รีเซต

ไม่ดื่มนม มีราคาที่ต้องจ่าย! เปิด 8 ความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับการ "ดื่มนม"

ไม่ดื่มนม มีราคาที่ต้องจ่าย! เปิด 8 ความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับการ "ดื่มนม"
TNN ช่อง16
6 มกราคม 2566 ( 12:24 )
89

รศ.ดร.เจษฎา เผย 8 ความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับการ "ดื่มนม" ที่หลายคนเข้าใจผิด ชี้เป็นแหล่งของโปรตีนที่มีคุณภาพดี ขณะที่แคลเซียมในนมก็มีปริมาณมากและดูดซึมได้ดี


รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์  เกี่ยวกับ "การไม่ดื่มนม มีราคาที่ต้องจ่าย" -- 8 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการดื่มนม" 


โดยระบุว่า "มีคนส่งมาถามเยอะมากถึงเรื่องผลของการดื่มนม ที่มีบางท่านอ้างกันว่าไม่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งก็ต้องขอตอบว่า เคยโพสต์อธิบายมาหลายครั้งแล้ว ว่าการดื่มนมไม่ได้จะเป็นอันตรายอะไรขนาดนั้น เป็นความเชื่อตามกันที่ถูกบิ้วต์ให้หวาดกลัวนมจนเกินจริงของบางกลุ่ม (ไม่ว่าจะกลุ่มวีแกน กลุ่มศาสตร์ชะลอวัย รวมไปถึงกลุ่มต่อต้านโลกร้อน จากการเลี้ยงปศุสัตว์) 


แต่ในทางการแพทย์กระแสหลักทั่วโลกแล้ว นมและผลิตภัณฑ์จากนม เป็นอาหารที่มีคุณประโยชน์สูงและได้รับการส่งเสริมให้บริโภคกันมาโดยตลอด ดังเช่นที่ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations หรือ FAO) ได้กำหนดให้วันที่ 1 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันดื่มนมโลก มีการรณรงค์ให้คนทั่วโลกดื่มนม โดยเฉพาะเด็กในวัยเจริญเติบโต เพื่อสุขภาพที่ดี 


นม เป็นแหล่งของโปรตีนที่มีคุณภาพดี ขณะที่แคลเซียมในนมก็มีปริมาณมากและดูดซึมได้ดีด้วย แคลเซี่ยมในนมมีความสำคัญมากต่อมวลกระดูกและการขยายตัวของกระดูก โดยเฉพาะในวัยเด็กและช่วงวัยรุ่น ที่ร่างกายเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว มีการสะสมมวลกระดูกเพิ่มขึ้นมาก นมจึงช่วยทำให้กระดูกและฟันของเด็กแข็งแรง และช่วยเพิ่มส่วนสูง 


นอกจากนี้ นมยังมีวิตามินหลายชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย อาทิเช่น วิตามินเอ ที่ช่วยในการมองเห็นและเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย , วิตามินบี 2 ที่ช่วยในกระบวนการเผาผลาญอาหาร กระตุ้นให้ร่างกายทำงานได้เป็นปกติ และป้องกันโรคปากนกกระจอก , วิตามินบี 12 ที่ช่วยในการเจริญเติบโตของเซลล์เม็ดเลือดแดง


แต่จากความเชื่อของพ่อแม่คนไทยยุคเก่า ที่คิดว่าคนเราควรหยุดดื่มนมไปเลยเมื่อเด็กหย่านมแม่และเติบโตขึ้น ทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กไทยมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากเรื่องความสูงของเด็กไทยที่ไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับชาติอื่นๆ โดยส่วนสูงเฉลี่ยเด็กไทยอายุ 12 ปีนั้น เพศชายอยู่ที่ 147.1 เซนติเมตร และเพศหญิงอยู่ที่ 148.1 เซนติเมตร 


ขณะที่ส่วนสูงเฉลี่ยเมื่ออายุ 19 ปี เพศชาย 170.9 เซนติเมตร และเพศหญิง 158.1 เซนติเมตร ยิ่งไปกว่านั้น จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุขยังระบุด้วยว่า ปัจจุบันมีจำนวนเด็กไทยที่อยู่ในเกณฑ์เตี้ย เพิ่มมากขึ้นจาก 9.7% เป็น 12.9% 


ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลเรื่องการดื่มนมของเด็กไทย ที่ดื่มนมน้อยเฉลี่ยเพียงวันละครึ่งแก้ว ส่วนเด็กวัยเรียนที่ดื่มนมทุกวันนั้น ก็มีเพียง 31.1% ขณะที่เด็กวัยรุ่นลดลงเหลือ 14.9% หรือถ้าคิดเฉลี่ยทุกคนแล้ว คนไทยดื่มนมประมาณ 18 ลิตรต่อคนต่อปี 


ขณะที่ค่าเฉลี่ยของคนเอเชียอยู่ที่ 66 ลิตรต่อคนต่อปี (เกาหลีใต้ 30 ลิตร/คน/ปี , ญี่ปุ่น 32 ลิตร/คน/ปี , อินเดีย 59 ลิตร/คน/ปี) และทั่วโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 113 ลิตรต่อคนต่อปี นำไปสู่ความพยายามที่จะรณรงค์ให้เด็กไทยดื่มนมเพิ่มขึ้น ให้ได้เป็นประมาณ 2 แก้วต่อวัน (เช่น ดื่ม 1 แก้วที่โรงเรียนจัดหาให้ และอีก 1 แก้วที่บ้าน) ร่วมกับการกินอาหารประเภทอื่น ๆ ให้ครบถ้วนและหลากหลาย ในปริมาณที่เหมาะสม พร้อมที่ส่งเสริมให้ออกกำลังกาย ออกไปรับแสงแดดทุกวัน (ให้ร่างกายได้สร้างวิตามินดี ซึ่งจะส่งเสริมการดูดซึมแคลเซียมจากนม) และนอนให้เพียงพอ จะช่วยให้เด็กไทยเติบโตแข็งแรงขึ้น  สูงสมวัยตามเป้าหมายที่ว่าไว้ว่า ภายในปี 2570 ส่วนสูงเฉลี่ยของเด็กไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น (อายุ 12 ปี) เด็กชาย 152 เซนติเมตร และ เด็กหญิง 153 เซนติเมตร / (อายุ 19 ปี) ชาย 175 เซนติเมตร และ หญิง 165 เซนติเมตร


สำหรับความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการดื่มนมนั้น มีอยู่หลายประการ จะขอยกมาเขียนสัก 8 ข้อ 

#ข้อ1: คนเราไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ดื่มนมวัว เพราะมีน้ำตาลแลคโตสที่ร่างกายย่อยไม่ได้

- คนส่วนใหญ่แล้วสามารถย่อยนมได้สบาย ซึ่งมนุษย์เราได้เริ่มดื่มนมกันมาตั้งแต่ที่เริ่มเอาวัว ควาย แพะ แกะ ฯลฯ จากในป่า มาเลี้ยงกันเมื่อกว่าหนึ่งหมื่นปีก่อนแล้ว จึงเป็นอาหารหนึ่งที่ร่างกายของคนเราวิวัฒนาการมาให้บริโภคได้

- น้ำตาลแลคโตส (Lactose) ที่อยู่ในนม นั้นเกิดขึ้นมาตามธรรมชาติและต้องใช้เอนไซม์แลคเตส (lactase) ในร่างกายเราในการย่อย ซึ่งไม่ว่าจะนมแม่ของคน หรือของวัว แพะ แกะ ฯลฯ ก็ตาม ก็ล้วนแล้วแต่มีน้ำตาลแลกโตส และใช้เอนไซม์ที่ร่างกายผลิตขึ้นในการย่อย ทำให้เรากินนมแม่ได้ตั้งแต่เป็นทารก และยังดื่มนมได้เรื่อยๆ ถ้าไม่ได้เลิกดื่มนมไปเสียก่อนเมื่อโตขึ้น 

- อย่างไรก็ตาม มีหลายคนที่มีอาการแพ้น้ำตาลแลคโตส (lactose intolerance) เนื่องจากร่างกายมีเอนไซม์แลกเตสน้อย ทำให้ย่อยน้ำตาลในนมไม่หมด น้ำตาลแลกโตสถูกส่งผ่านมาถึงลำไส้ใหญ่และมาถูกเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ย่อยเป็นอาหาร จึงเกิดอาการไม่สบายต่อระบบทางเดินอาหารหลังจากดื่มนมหรือกินผลิตภัณฑ์จากนม เช่น แน่นท้อง ท้องอืด ปวดท้อง ผายลมบ่อย คลื่นไส้ ท้องเสีย อาเจียน ถ่ายเหลว ซึ่งอาการเช่นนี้จะพบในผู้ใหญ่มากกว่าในเด็ก และในบางคน อาจจะเกิดขึ้นชั่วคราวจากการติดเชื้อโรคในทางเดินอาหาร จนไปทำลายเยื่อบุลำไส้และทำให้สร้างเอนไซม์แลกเตสไม่ได้ (ซึ่งเมื่อหายจากโรคแล้ว ก็สามารถกลับมากินนมได้ใหม่)

- มีการประเมินไว้ว่า ประมาณ 2 ใน 3 ของประชากรทั้งโลกมีอาการแพ้น้ำตาลแลคโตส โดยอัตราส่วนของประชากรชาวเอเชียและชาวอัฟริกา ที่มีอาการแพ้น้ำตาลแลกโตสนั้น จะมีอัตราส่วนสูงกว่าชาวยุโรป อันเนื่องจากมีการการบริโภคนมในอาหารประจำวันน้อยกว่า 

- ซึ่งถ้าใครมีอาการแพ้น้ำตาลแลกโตส ก็ยังสามารถบริโภคอาหารที่เป็นผลิตภัณฑ์นมชนิดที่เอาน้ำตาลแล็กโตสออกไปแล้ว (เช่น เนย) หรือถูกย่อยแล้ว (เช่น ชีส) หรือถูกหมัก (เช่น โยเกิร์ต) หรือแม้แต่นมแลคโตสฟรี ซึ่งก็จะทำให้ยังสามารถได้รับสารอาหารต่างๆ จากนมได้อย่างครบถ้วน ขาดเพียงแค่น้ำตาลแลคโตสเท่านั้น 

- ไม่ควรจะกังวลมากเกินไปเรื่องอาการแพ้น้ำตาลแลกโตส จนทำให้หลีกเลี่ยงการกินนมและผลิตภัณฑ์นมนั้น เพราะนมเป็นแหล่งที่ดีของแคลเซี่ยม ซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของกระดูกของเด็ก ตลอดจนจำเป็นสำหรับการรักษากระดูกของผู้ใหญ่ให้เป็นปรกติ 

- ที่สำคัญคือ "อย่าสับสน" ระหว่างอาการแพ้น้ำตาลแลกโตส (lactose intolerance) กับการแพ้โปรตีนในนมวัว (cow milk protein allergy) การแพ้โปรตีนในอาหารนั้น จะเป็นเรื่องของการตอบสนองอย่างรุนแรง ของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย (ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการย่อยน้ำตาลไม่ได้) แล้วมักทำให้เกิดอาการผิดปรกติตามมาอย่างรวดเร็ว เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เป็นลมพิษ ผื่นคัน ภูมิแพ้ผิวหนัง ตาและริมฝีปากบวม น้ำมูกไหล ไอจาม หรือหนักมากก็อาจจะถึงขั้นแพ้รุนแรงหรือ อานาไฟแลกซิส (anaphylaxis)  ทำให้หยุดหายใจหรือต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์อย่างเร่งด่วน 

- กรณีการแพ้โปรตีนในนมวัว นั้นจะพบได้ในเด็กทารกและเด็กเล็ก มากกว่าในผู้ใหญ่ (ประมาณ 7% ของเด็กทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี) แต่เด็กส่วนใหญ่จะหายจากอาการแพ้โปรตีนในนมวัวนี้ได้เมื่ออายุ 5 ขวบขึ้นไป จึงไม่จำเป็นที่จะต้องห้ามไม่ให้เด็ก 


#ข้อ2: นมมีแต่ไขมัน จึงทำให้อ้วน

- การที่คนเราจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เป็นเรื่องของจำนวนแคลอรี่ที่กินเข้าไปเทียบกับจำนวนที่ร่างกายต้องการนำไปใช้งาน (คือนำเข้าแคลอรี่ มากกว่าที่ใช้ไปกับกิจกรรมและการออกกำลังกายในแต่ละวัน แล้วสะสมในรูปของไขมัน และเส้นรอบเอวที่เพิ่มขึ้น) ซึ่งมันมีผลจากทั้งอาหารทุกอย่างที่กินเข้าไป และจากไลฟ์สไตล์ของชีวิตรวมกัน ไม่ได้จะเกิดจากเพียงแค่อาหารหรือเครื่องดื่มชนิดใดชนิดหนึ่ง 

- โดยรวมแล้ว มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บอกว่า การดื่มนมนั้น จะมีแนวโน้มไปทางเป็นกลาง ต่อการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัว และนม ก็ไม่ใช่อาหารที่มีไขมันสูงอย่างที่หลายคนเข้าใจ แม้แต่นมที่เรียกว่า ฟูลแฟตมิลค์ full fat milk ก็มีไขมันอยู่ในนมเพียงแค่ 4% หรือถ้าเป็นนมที่พร่องไขมันลงมา ไขมันก็จะอยู่ที่ประมาณน้อยกว่า 2% 

- นมนับว่าเป็นส่วนน้อยมากของแคลอรี่ที่เรากินเข้าไปในแต่ละวัน ขนาดในประเทศสหราชอาณาจักร ยังพบว่านมและครีมนั้นนับเป็นเพียงแค่ 4% โดยเฉลี่ยของแคลอรี่อาหารของผู้ใหญ่ในแต่ละวัน , ชีส ให้แคลอรี่ 3% และโยเกิร์ตรวมถึงผลิตภัณฑ์จากนมอื่นๆ เช่น ไอศกรีม ให้เพียงแค่ 1% ดังนั้น นมและผลิตภัณฑ์นม เป็นตัวให้แคลอรี่ ไขมันอิ่มตัว และน้ำตาลกับอาหารของเราน้อยกว่าที่เราคิดกันมาก / ยิ่งถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่โลว์แฟต พร่องไขมันลง ก็ยิ่งให้แคลอรี่และไขมัน น้อยลงตามไปด้วย เช่น นมโลว์แฟต 200 มิลลิลิตร จะให้แคลอรี่เพียงแค่ 4% ของปริมาณแคลอรี่ที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน หรือถ้าเป็นนมฟูลแฟต ก็ให้เพียงแค่  7% 


#ข้อ3: นมทำให้เป็นสิว 

- มีการกล่าวหาว่า นมนั้นเป็นสาเหตุหรือตัวเสริมให้เกิดปัญหากับผิวหนังหลายอย่าง เช่น สิว หน้ามัน และโรคผิวหนังอักเสบ (โรซาเชีย rosacea) ซึ่งแม้ว่าจะมีการสำรวจพบว่าคนบางคนที่ดื่มนมสามารถเกิดสิวขึ้นได้จริง แต่ก็ยังไม่มีการศึกษาลึกซึ้งในเรื่องนี้ (มีการรีวิวงานวิจัยหลายนี้อย่างเป็นระบบ และพบว่าการสำรวจดังกล่าว มักจะไม่ได้เอาปัจจัยอื่นๆ มาคิดด้วย ไม่ได้มีการวัดปริมาณและชนิดของอาหารอื่นๆ ที่กิน และมีปัญหาในเรื่องคำนิยามของคำว่า สิว) และยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่านมจะทำให้คนส่วนใหญ่เกิดปัญหาผิวหนังขึ้น 

- โดยรวมแล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังเห็นพ้องกันว่า มันไม่ได้มีหลักฐานเพียงพอที่จะบอกว่ามีความเชื่อมโยงชัดเจนระหว่างนมกับการเกิดสิว หรือบอกว่านมเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดปัญหาผิวหนังกับคนส่วนใหญ่ อย่างสมาคม British Association of Dermatologists ก็ได้บอกว่า มันมีหลักฐานน้อยที่บอกว่านมเป็นสาเหตุของสิว หรือฮอร์โมนในผลิตภัณฑ์นมจะส่งผลเช่นนั้น 

- เช่นเดียวกับโรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย ซึ่งทำให้เกิดผื่นแดงขึ้นกับผิว โดยเฉพาะที่ผิวหน้า ทางสมาคม the British Association of Dermatologists ก็เน้นไปที่น้ำร้อน แอลกอฮอลื และอาหารเผ็ดๆ ว่าน่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคขึ้น แต่ไม่ได้นับรวมไปถึงผลิตภัณฑ์นม 

- ในความเป็นจริงแล้ว นมและผลิตภัณฑ์นมกลับให้สารอาหารหลายอย่าง เช่น ซิงค์ (สังกะสี), ไอโอดีน และวิตามิน A วิตามิน  B2  ที่ดีต่อการรักษาผิวของคุณให้เป็นปรกติ ตัวอย่างเช่น นมและโยเกิร์ตมีวิตามิน B2 และไอโอดีน ขณะที่เนยแข็งเชดด้าร์ (Cheddar) เป็นแหล่งของวิตามิน A และซิงค์


#ข้อ4: นม เต็มไปด้วยฮอร์โมน ยาปฏิชีวนะ และสารปรุงแต่งต่างๆ 

- มีความเชื่อกันว่าในน้ำนมมีฮอร์โมนอยู่เต็มไปหมด  ซึ่งไม่เป็นเรื่องจริงแต่อย่างไร ในน้ำนมนั้นมีฮอร์โมนกลุ่มสเตียรอยด์ตามธรรมชาติ เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจน อยู่จริง แต่มีเพียงจำนวนน้อยมาก  น้อยกว่าที่ร่างกายของคนเราสร้างขึ้นเองเยอะ 

- มีการกังวลกันด้วยว่า น้ำนมมีฮอร์โมนเยอะ เพราะถูกฉีดด้วยฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโต เช่น ฮอร์โมน bovine somatotropin (BST) เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิต ซึ่งไม่เป็นความจริง วิธีการดังกล่าวได้ถูกห้ามทำไปแล้ว (เช่น ในยุโรป ได้มีการแบนการฉีดฮอร์โมนดังกลาว เมื่อปี ค.ศ. 1999 บนหลักการสุขภาพของสัตว์) 

- บางคนก็อ้างว่านมนั้นมียาปฏิชีวนะ (antibiotic) เต็มไปหมด และจะทำให้กินเอายาปฏิชีวนะเข้าไปด้วยเมื่อดื่มนม แต่นั่นก็ไม่เป็นความจริง เพราะถึงแม้จะมีการใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาวัวที่ป่วย แต่จะต้องหยุดการรีดนมไว้ก่อน จนกว่าร่างกายของวัวจะกำจัดเอายาปฏิชีวนะไปหมดแล้ว นมวัวจากฟาร์มที่ได้มาตรฐานจะมีการนำมาตรวจหายาปฏิชีวนะเสียก่อน ถ้าพบแม้เพียงเล็กน้อย นมทั้งแท็งค์ที่ขนมาก็จะถูกยกเลิกการรับซื้อ และเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวก็จะสูญเสียรายได้อย่างมาก 

- ส่วนที่บางคนบอกว่า นมนั้นเต็มไปด้วยสารปรุงแต่งสังเคราะห์หลายชนิด ก็ไม่ป็นความจริงเช่นกัน นมจืดสามารถนำมาบริโภคเป็นอาหารตามธรรมชาติได้โดยที่ไม่ต้องเติมสารอะไรลงไปอีก และกระบวนการผลิตน้ำนมจากฟาร์ม สู่โรงงาน สู่มือผู้บริโภค ก็แทบจะไม่ต้องทำอะไรมาก มีเพียงแค่การนำไปฆ่าเชื้อ ด้วยวิธีพาสเจอไรซ์ โดยการให้ความร้อนสูงเป็นเวลาสั้นๆ และลดอุณหภูมิลง เพื่อทำลายเชื้อแบคทีเรียที่เป็นอันตราย 


#ข้อ5: นมนั้นเต็มไปด้วยหนอง 

- หนอง หลักๆ เกิดขึ้นจากเม็ดเลือดขาวของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ที่จับตัวกันหลังจากการฆ่าเชื้อโรคในบริเวณที่มีบาดแผล ซึ่งความเชื่อผิดๆ ที่บอกว่า 'นมมีหนองอยู่นั้น' เกิดจากการเข้าใจผิด ที่ในน้ำนมตามปรกติของวัว (หรือแม้แต่นมแม่) ก็ย่อมจะมีเม็ดเลือดขาวอยู่แล้ว โดยมีส่วนช่วยให้น้ำนมที่กินเข้าไปนั้น ไปเสริมภูมิคุ้มกันในทางเดินอาหาร ต่อต้านกับการติดเชื้อแบคทีเรียก่อโรค 

- ซึ่งปริมาณของเม็ดเลือดขาวนั้นช่วยบอกถึงคุณภาพของน้ำนมได้ โดยที่ระดับของเม็ดเลือดขาวในนมจะค่อยถูกตรวจสอบให้อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งแสดงถึงวัวที่มีสุขภาพดี และน้ำนมก็มีคุณภาพดีด้วย 

- บางคนก็บอกว่า การดื่มนมนั้น ทำให้เขามีน้ำมูก เมือกในทางเดินหายใจ ออกมามาก และทำให้คัดจมูก หายใจไม่ออก  รวมไปถึงรู้สึกว่ามีน้ำลายเหนียวและกลืนน้ำลายได้ยาก แต่งานวิจัยรีวิวในป้จจุบันยืนยันว่า ไม่ได้หลักฐานว่าการดื่มนมจะทำให้เกิดเมือกเหนียวขึ้นจริง อย่างที่ลือกัน


#ข้อ6: นมดูดเอาแคลเซี่ยมไปจากกระดูก 

- เป็นที่ทราบกันว่า นมมีประโยชน์ต่อสุขภาพของกระดูก แต่เรื่องที่บอกว่านมทำให้แคลเซี่ยมในกระดูกลดลงนั้น เกิดจากการที่มีคนเสนอสมมติฐานเอาไว้ สุขภาพของร่างกายเราสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ด้วยการกินอาหารที่มีความเป็นกรด ให้น้อยลง หรือก็คือให้กินอาหารที่เป็นด่าง ซึ่งกลุ่มที่ศรัทธาในเรื่องอาหารด่างนั้น เชื่อว่าอาหารที่มีโปรตีนสูง อย่างเช่นนม จะทำให้เลือดของเราเป็นกรดมากขึ้น โดยอ้างต่อว่าร่างกายจะพยายามจะลดความเป็นกรด ด้วยการดึงเอาแร่ธาตุที่เป็นด่างออกมา เช่นแคลเซี่ยม จากกระดูก เลยทำให้กระดูกอ่อนแอ และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคกระดูกพรุน 

- แต่จริงๆ แล้ว ระดับของความเป็นกรดด่าง หรือค่าพีเอช ของเลือดคนเรานั้น ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดด้วยการทำงานของไตและปอด และไม่ได้เป็นผลจากอาหารที่เรากินเข้าไปแต่อย่างไร ยิ่งไปกว่านั้น ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าอาหารที่มีความเป็นกรดไม่ได้จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อระดับของแคลเซี่ยม หรือต่อสุขภาพ ของกระดูกของเรา

- ดังนั้น ความเชื่อเรื่องนมดูดเอาแคลเซี่ยมไปจากกระดูก จึงเป็นทฤษฎีที่ผิดและไม่มีหลักฐานรองรับ ในทางตรงกันข้าม อาหารที่มีโปรตีนและแคลเซี่ยม อย่างเช่นนม โยเกิร์ต่ และชีส ล้วนมีประโยชน์ต่อสุขภาพของกระดูก ทั้งในแง่ที่เป็นสารอาหารจำเป็นต้องการเจริญเติบโตและพัฒนาของกระดูกของเด็ก และจำเป็นต่อการรักษากระดูกของผู้ใหญ่และผู้สูงวัยให้เป็นปรกติ


#ข้อ7: นมมีน้ำตาลสูง ทำให้เป็นโรคเบาหวาน

- มีการอ้างว่า นมนั้นนำไปสู่การเกิดโรคเบาหวาน ประเภทที่ 2 เนื่องจากมันมีน้ำตาลสูง แต่จริงๆ แล้วน้ำตาลในน้ำนมนั้นมีอยู่น้อย คือมีอยู่แค่ประมาณ 4.7% (ค่าอยู่ระหว่างมะเขือเทศกับมันหวาน) และอยู่ในรูปของน้ำตาลแลคโตสตามธรรมชาติ ไม่เหมือนพวกน้ำตาลที่เพิ่มเข้าไปในอาหารและมักจะแนะนำให้ลดหรือหลีกเลี่ยง นอกจากจะไม่มีหลักฐานที่ระบุว่านมและผลิตภัณฑ์นมไปเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานหรือโรคอ้วนแล้ว นมยังกลับช่วยป้องกันการเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ในระยะยาวได้ด้วย

- น้ำตาลที่อยู่ในนมนั้นเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่ใช่การเติมน้ำตาลทรายหรือน้ำเชื่อมลงไป หน่วยงานทางสุขภาพอย่าง NHS ของสหราชอาณาจักร ได้แนะนำให้ไม่ต้องนับเอาน้ำตาลที่อยู่ในธรรมชาติ เช่น ในนม ในผักผลไม้ ว่าเห็นน้ำตาลที่ต้องหลีกเลี่ยง / อย่างไรก็ตาม มีพวกโยเกิร์ตหรือเครื่องดื่มนมที่แต่งรสชาติด้วยการเติมน้ำตาลลงไป ซึ่งปริมาณนั้นมากน้อยต่างกันไปตามยี่ห้อ ซึ่งจะมีระบุเอาไว้ในฉลากสารอาหารบนบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้พิจารณาเวลาจะควบคุมระดับน้ำตาลที่บริโภคในแต่ละวัน (พวกเนยแข็ง ที่มีเนื้อแข็ง อย่างเชดด้าร์ชีส จะไม่มีน้ำตาลอยู่เลย) 

- ส่วนความเกี่ยวข้องกับโรคเบาหวาน ไทป์2 นั้น ผลการศึกษาขนาดใหญ่หลายฉบับ บอกว่าการกินอาหารที่มีผลิตภัณฑ์นมมากขึ้น โดยเฉพาะโยเกิร์ต อาจจะช่วยป้องกันการเป็นโรคเบาหวานประเภทนี้ได้ ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว คำแนะนำที่ดีที่สุดในการลดโอกาสในเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2 คือการพยายามและรักษาสุขภาพให้ดี กระชับกระเฉงขึ้น และกินอาหารที่มีประโยชน์และสมดุลย์มากขึ้น ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์นมด้วย


#ข้อ8: นมทำให้เป็นมะเร็ง

- เรื่องที่ชอบอ้างกันมากที่สุดของกลุ่มที่ต่อต้านการดื่มนม คือการอ้างว่านมสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่หน่วยงานที่เกี่ยวกับโรคมะเร็งอย่างเช่น The World Cancer Research Fund (WCRF)  ได้ระบุว่า จริงๆ แล้ว มันมีหลักฐานอยู่อย่างจำกัด ว่าการบริโภคผลิตภัณฑ์นมมากขึ้นอาจจะนำไปสู่ความเสี่ยงที่เพิ่มต่อการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งในทางตรงกันข้าม มันมีหลักฐานอยู่เยอะมาก ที่บอกว่าการมีน้ำหนักตัวเกิน จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากขั้นลุกลาม 

- และเช่นเดียวกัน ที่ก็ไม่มีตัวบ่งชี้ว่าผลิตภัณฑ์นมจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม ซึ่งทาง WCRF กลับระบุว่ามีหลักฐานบางส่วนที่บ่งชี้ว่า การบริโภคผลิตภัณฑ์นมจริงๆ แล้วอาจจะลดโอกาสที่จะเกิดมะเร็งเต้านมในช่วงก่อนหมดประจำเดือนลงได้ แม้ว่าจะยังเป็นหัวข้อวิจัยที่ต้องการการศึกษาเพิ่มขึ้นก่อนที่จะมีข้อสรุปออกมาได้ 

- ยิ่งไปกว่านั้น ทาง WCRF ยังบอกว่าผลิตภัณฑ์นม รวมถึงการบริโภคพวกธัญพืชแบบโฮลเกรน และอาหารที่มีเส้นใยสูง สามารถลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักได้

- หนึ่งในวิธีการที่ดีที่สุดที่เราจะลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง คือการรักษาระดับน้ำหนักของร่างกายในอยู่ในเกณฑ์ที่สุขภาพดี โดย WCRF ยืนยันว่า การมีน้ำหนักตัวเกินนั้นเป็นสาเหตุหลักสาเหตุหนึ่งของการเป็นโรคมะเร็งถึง 12 ชนิด  ได้แก่ มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม(ระยะหลังหมดประจำเดือน) มะเร็งไต มะเร็งถุงน้ำดี มะเร็งตับ มะเร็งช่องปาก มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งคอหอยและกล่องเสียง มะเร็งรังไข่ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งต่อมลูกหมาก(ขั้นลุกลาม) มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งมดลูก 





ที่มา อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์

ภาพจาก AFP 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง