เตรียมเสบียงอาหารสำเร็จรูป 

น้ำดื่ม อาหารแห้ง และอุปกรณ์จำเป็นอื่นๆ เช่น เสื้อชูชีพ บูทกันน้ำแบบขายาว วิทยุแบบพกพา อุปกรณ์ทำอาหารฉุกเฉิน เทียนไข ไฟแช็ก และไฟฉาย รวมทั้งแบตเตอรี่สำรอง ทำบันทึกรายการทรัพย์สินมีค่าทั้งหมด ถ่ายรูปหรือวิดีโอเก็บไว้เป็นหลักฐาน

5. เตรียมยารักษาโรคให้พร้อม 

ยาโรคประจำตัวและยาสามัญประจำบ้าน ได้แก่ ยาลดไข้ ยาแก้ท้องเสีย ยาแก้น้ำกัดเท้า ยาทาแผล และยาแก้พิษจากการกัดต่อยของสัตว์มีพิษ แต่ถ้าบ้านไหนมีคนพิการ คนป่วย เด็กทารก หรือสตรีมีครรภ์ใกล้คลอด ควรแจ้งหน่วยงานราชการทันที

6. จัดหาอุปกรณ์และวัสดุที่จะนำมากั้นไม่ให้น้ำเข้าตัวบ้าน

เช่น กระสอบทราย แผ่นพลาสติก ไม้แผ่น ตะปู กาวซิลิโคน เป็นต้น รวมถึงสิ่งป้องกันน้ำอื่นๆ เช่น รองเท้าบูท ถุงมือกันน้ำ กางเกงใน ผ้าอนามัย ผ้าอ้อมเด็ก ยาทากันยุง ยาฆ่าแมลง ทำอุปกรณ์จัดเตรียมสำหรับเก็บของเสียจากการขับถ่าย

7. ย้ายปลั๊กไฟและสวิตช์ไฟฟ้าที่อยู่ในระดับต่ำ ให้อยู่สูงขึ้น

ถ้ายังพอมีเวลา ควรพิจารณาย้ายปลั๊กไฟและสวิตช์ไฟฟ้าที่อยู่ในระดับต่ำ ให้อยู่สูงขึ้น ถ้าย้ายไม่ทันแล้ว ก็ให้ตัดไฟฟ้าให้เรียบร้อย ตรงไหนเสี่ยงจะเกิดไฟรั่ว ก็จัดการปิดสวิตช์หรือพันหุ้มสายไฟต่างๆ ให้เรียบร้อย ป้องกันไฟรั่วไฟดูด


8. ห้ามออกมาเดินลุยน้ำระหว่างที่น้ำไหลเชี่ยว

ถ้าน้ำมาเร็ว ไหลแรง และท่วมสูงเร็ว ข้อควรปฏิบัติคือ ห้ามออกมาเดินลุยน้ำระหว่างที่น้ำไหลเชี่ยวกราก เพราะอาจเสียหลักล้มได้ ยิ่งว่ายน้ำไม่เป็นก็เสี่ยงต่อการจมน้ำเสียชีวิต หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำออกมา ต้องใส่เสื้อชูชีพ มีไม้ค้ำระหว่างเดิน เพื่อวัดความลึกของน้ำในจุดที่จะต้องเดินผ่าน

9. ห้ามเข้าใกล้อุปกรณ์ไฟฟ้าและสายไฟ 

ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าทันทีหากน้ำไหลทะลักเข้าบ้านแล้ว แม้ในขณะที่ไม่เสียบปลั๊กก็ห้ามใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่เปียกน้ำ ระวังแก๊สรั่ว และให้ระวังสัตว์อันตราย เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง เป็นต้น

10. ใส่รองเท้าทุกครั้งที่ต้องเดินลุยน้ำ 

เดินอย่างระมัดระวัง บางจุดจะลื่นมากอาจล้มได้ ระวังบางจุดจะลื่นมากอาจล้มได้ ระวังอันตรายจากเศษแก้ว เข็ม ซากสิ่งของที่พังลอยมากับน้ำ ดังนั้นจึงต้องใส่รองเท้าทุกครั้งที่ต้องเดินลุยน้ำ 


ข้อมูลจาก ประชาสัมพันธ์ ส่วนอำนวยการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ภาค 3

ภาพจาก TNN ONLINE 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง