รีเซต

'พิพัฒน์' ยัน "ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์" ไม่ล่ม ชี้ไทยจัดการโควิดได้ดี พร้อมเปิดรับต่างชาติได้

'พิพัฒน์' ยัน "ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์" ไม่ล่ม ชี้ไทยจัดการโควิดได้ดี พร้อมเปิดรับต่างชาติได้
ข่าวสด
1 กรกฎาคม 2564 ( 16:19 )
50

 

'พิพัฒน์' ยัน "ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์" ไม่ล่ม ชี้ไทยจัดการโควิดได้ดี พร้อมเปิดรับต่างชาติได้ เผยความพร้อมเต็ม 100 เตรียมทยอยเปิดจังหวัดอื่น

 

 

เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2564 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ไม่ล่ม ถึงอย่างไรก็ล่มไม่ได้ เพราะทุกฝ่ายต่างเดินหน้าโครงการฯ มาขนาดนี้แล้ว ต้องประคับประคองให้สำเร็จให้ได้ นำร่องสู่การเปิดประเทศภายใน 120 วันตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ทั้งยังช่วยสร้างความหวังแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและคนไทยทั้งประเทศ ว่าประเทศไทยสามารถบริหารจัดการเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ได้ดีจนสามารถให้บางพื้นที่นำร่องรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ หลังเผชิญวิกฤติโควิด-19 มากว่า 1 ปีครึ่ง

 

 

ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวกลุ่มแรกที่ได้ใบรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย (ซีโออี) จากกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) แล้ว 4 เที่ยวบิน จำนวนกว่า 300 คน จากเดิมที่มีขอซีโออีเข้ามา 500 คน ส่วนอีกประมาณ 200 คน ที่ยังเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยผ่านภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ไม่ได้นั้น เนื่องจากออกซีโออีให้ไม่ทันจริงๆ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เหลืออีก 200 คน เลื่อนการเดินทางเข้าภูเก็ตออกไป แต่ยังไม่มีคำขอยกเลิกยื่นเข้ามา รวมถึงเห็นการยื่นขอซีโออีของต่างชาติ และมีสายการบินจองบินเข้าภูเก็ตเพิ่มเติมแล้ว อาทิ วันที่ 2 กรกฎาคมเป็นสายการบินเอมิเรตส์แอร์ไลน์ วันที่ 3-4 ก.ค. เป็นสายการบินไทย จึงยืนยันว่าภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ไม่มีทางล่มแน่นอน

 

 

สำหรับวันที่ 2 ก.ค.นี้ สายการบินเอมิเรตส์ จะให้บริการเส้นทางดูไบ-ภูเก็ต ถึงภูเก็ตเวลา 12.30 น. ขณะที่วันที่ 3 ก.ค. การบินไทยจะให้บริการแบบ Triangle Flying Pattern จากต้นทาง-ภูเก็ต-กรุงเทพฯ มี 3 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางโคเปนเฮเกน-ภูเก็ต-กรุงเทพฯ ถึงภูเก็ตเวลา 06.25 น. เส้นทางแฟรงก์เฟิร์ต-ภูเก็ต-กรุงเทพฯ ถึงภูเก็ตเวลา 07.10 น. และเส้นทางปารีส-ภูเก็ต-กรุงเทพฯ ถึงภูเก็ตเวลา 07.55 น. ต่อด้วยวันที่ 4 ก.ค. การบินไทยให้บริการ 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางลอนดอน-ภูเก็ต-กรุงเทพฯ ถึงภูเก็ตเวลา 06.10 น. และเส้นทางซูริค-ภูเก็ต-กรุงเทพฯ ถึงภูเก็ตเวลา 07.45 น.

 

 

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ในช่วง 2 สัปดาห์แรกของโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ จะใช้ระบบ Manual หรือมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจำนวน 30 คนมาตรวจสอบเอกสารต่างๆ ของนักท่องเที่ยว ใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที จากนั้นนักท่องเที่ยวจะต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ครั้งแรกที่สนามบินตามคู่มือมาตรฐานการปฏิบัติงาน (Standard Operating Procedure : SOP) ที่กำหนดไว้ คาดนักท่องเที่ยวใช้เวลาผ่านขั้นตอนตรวจสอบต่างๆ ภายในสนามบินไม่เกิน 2 ชั่วโมง และเมื่อผ่านช่วง 2 สัปดาห์แรกจะมีการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบมากขึ้น

 

 

นายพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า แผนการควบคุมด้านความปลอดภัย ในกรณีพบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่เพิ่มเติม กำหนดไว้เบื้องต้นคือ หากมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เกิน 90 คนต่อสัปดาห์ จะตรวจเชิงรุกว่าพบการระบาดในกี่พื้นที่ของเมืองภูเก็ต แบ่งเป็น 3 อำเภอ 6 ตำบลหรือไม่ และต้องหาแหล่งที่มาของเชื้อว่ามาจากใด และเป็นสายพันธุ์ใดด้วย โดยส่วนนี้จะขอความร่วมมือให้นักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ภายในบริเวณโรงแรมเท่านั้น ซึ่งจะสามารถใช้บริการของโรงแรมได้ทุกส่วน รวมถึงชายหาดและทะเลบริเวณโรงแรมได้ จนกว่าจะสามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดให้ลดน้อยลง

 

 

ส่วนกรณีร้ายแรงที่ถึงขั้นต้องพิจารณาชะลอการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติคือ พบเชื้อโควิดระบาดกระจายในหลายพื้นที่ของเมืองภูเก็ต เป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่มีความรุนแรงมากกว่า จนทำให้โรงพยาบาลในภูเก็ตไม่สามารถรองรับผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มได้แล้ว กรณีนี้จะเร่งหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัดผู้เก็ต การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อประเมินสถานการณ์ การรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เน้นย้ำว่าจะไม่ปล่อยให้สถานการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นแน่นอน

 

 

“สิ่งที่กังวลในการเปิดภูเก็ตภูเก็ตรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในขณะนี้ คือการเล็ดลอดเข้ามาของเชื้อโควิด โดยเฉพาะสายพันธุ์ใหม่ที่มีความรุนแรงมากกว่าเดิม เพราะไม่สามารถทำนายได้ว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น เพราะแม้จะได้รับวัคซีนครบโดส จนสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ติดโควิด เพราะไม่มีวัคซีนชนิดใดในโลกที่ฉีดแล้วจะป้องกันไวรัสได้ 100% เพียงลดความรุนแรงและลดโอกาสในการสูญเสียลงเท่านั้น ทำให้โอกาสการติดเชื้อยังคงมีอยู่ จึงต้องเน้นให้ป้องกันตัวเองและปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด"

 

 

"ส่วนเรื่องระบบการเตรียมความพร้อมต่างๆ ขณะนี้พร้อมหมดแล้ว โดยการเปิดภูเก็ตรับต่างชาติในครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดประเทศครั้งแรกในรอบ 1 ปีครึ่ง ให้คะแนนเต็ม 100 เพราะเราต้องมั่นใจเนื่องจากเราทำเอง รวมถึงนโยบายเปิดประเทศเป็นของนายกฯ ทำให้ทุกหน่วยงานต้องทำงานร่วมกัน ไม่มีหน่วยงานใดสามารถปฏิเสธได้ ทำให้ 120 วัน เราต้องพร้อม จึงยืนยันว่าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์จะไม่ล่มแน่นอน ยังไงก็ล่มไม่ได้ เพราะเป็นการสร้างความหวังให้กับผู้ประกอบการในสายการท่องเที่ยว”

 

 

นายพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า นโยบายการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติใน 120 วันของนายกรัฐมนตรี ต้องบอกความหมาย คือเปิดเฉพาะในจังหวัดที่พร้อมก่อน หากจังหวัดใดไม่พร้อมก็เลื่อนไปก่อนได้ โดยเบื้องต้นภายในเดือนตุลาคมนี้ จะพยายามเปิดให้ได้ใน 10 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ ภูเก็ต, กระบี่, พังงา, สุราษฎร์ธานี, เชียงใหม่, ชลบุรี, เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, บุรีรัมย์ และกรุงเทพฯ ให้ได้ก่อน แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดในภาพรวมประเทศไทยยังอยู่ในระดับสูง แต่จะพยายามผลักดันเปิดในจังหวัดที่พร้อมก่อน

 

 

เนื่องจากขณะนี้พบว่ามีจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อโควิดระดับต่ำหรือปลอดภัยแล้ว ส่วนความกังวลในการเปิดจังหวัดอื่นๆ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ที่พบจำนวนผู้ติดเชื้อในระดับสูงมากนั้น เบื้องต้นมีข้อมูลว่า ภายในเดือน ส.ค.นี้ คนในพื้นที่กทม. จะต้องได้รับวัคซีนครบ 70% เนื่องจากรัฐบาลอยู่ระหว่างเร่งฉีดวัคซีนให้กับคนกรุงเทพฯ จึงคาดว่าภายในเดือน ต.ค.นี้ กทม.น่าจะปลอดภัยมากขึ้น เพราะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นแล้ว ทำให้การเปิดกรุงเทพฯ ในเดือน ต.ค. ตามที่กำหนดไว้ จะพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นตามแผนให้ได้

นายพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า ส่วนพื้นที่นำร่องอื่นๆ ที่จะเริ่มพิจารณาเปิดรับต่างชาติตามภูเก็ตในระยะถัดไปคือ เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า ใน จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งตั้งเป้าว่าจะเริ่มในวันที่ 15 ก.ค.นี้ โดยขอประเมินการเปิดภูเก็ตก่อน 14 วัน หากไม่มีอะไรเกิดขึ้น จะเริ่มดำเนินการต่อทันที รวมถึงมีพื้นที่นำร่องในอีก 2 จังหวัด ได้แก่ จ.กระบี่ (เกาะพีพี ไร่เล เกาะไหง) และ จ.พังงา (เขาหลัก และเกาะยาว) ซึ่งกำหนดไว้ว่าจะเริ่มในวันที่ 1 ส.ค.นี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง