รีเซต

ซินเจียงทำ 'ไร่ฝ้ายอัจฉริยะ' กว่า 200 ไร่ ใช้แรงงานแค่ 1 คน

ซินเจียงทำ 'ไร่ฝ้ายอัจฉริยะ' กว่า 200 ไร่ ใช้แรงงานแค่ 1 คน
Xinhua
10 พฤษภาคม 2565 ( 00:14 )
52
ซินเจียงทำ 'ไร่ฝ้ายอัจฉริยะ' กว่า 200 ไร่ ใช้แรงงานแค่ 1 คน

อุรุมชี, 9 พ.ค. (ซินหัว) -- คุณคิดว่าการดูแลไร่ฝ้ายขนาดใหญ่ราว 208 ไร่ ต้องใช้แรงงานสักกี่คน? พบคำตอบจาก "โม่เสี่ยวอวี้" สาววัย 29 ปี จากมณฑลหูหนานทางตอนกลางของจีน

 

โม่ทำงานที่บริษัทเทคโนโลยีการเกษตรในมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ซึ่งพนักงานที่นี่มีอายุเฉลี่ยไม่เกิน 30 ปี และเพิ่งเปิดตัวโครงการนำร่องการจัดการแบบ "ไร้มนุษย์ควบคุม" บนไร่ฝ้ายขนาด 3,000 หมู่ (1,250 ไร่) ในอำเภออวี้หลี เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ เมื่อปีกลาย

 

โม่บอกเล่าว่าในฐานะช่างภาพของไร่ฝ้าย เธอได้บันทึกภาพกระบวนการใช้เครื่องจักรในขั้นตอนทำฟาร์ม เพาะปลูก และเก็บเกี่ยว ทว่าการจัดการแหล่งเพาะปลูกแบบดั้งเดิมยังต้องพึ่งพาแรงงานมนุษย์อย่างมาก โดยเฉพาะขั้นตอนจ่ายน้ำ

 

ปกติแล้วพื้นที่ปลูกฝ้าย 10-15 หมู่ (ราว 4-6 ไร่) ต้องการเสาจ่ายน้ำ 1 ต้น และสวิตช์หลายตัวที่ต้องใช้มนุษย์ควบคุม บริษัทจึงดำเนินสารพัดการทดลองเพื่อแก้ไขปัญหานี้โดยใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์เทคโนโลยีล่าสุด และนำผลลัพธ์ไปตั้งโปรแกรมเพื่อยกระดับวิธีการจัดการ

 

ความพยายามของเหล่าวิศวกรรุ่นใหม่ประสบผลสำเร็จในเวลาต่อมา โดยเสาจ่ายน้ำในพื้นที่ทดลองเกือบ 270 ต้น ถูกเปลี่ยนเป็นเสาจ่ายน้ำอัจฉริยะ ทั้งยังมีการติดตั้งเครื่องให้ปุ๋ยและชลประทานอัตโนมัติขั้นสูงเพื่อเอื้อต่อการควบคุมระยะไกล รวมถึงประยุกต์ใช้โดรนแบบสำรวจระยะไกลในภารกิจลาดตระเวน ซึ่งปกติแล้วต้องใช้แรงเกษตรกรลงพื้นที่เท่านั้น

 

"ภาพถ่ายโดยโดรนสำรวจระยะไกล ซึ่งขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ สามารถบอกอัตราการงอก การเติบโต และสถานการณ์ศัตรูพืชของฝ้าย มันเจ๋งมากจริงๆ ค่ะ" โม่กล่าว

ก่อนการทดลองเพาะปลูกในปีก่อน กลุ่มเกษตรกรท้องถิ่นเผยกับโม่ว่าพวกเขาเคยใช้แรงงาน 20-30 คน ดูแลไร่ฝ้ายขนาด 3,000 หมู่ (1,250 ไร่) แต่ตอนนี้ทีมงานที่มีเกษตรกรรุ่นใหม่เพียงไม่กี่คนก็สามารถทำงานนี้ได้แล้ว เนื่องด้วยระบบการจัดการแบบไร้มนุษย์ควบคุม

"ปีนี้เราตั้งเป้าบรรลุอัตราการจัดการแบบไร้มนุษย์ควบคุมกว่าร้อยละ 80" หลิงเหล่ย สมาชิกในทีมที่เกิดปี 1993 กล่าว

อ้ายไห่เผิง หนึ่งในทีมงานวัย 32 ปี กล่าวว่าจุดประสงค์ของพวกเขาคือแสวงหารูปแบบการจัดการฟาร์มไร้มนุษย์ควบคุมที่สมบูรณ์ ซึ่งจะช่วยลดความยากลำบากและค่าใช้จ่ายอย่างมีนัยสำคัญ และเปิดโอกาสให้คนหนุ่มสาวมีส่วนร่วมในการเกษตรขนานใหญ่มากขึ้น

โม่อาสาดูแลแปลงปลูกขนาด 500 หมู่ (ราว 208 ไร่) ภายใต้การสนับสนุนจากทีมด้านเทคนิค เพื่อตรวจสอบความซ้ำซ้อนของรูปแบบการจัดการ โดยเธอเช่าบ้านจากคู่สามีภรรยาชาวอุยกูร์ในหมู่บ้านใกล้กับทุ่งฝ้ายมากที่สุดเพื่อรับผิดชอบหน้าที่ใหม่นี้

"ฉันอยากเห็นว่าวิถีชีวิตของเกษตรกรรุ่นใหม่จะเป็นยังไง" โม่กล่าว "ผู้คนควรจินตนาการและมีความคาดหวังต่อเกษตรกรรมและชนบทดีกว่านี้"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง