รีเซต

‘จับกัง1’ เร่งเครื่องกระตุ้นเศรษฐกิจ ปล่อยสินเชื่อจ้างงาน 3 หมื่นลบ. พยุงธุรกิจฟื้นตัวโควิด-19

‘จับกัง1’ เร่งเครื่องกระตุ้นเศรษฐกิจ ปล่อยสินเชื่อจ้างงาน 3 หมื่นลบ. พยุงธุรกิจฟื้นตัวโควิด-19
มติชน
18 สิงหาคม 2563 ( 08:27 )
79
‘จับกัง1’ เร่งเครื่องกระตุ้นเศรษฐกิจ ปล่อยสินเชื่อจ้างงาน 3 หมื่นลบ. พยุงธุรกิจฟื้นตัวโควิด-19

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนประเทศ โดยเฉพาะการเร่งฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโคโรนา 2019 หรือโควิด -19 คลี่คลายลง

 

โดยนำนโยบาย “รวมไทยสร้างชาติ” เข้ามาดำเนินการ เพื่อมีเป้าหมายที่จะผนึกกำลังจากทุกภาคส่วนมาร่วมกันวางแผน เพื่อกำหนดอนาคตประเทศไทย” ซึ่งจากนี้ไปรัฐบาลจะต้องทำงาน โดยดึงทุกภาคส่วน ทุกระดับในสังคม เข้ามามีส่วนร่วม และมีบทบาทมากขึ้น ในการช่วยกันกำหนดอนาคตของประเทศ

 

โดยเฉพาะการเร่งเยียวยาความเจ็บปวดที่ประชาชนกำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบ และประชาชนในภาคส่วนต่างๆ ที่ต้องตกงานในช่วงที่ผ่านมา ตลอดจนการสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจต่างๆ ยังคงการจ้างงานลูกจ้างของธุรกิจต่อไป และให้ภาคธุรกิจต่างๆ ใช้ช่วงเวลานี้ พลิกองค์กรของตัวเองให้กลายเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพและสามารถแข่งขันได้ดีขึ้น

 

นายสุชาติ กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม (สปส.) มีโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน ซึ่งสปส.จะร่วมกับสถาบันการเงินสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 30,000 ล้านบาท ให้แก่สถานประกอบการ โดยโครงการดังกล่าวจะทำข้อตกลงกับธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการ โดยสปส.จะสนับสนุนเงินฝากเพื่อให้ธนาคารนำไปปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3% ต่อปี

 

กรณีมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และดอกเบี้ยคงที่ 5% ต่อปี กรณีไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันโดยสถานประกอบการ ที่จะยื่นกู้ได้ต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคม มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน และต้องรักษาสถานภาพการจ้างงานผู้ประกันตน ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 เป็นระยะเวลา 3 ปี สามารถยื่นกู้ได้ถึง 31 ธันวาคม 2563 แบ่งเป็น วงเงิน 18,000 ล้านบาท สำหรับสถานประกอบการที่มีลูกจ้างน้อยกว่า 50 คน สามารถกู้ได้ไม่เกินวงเงิน 5 ล้านบาท วงเงิน 9,000 ล้านบาท

 

สำหรับสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 51 – 200 คน สามารถกู้ได้ไม่เกิน วงเงิน 10 ล้านบาท และวงเงิน 3,000 ล้านบาทสำหรับสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 201 คนขึ้นไป สามารถกู้ได้ไม่เกินวงเงิน 15 ล้านบาท

 

“ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถขอหนังสือรับรองสถานะสถานประกอบการ ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขาทุกแห่ง เพื่อนำไปติดต่อขอยื่นกู้กับธนาคารที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) และธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 31 ธันวาคม 2563 มาตรการดังกล่าวจะช่วยเป็นทุนหมุนเวียนและเสริมสร้างสภาพคล่องในสถานประกอบการรักษาสภาพการจ้างงาน ยังทำให้เกิดทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ และพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอีกด้วย” นายสุชาติ กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง