รีเซต

สิ่งที่ควรรู้ สำหรับ นักบินโดรนมือใหม่ อยากเล่นโดรนต้องรู้อะไรบ้าง

สิ่งที่ควรรู้ สำหรับ นักบินโดรนมือใหม่ อยากเล่นโดรนต้องรู้อะไรบ้าง
EntertainmentReport1
1 พฤษภาคม 2568 ( 22:45 )
12

โดรน หรือที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า อากาศยานไร้คนขับ เดิมทีเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในทางการทหารเสียเป็นส่วนใหญ่ เช่น ใช้สำหรับการสอดแนม การติดอาวุธเพื่อใช้ในกองทัพ แต่ต่อมาด้วยการที่มีต้นทุนการผลิตที่ลดลง เทคโนโลยีที่ดีขึ้น ทำให้โดรนถูกนำมาใช้งานในเชิงพาณิชย์มากขึ้น เช่น การถ่ายภาพทางอากาศ การขนส่งสินค้า การเกษตร การรักษาความปลอดภัย ไปจนถึงการแข่งขันต่างๆ ก็มีให้เห็นแล้ว เป็นต้น 

จนมาถึงปัจจุบันโดรนเริ่มมีราคาถูกลงเรื่อยๆ จนบางทีในงบไม่ถึง 1,000 บาท ก็มีโดรนฝึกบินให้ซื้อมาใช้งานคล้ายของเล่น แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับมือใหม่การบินโดรนอย่างไม่ถูกวิธี ก็อาจทำให้เกิดการละเมิดกฏหมายจนถูกดำเนินคดีขึ้นได้ ดังนั้นวันนี้พวกเราทีมงาน TrueID เรามีความรู้เบื้องต้นสำหรับมือใหม่หัดบินโดรนมาฝากกันครับ ดังนี้เลย

 

ทำความเข้าใจประเภทของโดรนและการใช้งาน

ควรกำหนดเป้าหมายว่าเราต้องการบินโดรนเพื่อวัตถุประสงค์ใด เพราะบางประเภทจะมีข้อกำหนดและใบอนุญาตที่แตกต่างกัน โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มหลักๆ ได้ดังนี้

  • โดรนเพื่อสันทนาการ: เหมาะสำหรับการบินเล่น ถ่ายภาพ/วิดีโอทั่วไป ราคาไม่สูงมาก
  • โดรนเพื่อการพาณิชย์: ใช้ในงานต่างๆ เช่น ถ่ายภาพ/วิดีโอทางอากาศระดับมืออาชีพ, การเกษตร, การสำรวจ, การขนส่ง, การรักษาความปลอดภัย มักมีฟังก์ชันและราคาที่สูงกว่า
  • โดรนเฉพาะทาง: เช่น โดรนสำหรับแข่ง, โดรนใต้น้ำ, โดรน VTOL (ขึ้นลงแนวดิ่ง)

 

ศึกษาและทำความเข้าใจกฎหมายและข้อบังคับ

สำหรับมือใหม่อาจคิดว่า เราสามารถบินโดรนที่ไหนก็ได้ แต่ที่จริงแล้ว การบินอย่างถูกกฏหมาย จะมีข้อกำหนดอ้างอิงจากสำนักงาน กสทช. ดังนี้ 

  1. ห้ามทำการบินในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน และรบกวนความสงบสุขของบุคคลอื่น
  2. ห้ามทำการบินเข้าไปในบริเวณเขตหวงห้าม เขตกำกัด และเขตอันตรายตามที่ประกาศในเอกสารแถลงข่าว การบินของประเทศไทย (Aeronautical Information Publication – Thailand หรือ AIP – Thailand) รวมทั้งสถานที่ราชการ หน่วยงานของรัฐ โรงพยาบาล เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่
  3. แนวการบินขึ้นลงของอากาศยานจะต้องไม่มีสิ่งกีดขวาง
  4. ผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานต้องสามารถมองเห็นอากาศยานได้ตลอดเวลาที่ทำการบินและห้ามทำการบังคับ อากาศยาน โดยอาศัยชุดกล้องบนอากาศยานหรืออุปกรณ์อื่นที่มีลักษณะใกล้เคียง
  5. ต้องทำการบินในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก ซึ่งสามารถมองเห็นอากาศยานได้อย่างชัดเจน
  6. ห้ามทำการบินเข้าใกล้หรือเข้าไปในเมฆ
  7. ห้ามทำการบินภายในระยะ 9 กิโลเมตร (5 ไมล์ทะเล) จากสนามบินหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยาน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของหรือผู้ดำเนินการสนามบินอนุญาตหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวอนุญาต
  8. ห้ามทำการบินโดยใช้ความสูงเกิน 90 เมตร (300 ฟุต) เหนือพื้นดิน
  9. ห้ามทำการบินเหนือเมือง หมู่บ้าน ชุมชน หรือพื้นที่ที่มีคนมาชุมนุมอยู่
  10. ห้ามบังคับอากาศยานเข้าใกล้อากาศยานซึ่งมีนักบิน
  11. ห้ามทำการบินละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น
  12. ห้ามทำการบินโดยก่อให้เกิดความเดือดร้อน ความรำคาญแก่ผู้อื่น
  13. ห้ามส่งหรือพาวัตถุอันตรายตามที่กำหนดในกฎกระทรวงหรืออุปกรณ์ปล่อยแสงเลเซอร์ติดไปกับอากาศยาน
  14. ห้ามทำการบินโดยมีระยะห่างในแนวราบกับบุคคล ยานพาหนะ สิ่งก่อสร้างอาคาร ที่ไม่เกี่ยวข้อง กับการปฏิบัติการบินน้อยกว่า 30 เมตร (100 เมตร) ในกรณีอากาศยานที่มีน้ำหนักไม่เกิน 2 กิโลกรัม และ 50 เมตร (150 ฟุต) ในกรณีอากาศยานที่มีน้ำหนักเกินกว่า 2 กิโลกรัม แต่ไม่เกิน 25 กิโลกรัม
  15. เมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นแก่อากาศยานให้ผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานแจ้งอุบัติเหตุนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยไม่ชักช้า (ในเวลาราชการ โทร 02 568 8800 ต่อ 1504, 1505 โทรสาร 02 568 8848 นอกเวลาราชการ 081 839 2068 หรือ email : uav@caat.or.th)

 

 

พระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 มาตรา 24

“ห้ามมิให้ผู้ใดบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน หรือทิ้งร่มอากาศ นอกจากได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรีและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด” มาตรา 78 “ผู้ใดบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรีตามมาตรา 24 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” มาตรา 80 “ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์การขออนุญาตและเงื่อนไข ในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน ประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก ประกาศ ณ วันที่ 2 กรกฎาคม 2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท”

 

ต้องขึ้นทะเบียนโดรนที่หน่วยงานใด? 

จะต้องขึ้นทะเบียนทั้ง 2 หน่วยงาน ดังนี้

  1. ขึ้นทะเบียนผู้ครอบครองโดรนที่ สำนักงาน กสทช. (เสมือนการทำทะเบียนรถยนต์)
  2. ขึ้นทะเบียนผู้บังคับโดรนที่ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) (เสมือนการทำใบขับขี่รถยนต์)

 

โดรนประเภทใดบ้างที่ต้องขึ้นทะเบียน? 

โดรนที่ต้องขึ้นทะเบียน แบ่งออกเป็น 2 หน่วยงาน ดังนี้

  1. โดรนทุกประเภท ต้องขึ้นทะเบียนผู้ครอบครองโดรนที่ สำนักงาน กสทช. (NBTC)
  2. โดรนที่มีคุณสมบัติดังนี้ ต้องขึ้นทะเบียนผู้บังคับโดรนที่ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT)
    1. โดรนที่ติดตั้งกล้องบันทึกภาพ ต้องขึ้นทะเบียนทุกกรณี
    2. โดรนที่น้ำหนักเกิน 2 กิโลกรัม แต่ไม่เกิน 25 กิโลกรัม ต้องขึ้นทะเบียนทุกกรณี (โดรนที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 2 กิโลกรัม ไม่ต้องขึ้นทะเบียน)
    3. โดรนที่น้ำหนักเกิน 25 กิโลกรัมขึ้นไป ต้องขึ้นทะเบียนทุกกรณี และต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังลือจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

นอกจากนี้ การบินโดรนในบางสถานที่ยังถูกจำกัดเด็ดขาดด้วย เช่น ในระยะ 19 กิโลเมตรจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หรือในเขตพระราชฐาน, ในเขตหวงห้ามเช่นสนามบินในระยะ 9 กิโลเมตร และที่สำคัญความรักษาความเป็นส่วนตัวของบุคคล หรือชุมชนด้วย ซึ่งควรได้รับอนุญาตจากเจ้าของสถานที่ก่อน

 

ความรู้เบื้องต้นการบินโดรน

สำหรับมือใหม่ ก่อนที่จะออกไปบินโดรนในสถานการณ์จริง ควรเริ่มต้นจากพื้นฐาน ฝึกฝนให้คล่องในพื้นที่เปิดโล่งและปลอดภัยเสียก่อน เช่น ควรฝึกบินในความสูงไม่มาก เพื่อลดความเสียหายหากเกิดข้อผิดพลาด, บินขึ้นลงให้คล่อง, ฝึกเดินหน้า ถอยหลัง เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา เป็นต้น จากนั้นค่อยๆ เพิ่มความท้าทายเมื่อคุ้นเคยกับการควบคุมพื้นฐานแล้ว อาจลองฝึกบินในสภาพลมแรง หรือการบินตามเส้นทางที่กำหนด

สภาพอากาศ ก็มีส่วนสำคัญในการบินโดรน ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการบินโดรนในสภาพอากาศไม่ดี เช่น ลมแรง ฝนตก หมอกหนา พายุคะนอง อุณหภูมิสูงหรือต่ำเกินไป เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับอุปกรณ์

นอกจากนี้ ควรศึกษาเรื่องแบตเตอรี่อย่างละเอียด เช่น ระยะเวลาการใช้งาน หรือระยะเวลาการชาร์จ และไม่ควรเล่นโดรนจนแบตหมด 100% ควรเผื่อแบตเตอรี่ไว้สำหรับการบินกลับอย่างปลอดภัยด้วย 

 

หาความรู้เพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอ

เมื่อเราสามารถใช้งานโดรนเป็นแล้ว ความหาความรู้จากผู้อื่นหรือศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยในโซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆ จะมีกลุ่มออนไลน์และออฟไลน์มากมายที่คุณสามารถเข้าร่วมเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และข่าวสารต่างๆ รวมถึงควรเข้าร่วมกิจกรรมและเวิร์คช็อปต่างๆ เพื่อเป็นโอกาสที่ดีในการเรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ พบปะผู้คนในวงการ และอาจต่อยอดจนสร้างเสริมเป็นอาชีพได้ในอนาคต 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง