รีเซต

เริ่มแล้ว ! Neuralink ของอีลอน มัสก์ ฝังชิปกับสมองมนุษย์คนแรก

เริ่มแล้ว ! Neuralink ของอีลอน มัสก์ ฝังชิปกับสมองมนุษย์คนแรก
TNN ช่อง16
30 มกราคม 2567 ( 13:12 )
35

วันที่ 19 มกราคม ที่ผ่านมาอีลอน มัสก์ เจ้าพ่อเทคโนโลยีและมหาเศรษฐีระดับโลก เปิดเผยว่าบริษัท นิวราลิงก์ (Neuralink) ประสบความสำเร็จในการฝังชิปเข้ากับสมองมนุษย์คนแรกเป็นที่เรียบร้อย และทีมงานพบว่าการประสานของเซลล์ประสาทเข้ากับชิปมีแนวโน้มการทำงานที่ดีขึ้น โดยอีลอน มัสก์ เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวผ่านโปรไฟล์ส่วนตัวบนโซเชียลมีเดียเอ็กซ์ (X) 


ก่อนหน้านี้ในเดือนกันยายน 2023 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้อนุมัติให้บริษัท นิวราลิงก์ (Neuralink) ของอีลอน มัสก์ ดำเนินการทดสอบเชื่อมต่อชิปเข้ากับสมองของมนุษย์ แต่ยังไม่มีการระบุจำนวนผู้ที่จะได้รับการผ่าตัดฝังชิปทดสอบที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม นับได้ว่าเป็นก้าวสำคัญของวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อการรักษาผู้ป่วยภาวะอัมพาตและระบบประสาทอื่น ๆ


รายละเอียดเบื้องต้นของการทดสอบในครั้งนี้เป็นการใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดที่ออกแบบและพัฒนาโดย นิวราลิงก์ (Neuralink) ทำการผ่าตัดสมองของมนุษย์และวางอุปกรณ์ชิปเชื่อมต่อสมองของมนุษย์ (BCI) ลงบนบริเวณสมองที่ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายมนุษย์ ทำให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมลูกศรเคอร์เซอร์หรือคีย์บอร์ดของคอมพิวเตอร์เพียงแค่ใช้ความคิดของตัวเองเท่านั้น


สำหรับชิปเชื่อมต่อสมองที่พัฒนาโดยบริษัท นิวราลิงก์ (Neuralink) มีความละเอียดสูงและมีจำนวนอิเล็กโทรดตัวรับสัญญาณไฟฟ้าจากสมองมนุษย์มากถึง 3,072 อิเล็กโทรด (Electrodes) เพื่อประสิทธิภาพในการรับสัญญาณจากสมองของมนุษย์ไปยังอุปกรณ์อื่น ๆ โดยบริษัทใช้ระยะเวลาในการพัฒนาเทคโนโลยีชิปรุ่นดังกล่าวนานกว่า 6 ปี 


ในช่วงแรกของการพัฒนาบริษัทใช้การทดสอบผ่านตัดสมองหมูและลิง ซึ่งทำให้บริษัทถูกร้องเรียนเกี่ยวกับการทารุณกรรมสัตว์ในห้องทดลอง เช่น กระบวนการผ่าตัดที่ทำให้ลิงเป็นอัมพาต อาการชักและสมองบวม อย่างไรก็ตาม อีลอน มัสก์ ได้ออกมายืนยันว่ากระบวนการทดลองของบริษัทไม่ได้ทำให้ลิงเสียชีวิต


หากการพัฒนาเทคโนโลยีฝังชิปเข้ากับสมองของมนุษย์ถูกนำมาใช้งานได้จริงในอนาคต นอกจากประโยชน์ทางด้านการแพทย์และรักษาผู้ป่วยอัมพาต อาจสามารถทำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ เช่น การสั่งงานสมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์ รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ และเทคโนโลยีด้านการสื่อสารไร้พรมแดน


ที่มาของข้อมูล Reuters

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง