รีเซต

อภัยภูเบศร เล็งเปิดหลักสูตรใช้ใบกัญชาปรุงอาหาร หลัง ปชช.สนใจตำรับเมนูกัญ

อภัยภูเบศร เล็งเปิดหลักสูตรใช้ใบกัญชาปรุงอาหาร หลัง ปชช.สนใจตำรับเมนูกัญ
มติชน
11 มกราคม 2564 ( 14:53 )
283

หลังจากที่โรงพยาบาล (รพ.) เจ้าพระยาอภัยภูเบศร เปิดตำรับเมนูอาหารจากใบกัญชา โดยจำหน่ายให้เฉพาะบุคลากรของโรงพยาบาลฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 โดยได้จัดทำแผ่นป้ายให้ความรู้เกี่ยวกับการบริโภคใบกัญชาในปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละเมนู ทำให้มีการเผยแพร่และส่งต่อแผ่นป้ายดังกล่าวออกไปตามสื่อต่าง ทำให้มีผู้สนใจสอบถามข้อมูลมาเป็นจำนวนมาก

 

วันนี้ (11 มกราคม 2564) พญ.โศรยา ธรรมรักษ์ ผู้อำนวยการ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการดังกล่าว ว่า เกิดจาก รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นเจ้าภาพจัดทำโครงการกัญชาอภัยภูเบศรโมเดล เป็นการดำเนินการกัญชาทางการแพทย์อย่างครบวงจร ตั้งแต่การปลูกร่วมกับวิสาหกิจชุมชน ผลิตทั้งยาแผนปัจจุบันและแผนไทย การใช้ในผู้ป่วย และศึกษาวิจัยเพื่อเสนอให้เกิดการพัฒนาเชิงนโยบาย และเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ได้มีประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ส่วนใบที่ไม่ติดกับช่อดอก กิ่ง ก้าน ลำต้น เปลือก ราก และ เส้นใย ที่ได้รับการยกเว้นไม่เป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5

 

“ดังนั้น ทำให้เราเกิดแนวคิดว่าต้องให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน ขณะเดียวกัน ก็สื่อสารไปทางนโยบายและนักวิจัยว่า มีประเด็นอะไรที่เราต้องทำงานวิชาการเพิ่มเพื่อทำให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยกลุ่มเป้าหมายของเราหลักๆ มี 2 กลุ่ม คือ ผู้บริโภค และผู้ประกอบการร้านอาหาร” พญ.โศรยา กล่าว

 

 

ผู้อำนวยการ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า โรงพยาบาลจึงได้ใช้คอนเซ็ปต์ “มาชิมกัญ” เพื่อสร้างความน่าสนใจ และเมื่อคนสนใจเราก็จะให้ความรู้ เพื่อการนำไปใช้อย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ของคนไทยนั้น จะใช้กัญชาเป็นเครื่องชูรสในอาหารในปริมาณไม่มากนัก โดย หากนำมาปรุงอาหารก็ใช้ประมาณ 3 ยอด ต่อแกง 1 หม้อ สามารถรับประทานได้ทั้งครอบครัว สำหรับการบริโภค 1 คน ไม่ควรเกิน 5-8 ใบต่อวัน แต่ในองค์ความรู้ปัจจุบันที่มีการศึกษาวิจัยก็พบว่า ในกัญชามีสารทีเอชซี (THC) หรือ Tetrahydrocannabinol ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เรียกง่ายๆ ว่า สารเมา ซึ่งหากบริโภคติดต่อกันในขนาดสูงๆ เป็นเวลานานก็อาจทำให้เสพติดได้ รวมทั้งสารนี้ยังต้องระวังในเด็กและเยาวชน หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ป่วยในบางกลุ่มโรค ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องสื่อสารให้ผู้บริโภคได้รับทราบ

 

พญ.โศรยา กล่าวว่า แม้จะมีข้อมูลว่า ในใบกัญชามีทีเอชซีต่ำกว่าช่อดอกมาก แต่การนำไปบริโภคอย่างไม่เหมาะสมอาจเกิดปัญหาต่อสุขภาพและสังคมได้ อีกทั้งยังมีอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการดูดซึมและสะสมสารนี้ในร่างกาย ได้แก่ อายุของใบ (ใบแก่มีสารเมามากกว่าใบอ่อน) การปรุง (ระยะเวลาการปรุง การปรุงอาหารในระยะเวลานาน การปรุงด้วยไขมัน จะทำให้สามารถดึงสารทีเอชซีมาอยู่ในอาหารได้ดีขึ้น) น้ำหนักตัว และปริมาณไขมันในร่างกายของผู้บริโภค (สารเมามีแนวโน้มสะสมในชั้นไขมันได้นานขึ้น)

 

 

“ซึ่งวันนี้เรายังขาดข้อมูลพอสมควรว่า บริโภคเท่าใดจึงจะทำให้ติดได้ ซึ่งหากในอนาคตมีงานวิจัยตรงนี้เพิ่มเติม ก็จะเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ในส่วนของผู้ประกอบการที่สนใจจะนำกัญชาไปปรุง นั้นเราจะมีการอบรมให้ ซึ่งในขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดทำหลักสูตร โดยจะนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ศึกษามาอย่างกว้างขวางทั่วโลก มาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับให้อาหารไทยมีคุณค่าต่อสุขภาพอย่างแท้จริง ปัจจุบันผู้ประกอบการก็สามารถซื้อใบจากวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อได้ที่ เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)” พญ.โศรยา กล่าว

 

ทืั้งนี้ พญ.โศรยา กล่าวว่า แต่ส่วนที่สามารถดำเนินการได้ง่ายกว่าคือ กัญชง เพราะเป็นพืชในสกุลเดียวกัน สามารถประยุกต์ใช้ได้ อีกทั้ง กัญชงก็มีสารเมาน้อยกว่ากัญชา การใช้ในรูปแบบอาหารน่าจะปลอดภัยกว่า ซึ่งประกาศของกระทรวงสาธารณสุขเรื่องกัญชง จะมีผลบังคับใช้วันที่ 29 มกราคมนี้ ผู้สนใจสามารถสอบถามได้ที่ อย.

 

“ส่วนผู้ที่สนใจอยากร่วมศึกษาเตรียมตัวพบกันได้ในงานมหกรรมกัญชากัญชง 360 องศา เพื่อประชาชน ที่ จ.บุรีรัมย์ ในวันที่ 5-7 มีนาคม 2564 หรือต้องการมาทดลองรับประทานอาหารตำรับกัญชา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ 0 3721 7127 อภัยภูเบศร เดย์ สปา และ 0 3721 1289 ศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร” ผู้อำนวยการ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง