สุดอึ้ง ! สหรัฐฯ ทำให้ AI เก่งถึงขั้นช่วยแนะวิธีรักษามะเร็งแล้ว !
การใช้ AI ในวงการต่าง ๆ นั้นกลายเป็นเรื่องปกติเข้าไปทุกวัน ไม่เว้นแม้แต่วงการการแพทย์ ซึ่งโดยทั่วไปมักพบในการใช้งานควบคู่กับเครื่องมือการแพทย์เพื่อเสริมความแม่นยำในการรักษาหรือการผ่าตัด แต่แพทย์นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) ได้ทำการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่มีพื้นฐานจากระบบเรียนรู้ด้วยตัวเอง (Machine Learning) ในการวิเคราะห์การทำงานของโครงสร้างโปรตีนที่ส่วนพื้นผิวของเซลล์เม็ดเลือดขาวเพื่อคาดการณ์วิธีการรักษามะเร็งที่เหมาะสม
ระบบดังกล่าวมีชื่อว่า ดีปทีซีอาร์ (DeepTCR) โดย TCR หรือเรียกว่า T-Cell Receptor (ทีเซลล์ รีเซปเตอร์) เป็นชื่อของส่วนโครงสร้างกรดอะมิโน (Amino Acid Structure) บนเซลล์เม็ดเลือดขาวประเภททีเซลล์ (T-Cell) ที่ทำหน้าที่ต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย รวมถึงเซลล์มะเร็งด้วยเช่นกัน
การพัฒนาจะเริ่มจากรวบรวมข้อมูลรูปแบบการตอบสนองของกรดอะมิโนแบบต่าง ๆ ที่มีต่อเซลล์มะเร็ง หลังการให้การรักษาด้วยยาแบบผสม 2 ชนิด ซึ่งพบว่ามีรูปแบบการตอบสนองถึง 43 รูปแบบ จากนั้นข้อมูลที่ได้นี้จะถูกนำไปป้อนเข้าสู่ฐานข้อมูลของดีปทีซีอาร์ (DeepTCR) เพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมที่สุด ผ่านการค้นหาเอกลักษณ์เชิงโมเลกุล (Molecule Characteristics) ที่ส่งสัญญาณว่าการรักษานั้นได้ผล
จากการเก็บข้อมูล TCR นับพัน ดีปทีซีอาร์ (DeepTCR) พบว่าผู้ที่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม จะมี TCR ที่สามารถเข้าคู่กำจัดเซลล์เนื้องอกหรือเซลล์มะเร็งได้มากกว่าผู้ที่ได้รับการรักษาที่ไม่เหมาะสม โดยการเปรียบเทียบจำนวนความหลากหลายของ TCR ในช่วงก่อนรับการรักษาและระหว่างการรักษา ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะนำไปเก็บไว้และใช้ในการทำนายการรักษาที่เหมาะสมในคนไข้คนถัดไปที่นำเซลล์เลือดและเซลล์มะเร็งมาวิเคราะห์
ดร.จอห์น-วิลเลียม สิดหอม นักวิจัยหลัก (First Author) ของการวิจัยนี้มองว่าสิ่งที่ ดีปทีซีอาร์ (DeepTCR) ค้นพบนั้นได้เปิดมิติใหม่ของการทำนายการตอบสนองของเนื้องอกที่มีต่อระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยด้วยการนำ AI มาเป็นกลยุทธ์ใหม่ในการค้นหาตัวรับ (Receptor) ที่เหมาะสมกับการรักษา ซึ่งทำให้การฆ่าเซลล์มะเร็งตรงเป้ามากยิ่งขึ้น
ที่มาข้อมูล Interesting Engineering
ที่มารูปภาพ Unsplash