"บิ๊กอู๋" นำทีมลงพื้นที่ชลบุรี ตรวจเยี่ยมสถานประกอบการต้นแบบการจ้างงานที่ดี
“บิ๊กอู๋” นำทีมลงพื้นที่ชลบุรี ตรวจเยี่ยมสถานประกอบการต้นแบบการจ้างงานที่ดี
เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา นำคณะลงพื้นที่ จ.ชลบุรี รับฟังปัญหาผู้ประกอบการและแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 พร้อมติดตามศูนย์บริหารแรงงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ความพร้อมรองรับการว่างงาน พัฒนาอาชีพจากฐานชีวิตวิถีใหม่ และตรวจเยี่ยมสถานประกอบการต้นแบบการจ้างงานที่ดี
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ในวันนี้ คณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน โดยมี นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย ได้ลงพื้นที่ จ.ชลบุรี มารับฟังสภาพปัญหาของประชาชนและผู้ประกอบการเพื่อติดตามสถานการณ์ที่มีผลกระทบด้านแรงงานจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอดจนความพร้อมของแต่ละภาคส่วนในการเตรียมการรองรับปัญหาการว่างงาน การพัฒนาอาชีพที่อาจเกิดขึ้นใหม่จากฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) และการดำเนินงานของศูนย์บริหารแรงงานอีอีซี โดยได้เดินทางมาในพื้นที่ 2 จุด คือ จุดแรกที่ศาลากลางจังหวัดชลบุรี จุดที่ 2 บริษัท คิงส์ แพ็ค อินดัสเตรียล จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 333 หมู่ 4 ต.หนองไม้แดง อ.เมือง จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นสถานประกอบกิจการผู้ผลิตถุงพลาสติกภายใต้ตราสินค้า HERO เพื่อรับฟังบรรยายสรุปและศึกษาดูงานประเด็นของผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทางโรงงานได้รับเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้น และความต้องการแรงงานที่ทางโรงงานประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้
“ปัจจุบันมีพนักงานมากกว่า 2,500 คน แบ่งเป็นฝ่ายผลิต 2,300 คน คิดเป็นคนไทย ร้อยละ 55 และกัมพูชา ร้อยละ 45 ส่วนสำนักงานประมาณ 200 คน มีระบบสวัสดิการให้พนักงานทั้งกองทุนประสังคม กองทุนเงินทดแทน ประกันกลุ่ม เบี้ยขยัน เงินกู้ ค่าอาหาร และสวัสดิการอื่นๆ สำหรับบริษัทแห่งนี้เป็นสถานประกอบการที่มีระบบการจ้างงานที่ดี ในช่วงโควิด-19 มีการจ้างงานเพิ่ม เนื่องจากมียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้น กระทรวงแรงงานได้เข้าไปสนับสนุนในการนำคนไทยมาจ้างแทนแรงงานต่างด้าว ซึ่งสถานประกอบการมีการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเป็นระบบ” พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าว
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ในส่วนของ จ.ชลบุรี มีสถานประกอบการ 16,247 แห่ง ลูกจ้าง 756,599 คน มีตำแหน่งงานว่าง 10,237 อัตรา มีผู้ประกันตนจำนวนรวมทั้งสิ้น 878,795 คน มีแรงงานต่างด้าว 135,945 คน มีความต้องการแรงงานประมงทะเล 1,759 คน และความต้องการแรงงานประมง 761 คน ขอรับสิทธิว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยโควิด-19 จำนวน 97,751 คน จ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 756.07 ล้านบาท สถานประกอบการเลิกจ้าง/ปิดกิจการ 7 แห่ง ลูกจ้าง 4,523 คน ใช้มาตรา 75 จำนวน 482 แห่ง ลูกจ้าง 351,311 คน จากการรับฟังสภาพปัญหาในพื้นที่ด้านแรงงาน ซึ่งขณะนี้สถานการณ์โควิดคลี่คลายลงแล้ว จากนี้รัฐบาลจะได้มีการขับเคลื่อนในด้านต่างๆ เพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด–19 ได้มีงานทำ ทั้งการหางานให้ การ Up skill/Re skill เพื่อให้มีทักษะฝีมือสูงขึ้นตามความต้องการของผู้ประกอบการ และมีหลักประกันความมั่นคงในชีวิตต่อไป