รีเซต

อิสราเอล-ปาเลสไตน์ : ฝันร้ายของเด็กในกาซา ที่เติบโตมากับ ความซึมเศร้า และความกังวล

อิสราเอล-ปาเลสไตน์ : ฝันร้ายของเด็กในกาซา ที่เติบโตมากับ ความซึมเศร้า และความกังวล
ข่าวสด
26 พฤษภาคม 2564 ( 22:00 )
65

 

"ฉันมีความสุขดี มีร่างกายที่สมบูรณ์ แต่จิตใจฉันกลับแตกสลาย" โอลา อาบู ฮาซาบัลเลาะห์ กล่าว

หญิงชาวปาเลสไตน์วัย 32 ปีผู้นี้ เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่อาศัยอยู่ในกาซา

เธอปรารถนาให้ ลูกชายวัย 3 ขวบของเธอได้มีชีวิตวัยเด็กที่ไม่ต้องผจญกับระเบิด และการทำลายล้าง อย่างที่เธอประสบขณะเติบโตขึ้นมา

การปะทะกันนาน 11 วัน เมื่อไม่นานนี้ระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอล ทำให้มีผู้เสียชีวิต 248 คนในกาซา และ 12 คนในอิสราเอล จนกระทั่งมีการบรรลุข้อตกลงหยุดยิงเมื่อวันศุกร์ที่ 21 พ.ค.

มีเด็กอย่างน้อย 65 คนในกาซา และ 2 คนในอิสราเอล อยู่ในกลุ่มผู้เสียชีวิตด้วย

 

 

Ola Abu Hasaballah
โอลา อาบู ฮาซาบัลเลาะห์ ต้องการให้ลูกชายของเธอเติบโตขึ้นมา โดยไม่ต้องมีความบอบช้ำทางจิตใจจากสงคราม

 

ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างชัยชนะในความขัดแย้งครั้งนี้ แต่โอลาบอกว่า เธอรู้ว่า ใครเป็นฝ่ายแพ้

นอกจากเด็ก ๆ ที่เสียชีวิตเคียงข้างคนในครอบครัวแล้ว เธอบอกว่า การมีชีวิตรอดจากสงครามได้ทิ้งแผลลึกไว้ในจิตใจของเด็ก ๆ

"เด็ก ๆ หลายคนประสบกับความสูญเสียและความโศกเศร้า การทำให้พวกเขากลับมาเป็นปกติเป็นเรื่องยากมาก เด็กบางคนต้องได้รับการช่วยเหลือด้านจิตใจอย่างใกล้ชิด เช่นการปรึกษาเฉพาะตัว การดูแลและการบำบัดเป็นการเฉพาะส่วนบุคคล"

 

 

โรคเครียดหลังประสบเหตุการณ์สะเทือนใจรุนแรง (Post-Traumatic Stress Disorder)

Ola Abu Hasaballah
โอลาบอกว่า ตอนที่เธอเติบโตขึ้นมาในกาซา เธอไม่ได้รับความช่วยเหลือทางจิตวิทยาใด ๆ เลย

โอลาเรียนจบปริญญาโทด้านสุขภาพจิต และทำงานเป็นนักจิตวิทยาเด็กและเจ้าหน้าที่การศึกษาให้กับสภาผู้ลี้ภัยแห่งนอร์เวย์ (Norwegian Refugee Council)

 

 

เธอให้การช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามในกาซามานาน 13 ปีแล้ว

เธอบอกว่า เด็ก ๆ ที่สูญเสียพ่อแม่ พี่น้อง หรือบ้านเรือน มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคเครียดหลังประสบเหตุการณ์สะเทือนใจรุนแรง (post-traumatic stress disorder หรือ PTSD) มากที่สุด

 

"มันทำให้พวกเขานอนไม่พอ, ฝันร้าย, รู้สึกผิด, แยกตัว, ปัสสาวะรดที่นอน, รู้สึกตัวชา, รู้สึกว่าไม่มีใครช่วยอะไรได้, โกรธ, มีความคิดด้านลบเกี่ยวกับอนาคตและตัวเอง แล้วก็ซึมเศร้า"

 

เมื่อการทิ้งระเบิดยุติลง โอลาก็กลับมาทำงานของเธอและพบกับกลุ่มเด็กหญิง 5 คน ทั้งหมดอายุ 11 ปี ที่ต่างก็หวาดกลัว

 

หนึ่งในเพื่อนร่วมชั้นเรียนของพวกเธอเสียชีวิตจากเหตุถล่มกันด้วยระเบิด

 

โอลากล่าวว่า "เด็กหญิงคนหนึ่งเล่าว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่เธอได้ยินเสียงระเบิด เธอคิดว่า เธอจะเสียชีวิตเหมือนกับ ดีมา เพื่อนของเธอ"

Getty Images
อิสราเอล ระบุว่า การโจมตีทางอากาศเป็นการตอบโต้การที่มีจรวดถูกยิงจากกาซา

สภาผู้ลี้ภัยแห่งนอร์เวย์ ระบุว่า เด็ก 11 คน ในกลุ่มเด็กที่เสียชีวิตระหว่างการทิ้งระเบิดรอบล่าสุด อยู่ระหว่างรับคำปรึกษาด้านความบอบช้ำทางจิตใจจากศูนย์ของสภา

 

 

ในการให้คำปรึกษานี้จะมีการขอให้เด็ก ๆ วาดภาพ

 

โอลา เล่าว่า "เด็กหญิงทั้ง 5 คน ต่างวาดภาพบ้านของพวกเธอ" เธอคิดว่า นี่เป็นเพราะเด็ก ๆ เห็นว่า บ้านคือที่ที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับพวกเขา

 

แต่การสูญเสียบ้านเรือนที่เป็นที่พักพิงทางใจก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้อย่างที่เห็น

 

อาคารหลายแห่งในกาซาเหลือเพียงซากปรักหักพังหลังเผชิญการโจมตีทางอากาศและชาวปาเลสไตน์อีกกว่าแสนคนต้องออกจากบ้านเรือนของตัวเอง

 

สำหรับเด็กคนหนึ่ง การสูญเสียบ้าน หมายถึงการสูญเสียของเล่น หนังสือ และเสื้อผ้า เหมือนกับการสูญเสียสิ่งของที่ทำให้เขารู้สึกดี

"ถ้าพวกเขายังสูญเสียพ่อแม่ไปอีก ก็หมายถึงการสูญเสียการปกป้องและความรัก นอกจากนี้ เด็ก ๆ หลายคนยังได้รับบาดเจ็บเองด้วย พวกเขาจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือนานหลายปี"

 

 

การสำรวจของสหประชาชาติ

กาซาเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีประชากรอยู่อาศัยหนาแน่นที่สุดในโลก

 

Ola Abu Hasaballah
โอลาทำงานให้กับสภาผู้ลี้ภัยแห่งนอร์เวย์ ในกาซา

 

ดินแดนเล็ก ๆ นี้มีประชากร 2 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ 42% มีอายุต่ำกว่า 15 ปี

 

 

การสำรวจของสหประชาชาติในปี 2018 พบว่า 1 ใน 4 ของเด็กที่กาซา จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือทางจิตวิทยาสังคมเพราะเผชิญกับความบอบช้ำทางจิตใจในอดีต

 

 

โอลา จำได้ถึงความบอบช้ำทางใจที่เธอเผชิญในสมัยเป็นเด็กในช่วงต้นยุคทศวรรษ 2000

 

 

พฤติกรรมก้าวร้าว

วันหนึ่ง ขณะที่เธอกำลังเล่นอยู่ด้านนอกกับพี่น้องของเธอ เครื่องบินของอิสราเอลได้ทิ้งระเบิดใส่ย่านที่พวกเขาพักอาศัยอยู่

 

"เราเห็นไฟออกมาจากเครื่องบิน แล้วจากนั้นลูกระเบิดก็ระเบิดขึ้น เราวิ่งไปที่หลังบ้าน และตะโกนเรียกพ่อแม่ มันน่ากลัวมาก"

 

ระหว่างที่เกิดการทิ้งระเบิดอีกครั้งหนึ่ง เธอจำได้ว่า เธอปลอบน้องสาวที่วิ่งหนีอันตรายเข้ามากอดเธออย่างไร

 

"เมื่อเด็ก ๆ บอกฉันเกี่ยวกับเสียงระเบิด ฉันจำได้ตอนที่บ้านของฉันสั่นสะเทือนเพราะการทิ้งระเบิด ฉันรู้สึกได้ในหัวใจถึงความวิตกกังวลและความหวาดกลัวที่พวกเขามีเหมือนกับฉัน"

 

แต่โอลาบอกว่า เด็ก ๆ มีกลไกการรับมือที่แตกต่างไป ซึ่งรวมถึง การก้าวร้าวด้วย

 

"มีทั้งความหวาดกลัว ความไม่แน่นอน และความไม่ปลอดภัย" เธอพูดถึงชีวิตสมัยเด็กของเธอ "ฉันมีพี่น้องผู้ชาย 4 คน ที่กลายเป็นคนที่ก้าวร้าวมาก หลังจากเผชิญการโจมตีทางอากาศ บางครั้งพวกเขาตีฉันด้วย"

 

 

Ola Abu Hasaballah
โอลาบอกว่า การอ่านและดนตรีช่วยให้สุขภาพจิตของเธอดีขึ้น

 

เธอเชื่อมโยงความก้าวร้าวนั้นกับความหวาดกลัวในการมีชีวิตรอดของพี่ชายน้องชายของเธอ

 

แต่ในช่วงที่เธอเป็นเด็ก เธอและพี่น้องไม่ได้รับความช่วยเหลือทางจิตวิทยาเลย ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลว่าทำไมเธอจึงเลือกที่จะเป็นนักจิตวิทยาเด็ก

 

"ฉันคิดว่า เด็ก ๆ อิสราเอล กำลังเผชิญกับความบอบช้ำทางจิตใจของตัวเองเช่นกัน" โอลา กล่าว

 

"แต่จำนวนเด็กปาเลสไตน์ที่เสียชีวิตในการปะทะกันครั้งล่าสุดคิดเป็น 6 เท่าของชาวอิสราเอลที่เสียชีวิตรวมกันทุกคน รวมถึงทหารด้วย ตัวเลขนี้บอกเรื่องราวคุณได้"

 

 

"ดินแดนแห่งความทรงจำ"

ระหว่างที่เกิดความรุนแรงครั้งล่าสุด เธอพยายามที่จะใช้ชีวิตประจำวันให้เป็นปกติ และทำให้ลูกชายวัย 3 ขวบของเธอไม่รู้สึกตื่นตระหนก หลังจากที่เธอหย่าขาดจากสามี เธอก็ใช้ชีวิตกับลูกตามลำพัง

 

"เขายังเล็กเกินกว่าที่จะเข้าใจ ตอนที่เกิดเหตุระเบิดขึ้น เขาวิ่งเข้ามาหาฉัน ฉันบอกเขาว่า ฉันจะปกป้องเขาเสมอ" เธอเล่า

 

โอลา ไม่ต้องการให้ลูกชายของเธอมีชีวิตเหมือนกับช่วงวัยเด็กของเธอ แต่เธอบอกว่า เธอไม่คิดที่จะย้ายไปอยู่ที่อื่น

 

"เมื่อเขาโตขึ้น ฉันจะบอกเขาว่า กาซา ไม่ใช่แค่สถานที่หนึ่ง มันเป็นดินแดนของพ่อแม่ของฉัน เป็นที่ฝังศพแม่ของฉัน เป็นดินแดนแห่งความทรงจำและอัตลักษณ์"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง