รีเซต

นักดาราศาสตร์ค้นพบดาราจักรใหม่ ไกลออกไป 13.6 พันล้านปีแสง

นักดาราศาสตร์ค้นพบดาราจักรใหม่ ไกลออกไป 13.6 พันล้านปีแสง
TNN ช่อง16
8 เมษายน 2565 ( 19:37 )
265

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน 2022 ที่ผ่านมา วารสาร Astrophysical Journal ได้เผยแพร่ผลงานการค้นพบกาแล็กซีใหม่ที่ห่างไกลที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยค้นพบ มันถูกขนานนามว่า HD1 อยู่ห่างออกไปราว ๆ 13.6 พันล้านปีแสง โดยนักดาราศาสตร์ค้นพบว่าลำแสงที่ส่งมาจาก HD1 สว่างมากในช่วงอัลตราไวโอเลต ทำลายสถิติเรดชิฟต์สูงสุดของเควซาร์ หรือ Quasar (วัตถุมวลขนาดใหญ่ที่มีลักษณะคล้ายกับดาวฤกษ์ มีแสงสว่างมาก เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง) ไปเกือบ 2 เท่า 


 “กระบวนการที่ก่อให้เกิดพลังบางอย่างกำลังเกิดขึ้นที่นั่น หรือดีกว่านั้นเกิดขึ้นเมื่อหลายพันล้านปีก่อน”-  Fabio Pacucci ผู้ร่วมเขียนรายงานการค้นพบกล่าว


นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่า HD1 เป็นที่อยู่ของดาวฤกษ์ยุคแรก หรือ Population III เนื่องจากตรวจพบการปล่อยรังสียูวีจำนวนมหาศาลซึ่งตรงกับทฤษฎีของดาวฤกษ์ยุคแรกที่ว่าดาวฤกษ์ยุคแรกนั้นมีมวลมากกว่า ส่องสว่างกว่า ร้อนกว่าและสามารถผลิตแสงยูวีได้มากกว่าดาวฤกษ์ยุคปัจจุบัน และมันยังอยู่ไกลออกไป 13.6 พันล้านปีแสง ในขณะที่จักรวาลมีอายุราว ๆ 13.8 พันล้าน หมายความว่าที่มาของลำแสงนั้นเดินทางมาจากยุคแรกเริ่ม หรือมันอาจเป็นหลุมดำมวลมหาศาลที่กำลังกลืนกินมวลของดาราจักรจึงเกิดโฟตอนพลังงานสูงจำนวนมากปล่อยออกมารอบ ๆ หากเป็นเช่นนั้นจริง มันจะกลายเป็นหลุมดำมวลมหาศาลยุคแรกเริ่มที่กำเนิดขึ้นหลังจากการเกิดบิกแบง (Big Bang) ไม่นาน


การค้นพบดังกล่าวใช้กล้องโทรทรรศน์ทั้งหมด 4 ตัว ในการสังเกตการณ์ ได้แก่ กล้องโทรทรรศน์ซูบารุ, กล้องโทรทรรศน์ VISTA, กล้องโทรทรรศน์อินฟราเรดของสหราชอาณาจักรและกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ ใช้เวลาสังเกตการณ์รวมกันราว ๆ 1200 ชั่วโมง มีการใช้ข้อมูลเพิ่มเติมจาก Atacama Large Millimeter/submillimeter Array (ALMA) และกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์


ยังเป็นการณ์ยากที่จะสรุปว่าอะไรเกิดขึ้นที่ HD1 มันเป็นที่อยู่ของ Population III ที่นักดาราศาสตร์ตามหามาอย่างยาวนานหรือเป็นหลุมดำมวลมหาศาลยุคแรกเริ่ม แต่ไม่ว่าอย่างไร ตอนนี้ HD1 ก็ได้รับการบันทึกในฐานะกาแล็กซีที่ห่างไกลที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยค้นพบ โดยทำลายสถิติเดิมซึ่งเป็นของกาแลคซี GN-z11 มีระยะห่าง 13.4 พันล้านปี ตั้งอยู่ในทิศทางของกลุ่มดาวหมีใหญ่


ข้อมูลจาก interestingengineering.com

ภาพจาก Harikane et al.

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง