รีเซต

"Iron Dome" เทคโนโลยีการทหารปกป้องน่านฟ้าของประเทศ

"Iron Dome" เทคโนโลยีการทหารปกป้องน่านฟ้าของประเทศ
TNN ช่อง16
30 มิถุนายน 2564 ( 16:19 )
160

จากเหตุการณ์อิสราเอลปะทะกับกลุ่มฮามาสเมื่อช่วงเดือนก่อน รวมไปจนถึงจากการที่เกาหลีใต้ออกมาประกาศจะสร้างระบบสกัดปืนใหญ่ของเกาหลีเหนือ ทำให้ "Iron Dome" กลายเป็นเทคโนโลยีที่น่าจับตามองในหลาย ๆ ประเทศ เพราะจะดีแค่ไหนที่น่านฟ้าของประเทศเรามีระบบคุ้มกัน ที่จะคอยสกัดมิสไซล์หรือลูกปืนใหญ่ไม่ให้ตกมาบนหลังคาบ้านในตอนที่เราหลับ หรือใช้ชีวิตอย่างปกติสุขอยู่ดี ๆ ได้


เทคโนโลยี "Iron Dome" คืออะไร ?

เทคโนโลยี Iron Dome จริง ๆ แล้วไม่ได้หมายถึงการสร้างโดมปกคุมท้องฟ้าเหนือประเทศแต่อย่างใด แต่เป็นเทคโนโลยีดังจับหรือสกัดกั้นเหนือน่านฟ้า ถูกออกแบบมาสำหรับการโจมตีทางอากาศระยะใกล้ โดยระบบ Iron Dome จะทำการติดตั้งเรดาร์ดรวจจับติดตามจรวดเอาไว้บนภาคพื้นดิน เมื่อมีการยิงมิสไซล์ หรือระเบิดปืนใหญ่ยิงเข้ามา และระบบเรดาร์ตรวจจับได้ ระบบควบคุมจะประเมินจุดตกและล็อคเป้าเป้าหมายนั้น ๆ ก่อนจะยิงขีปนาวุธที่ติดตั้งไว้ภาคพื้นดินขึ้นไปสกัด


ตัวระบบสามารถทำงานได้ในทุกสภาพลมฟ้าอากาศ ถูกออกแบบขึ้นเพื่อต่อสู้กับอาวุธพื้นฐานพิสัยการยิงสั้น คือระหว่าง 4 - 70 กม. ตัวระบบสามารถตรวจรู้ได้ว่าจรวดที่ยิงเข้ามานั้นจะยิงตกลงจุดไหน ทำให้สามารถประเมินได้ว่าการโจมตีที่โจมตีเข้ามานั้นเป็นอันตรายหรือไม่ได้ อีกจุดเด่นหนึ่งคือ ระบบ Iron Dome สามารถที่จะอัปเกรดให้มีประสิทธิภาพสูงมากขึ้นได้อีกด้วย เช่น ของอิสราเอล ที่หลังจากพัฒนา Iron Dome สำเร็จ (ใช้เวลา 4 ปี) ต่อมาก็อัปเกรดเพิ่มเข้าไปอีก 8 ระบบ เพิ่มระยะดักจับสูงสุดจาก 70 กิโลเมตรไปเป็น 250 กิโลเมตร เป็นต้น



ประเทศที่มีเทคโนโลยี "Iron Dome"

จากข้อมูลที่ค้นหามาได้ มีหลายประเทศทีเดียวที่ติดตั้ง Iron Dome เอาไว้ โดยจุดอ่อนของระบบดังกล่าวอยู่ที่รัศมีในการป้องกันที่ทำได้ประมาณ 100–150 ตารางกิโลเมตร ทำให้มันเหมาะกับประเทศเล็ก ๆ อย่าง อิสราเอล แต่ไม่เหมาะกับประเทศหรือรัฐใหญ่ ๆ แม้แต่ในอิสราเอลเอง ยังจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายระบบป้องกันไปตามจุดที่มีความเสี่ยงที่จะโจมตีสูง โดยต่อไปนี้คือประเทศต่าง ๆ ที่มีเทคโนโลยี Iron Dome หรือกำลังจะมี

  • อิสราเอล : ติดตั้งเอาไว้เพื่อปกป้องประเทศจากฉนวนกาซา หรือจากกลุ่มฮามาส
  • สิงคโปร์ : ติดตั้งเอาไว้เพื่อปกป้องประเทศ (ไม่ระบุว่าปกป้องจากอะไร)
  • สหรัฐฯ : ติดตั้งเอาไว้เพื่อปกป้องฐานทัพในต่างประเทศ (อิรักและอัฟกานิสถาน)
  • อาเซอร์ไบจาน : เชื่อว่าติดตั้งไว้เพื่อปกป้องประเทศจากงอาร์เมเนีย เพราะมีการซื้อขีปนาวุธพิสัยใกล้
  • อินเดีย : ติดตั้งเอาไว้เพื่อปกป้องประเทศจากปากีสถาน
  • โรมาเนีย : ติดตั้งเอาไว้เพื่อปกป้องประเทศ (ไม่ระบุว่าปกป้องจากอะไร)
  • NATO : สำหรับใช้ปกป้องกองกำลัง NATO ที่ประจำการในอัฟกานิสถานและอิรัก
  • เกาหลีใต้ : ติดตั้งเอาไว้เพื่อปกป้องประเทศจากเกาหลีเหนือ



ราคาของเทคโนโลยี "Iron Dome" 

เชื่อว่าราคาของเทคโนโลยี "Iron Dome" จะแปรผันไปตามสภาพแวดล้อม ความสามารถ และภูมิประเทศ

  • ในปี 2014 ขีปนาวุธสกัดกั้น Tamir มีราคาตั้งแต่ 20,000 -  50,000 เหรียญสหรัฐ
  • ในปี 2020 คาดว่าราคาติดตั้งรวมทั้งหมดอยู่ที่ 100,000 ถึง 150,000 เหรียญสหรัฐ สำหรับการสกัดกั้นแต่ละครั้ง
  • เทคโนโลยี Skyguard ใช้ลำแสงเลเซอร์ยิงสกัดกั้นจรวด ยิงครั้งละ 1,000-2,000 ดอลลาร์ (อิสราเอลไม่ได้ใช้)



จุดอ่อนของเทคโนโลยี "Iron Dome"

Iron Dome สามารถสกัดกั้นการโจมตีได้มากเท่าที่ตัวระบบรองรับ (เครื่องยิงสกัด) หากฝ่ายตรงข้ามใช้การโจมตีที่มากกว่า ระบบก็จะไม่สามารถสกัดกั้นได้ทั้งหมด นอกจากนี้ในการสกัดกั้นแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก เมื่อเทียบกับจรวดที่ยิงเข้ามา ซึ่งมีราคาที่ถูกกว่ามาก เชื่อว่าในอนาคต Iron Dome จะพัฒนาเครื่องยิงสกัด ที่เน้นในการยิงสกัดกั้นแบบไม่จำกัดกระสุน นอกจากนี้ Iron Dome ยังแพ้ทางจรวดวิถีต่ำอีกด้วย


แม้ "Iron Dome" จะดูเป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ มันสามารถปกป้องเราจากการโจมตีโดยประเทศหรือพื้นที่ใกล้เคียงได้ แต่เมื่อต้องยิงสกัดกั้นหนึ่งครั้ง มันก็อาจทำให้ประเทศของเราต้องสูญเสียเงินเป็นจำนวนมาก ดังนั้นมันจึงเหมาะกับประเทศหรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการโจมตีเสียมากกว่า ที่จะติดตั้งเทคโนโลยีนี้เอาไว้

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง