รีเซต

มองไทยผ่านซีรีส์ “King The Land” เสน่ห์ Soft Power กระตุ้นท่องเที่ยวไทย

มองไทยผ่านซีรีส์ “King The Land”  เสน่ห์ Soft Power กระตุ้นท่องเที่ยวไทย
TNN ช่อง16
22 กรกฎาคม 2566 ( 16:53 )
228

กระแสท่องเที่ยวตามรอยซีรีส์เกาหลีแนวรักโรแมนติกคอมเมดี้อย่าง King The Land กลับมาสร้างความคึกคักให้ท่องเที่ยวไทยอีกครั้ง หลังซีรีส์ดังที่นำแสดงโดย “อีจุนโฮ” 2 PM และ “ยุนอา” Girls' Generation ตอนที่ 10 ออกอากาศวันที่ 16 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ทางซึ่ง เป็นตอนที่พระเอก นางเอก และนักแสดงในทีมเดินทางมาเที่ยวในประเทศไทย  สิ่งที่สร้างความประทับใจมากๆ ให้กับผู้ชมโดยเฉพาะคนไทย คือเนื้อเรื่องตลอดทั้งตอนนี้ ถ่ายทำในประเทศไทยเกือบทั้งหมด เราได้เห็นฉากสถานที่ท่องเที่ยวทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ในมุมต่างๆ ผ่านการถ่ายทอดของนักแสดงทั้งพระเอก นางเอก และเพื่อนๆ ที่ยกให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศปลายทางของนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาสัมผัสดินแดนที่มีเสน่ห์แห่งนี้ ซึ่ง นอกจากเราจะได้เห็นฉากที่ผู้ผลิตถ่ายทำออกมาได้อย่างสวยงาม เช่น สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ  วัดสุทัศนเทพวราราม เสาชิงช้า สนามหลวง เกาะรัตนโกสินทร์ วัดอรุณราชวราราม วัดราชนัดดารามวรวิหาร เรายังได้เห็นการเขียนบทของผู้ผลิตซีรี่ส์ ที่ให้นักแสดงพูดถึงเสน่ห์ของประเทศไทย ทั้งอาหารการกิน ทั้งสถานที่ท่องเที่ยว และนิสัยใจคอของคนไทยที่ดูสบายๆ ไม่เคร่งเครียด เช่น ฉากกินก๋วยเตี๋ยวที่ร้าน “คุณแดง ก๋วยจั๊บญวน” หรือ ฉากเที่ยว ช้อป ชิม ที่ถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง หรือ บรรยากาศล่องเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา ชมน้ำพุไอคอนสยาม เที่ยวเมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ นั่งรถตุ๊กตุ๊ก ชมวิวยามค่ำคืนรอบเกาะรัตนโกสินทร์ หลายคนบอกว่าดูแล้วราวกับเป็นซีรีส์โปรโมทการท่องเที่ยวไทย และทำให้เกิดกระแสท่องเที่ยวตามรอยซีรีส์ดังกล่าวขึ้น 




เหตุผลที่ผู้ผลิตซีรีส์เลือกไทยเป็นโลเคชั่นถ่ายทำ?


ผศ.ดร.ประกายกาวิล ศรีจินดา Executive Director 678 Acts ผู้ผลิตละครซีรีส์ไทย ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยมีต้นทุนทางด้านภูมิศาสตร์ที่สูงมาก ทั้งศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ธรรมชาติ และสภาพแวดล้อม ข้อมูลจากอโกดา เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จะเห็นว่า “กรุงเทพฯ” คว้าอันดับ 1 เมืองที่ทั่วโลกจองมากที่สุด และ “ประเทศไทย” ยังเป็นเป้าหมายด้านการท่องเที่ยวอันดับ 2 ของโลก รองจากญี่ปุ่น โดยเฉพาะหลังการผ่อนคลายจากสถานการณ์โควิด-19 นักท่องเที่ยวทั้งแถบเอเชีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาที่เมืองไทยเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงไม่แปลกใจที่ไทยเป็นหนึ่งในโลเคชั่นที่ทางผู้ผลิตซีรีส์เกาหลีใต้เลือกมาถ่ายทำเป็นลำดับต้น ๆ  


ทั้งนี้ ซีรีส์ King The Land ไม่ใช่ซีรีส์เกาหลีเรื่องแรกที่มาถ่ายทำในไทย หากยังจำได้เมื่อ 20 กว่าปีก่อน Full House ก็มาถ่ายที่ไทยและสร้างความฮือฮาไปเช่นกัน 

ในมุมมองของผู้ผลิต จะพบว่าเกาหลีใต้มีโลเคชั่นถ่ายทำที่จำกัดมาก แต่เก่งในการประกอบ สร้างการสื่อสารผ่านการเล่าเรื่องให้ดูมีอะไรขึ้นมา ซึ่ง ปัจจุบันอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้เติบโตมากขึ้น และมีช่องทางการเผยแพร่ไปทั่วโลก ดังนั้น ในช่วงปีสองปีนี้ จึงเริ่มเห็นซีรีส์เกาหลีถ่ายทำในประเทศอื่น นอกเหนือจากประเทศตัวเองมากขึ้น ขณะเดียวกัน ประเทศไทยนอกจากจะมีองค์ประกอบด้านการถ่ายทำตามที่ผู้ผลิตต้องการที่ครบถ้วนแล้ว ปัจจัยเรื่องค่าครองชีพที่ไม่สูงมาก เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้ผลิตและทีมงานเลือกประเทศไทย 





ศักยภาพประเทศไทยในการนำไปเป็นจุดขายของซีรีส์?

    

จริง ๆ ในยุทธศาสตร์ของเกาหลีใต้ จะมองตั้งแต่การวางแผนเชิงกลยุทธ์ว่าการส่งเสริมการส่งออกวัฒนธรรมทุกอย่างที่ขายได้ มีอะไร จะขายอย่างไร และสื่อสารออกมาผ่านซีรีส์ โดยนโยบายส่งเสริม Soft Power ของเกาหลีใต้เป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี (GDP) ของเกาหลีใต้ใต้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เมื่อเขาเลือกมาที่ไทย จึงใช้วิธีการเดียวกัน คือ ดูแล้วว่าจุดแข็งของไทย คือ สถานที่ท่องเที่ยว และอาหารไทย สิ่งเหล่านี้จึงไปปรากฏอยู่ในซีรีส์ King The Land นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ถูกพูดถึงในซีรีส์เรื่องนี้ และได้ถูกนำเสนอออกมาอย่างน่าสนใจ คือ วิถีชีวิตและความเป็นกันเองของผู้คนของเมืองไทยที่เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง 




ไทยควรสนับสนุน “Soft Power” ผ่านอุตสาหกรรมบันเทิง? 


ประเทศไทยได้รับความสนใจจากต่างชาติหลายประเทศในการเข้าใช้พื้นที่ถ่ายทำในประเทศไทย แต่เรากลับได้ใช้ประโยชน์จากการขายสิ่งที่มีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เพราะเราเพิ่งจะมาอินกับคำว่า Soft Power เมื่อปีสองปีที่แล้วนี่เอง ทั้ง ๆ ที่คำนี้มีมานานและหลายประเทศรู้จักมากว่า 20 ปีแล้ว

ด้วยความที่ประเทศไทยนั้นขาดหน่วยงานที่รับผิดชอบในการสนับสนุน Soft Power อย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยภาครัฐยังไม่เข้าใจในโครงสร้างของอุตสาหกรรมบันเทิงอย่างแท้จริง ทำให้ไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง แม้ว่าไทยเรามีต้นทุนด้านต่าง ๆ เหนือกว่าหลายประเทศ ทั้งในมิติทางวัฒนธรรม หรือ ด้านธรรมชาติ ดังนั้น หากมีการกำหนดอำนาจหน้าที่หน่วยงานกลาง ให้มีบทบาทและอำนาจในการดูภาพรวมการส่งเสริมธุรกิจผลิตสื่อบันเทิงอย่างเหมาะสม ให้การสนับสนุนด้านเงินทุน สนับสนุนด้านตลาดต่างประเทศ รวมไปถึง การส่งเสริมด้านอื่นๆ ที่เอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจ เช่น การส่งเสริมเสรีภาพในการนำเสนอเนื้อหา (Censoring) การส่งเสริมกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา การพัฒนาทักษะแรงงาน และการส่งเสริมสวัสดิการของแรงงานภายในธุรกิจ ทั้งแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ จะทำให้ประเทศเราสามารถเข้าใกล้คำว่า Soft Power ได้มากกว่าที่เป็นอยู่




อุตสาหกรรมบันเทิงกระตุ้นการท่องเที่ยว?

    

แน่นอนว่าหากมีหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบเข้าใจในบริบทของการสนับสนุนจริงจัง ไม่ใช่สนใจอุตสาหกรรมบันเทิงเพียงฉาบฉวยตามกระแสเท่านั้น ทั้งที่เรามีคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ TFO Thailand Film Office กรมการท่องเที่ยว แต่การทำงานไม่ได้มีการบูรณาการเชื่อมโยงกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยวอย่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ซึ่ง หากทำได้เราคงได้เห็นสถานที่ท่องเที่ยวดัง ๆ ทั้งเชิงวัฒนธรรม หรือเชิงธรรมชาติ ที่คนไทยยังไม่ค่อยรู้จัก เช่น ทุ่งดอกบัวแดง ทุ่งทานตะวัน ลำตะคอง เกาะพยาม รวมถึงวิถีชีวิตที่หลากหลายอื่น ๆ ที่โดดเด่น และไม่เหมือนใครอีกจำนวนมาก ไปปรากฏให้สายตาชาวโลกได้เห็นผ่านภาพยนตร์ ละคร หรือ ซีรีส์ไทย ไม่ใช่เพียงวัดวาอารามสีทองสวยงาม ผ่านหนังพีเรียดแบบ ตำนานสมเด็จพระนเรศวร นางนาก พี่มากพระโขนง หรือ หนังบู๊แอ๊คชั่น แบบ ต้มยำกุ้ง องค์บาก ยกตัวอย่าง ซีรีส์วาย แปลรักฉันด้วยใจเธอ ที่เล่าเรื่องผ่านเมืองภูเก็ต ทั้งวิถีชีวิต วัฒนธรรม สถานที่ท่องเที่ยว จนทำให้ภูเก็ตกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย หรือวัฒนธรรมการรับน้องใหม่ของไทย ในซีรีส์วาย Sotus The series ที่โด่งดังเมื่อหลายปีก่อน ก็เป็นปัจจัยสำคัญให้คนจีนมาเลือกเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่ไทยเช่นกัน ดังนั้น ไม่ใช่เฉพาะจะต่อยอดการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่วัฒนธรรมการใช้ชีวิต อาหารการกินต่าง ๆ ที่มีเสน่ห์ของไทยเรา ควรจะถูกเล่าผ่านสื่อบันเทิงให้ทั่วโลกได้รับรู้ได้มากกว่าที่เคยเห็นและเป็นอยู่




ภาคเอกชน ชู " Soft Power "กระตุ้นท่องเที่ยวไทย


ทีมข่าว TNN ช่อง 16 ได้ลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์การฟื้นตัวท่องเที่ยวไทย และได้สอบถามความคิดเห็นผู้ประกอบการร้านเช่าชุดไทย ภายในวัดอรุณราชวราราม พบว่า มีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมาก โดยเฉพาะจากเอเชีย เข้ามาใช้บริการเช่าชุดไทยสวมใส่ถ่ายรูปอย่างต่อเนื่อง โดยยอมรับว่า กระแส Soft Power ได้ผลักดันให้ชุดไทยเป็นที่นิยมและเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวทำให้สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับช่างภาพอิสระที่รับจ้างถ่ายภาพให้กับนักท่องเที่ยว ระบุว่า ชุดไทยเป็นปัจจัยหนึ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาท่องเที่ยวและถ่ายภาพเป็นที่ระลึก โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวเอเชีย เช่น เกาหลี จีน ฮ่องกง และเวียดนาม




ด้าน นายสุรวัช อัครวรมาศ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และอุปนายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ระบุว่า กระแสชุดไทย เป็นจุดเด่นด้านการตลาดที่ช่วยผลักดันการท่องเที่ยว มีภาพลักษณ์ที่ดีเพิ่มมากยิ่งขึ้น และเชื่อว่าความนิยมดังกล่าวมาจาก Soft Power ด้านภาพยนตร์และละครของไทย ที่ถูกนำไปฉายในต่างประเทศ ซึ่งนอกจากชุดไทยแล้ว อีกหนึ่ง Soft Power ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวและสร้างเม็ดเงินให้กับภาคธุรกิจท่องเที่ยวจำนวนมาก คือ อาหารไทย และสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม ซึ่ง ปัจจุบันนักท่องเที่ยวหลากหลายชาติ ทยอยเข้ามาท่องเที่ยวต่อเนื่อง คาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้าไทย ราว 25-17 ล้านคน สูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 20 ล้านคน เพราะปัจจุบันเริ่มมีกลุ่มทัวร์นักเรียน และกลุ่มทัวร์รูปแบบของการจัดประชุมแบบองค์กรขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่า MICE เข้ามาอย่างต่อเนื่อง




ภาพจาก : เฟซบุ๊ก Netflix

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก JTBC Drama

ข่าวที่เกี่ยวข้อง