“MCIA จับมือซีพี ปูทางสู่การผลิตข้าวโพดโปร่งใสในเมียนมา แก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน”
ย่างกุ้ง, เมียนมา - นายอู เอ ชาน อ่อง (U Aye Chan Aung) ประธานสมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดเมียนมา (MCIA) พร้อมนำทีมพ่อค้าข้าวโพดฯในเมียนมา เข้าร่วมระบบตรวจสอบย้อนกลับของเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยเน้นถึงความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ รวมถึงความมุ่งมั่นของเกษตรกรและผู้ประกอบการทุกฝ่ายในอุตสาหกรรม หวังยกระดับความยั่งยืนและความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่การเพาะปลูกจนถึงการส่งออก โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ สมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดพม่าได้ประกาศความร่วมมือกับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด หรือ CPP และบริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ในโครงการความร่วมมือยกระดับการตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเมียนมา โดยไม่รับซื้อจากพื้นที่เผาป่า ซึ่งพ่อค้าผู้รวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเมียนมาจะเข้ามาใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับที่บริษัทในเครือซีพีพัฒนาขึ้นเพื่อร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเมียนมาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
นายอู เอ ชาน อ่อง ประธานสมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดเมียนมา (MCIA) เปิดเผยว่า ระบบตรวจสอบย้อนกลับนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นใจในแหล่งที่มาของผลผลิต และสร้างความโปร่งใสให้กับอุตสาหกรรมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเมียนมา ช่วยให้เกษตรกรและพ่อค้าสามารถเข้าถึงตลาดที่มีความต้องการวัตถุดิบที่ได้มาตรฐานสูงและยั่งยืนได้มากขึ้น ซึ่งเกษตรกรจะได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมระบบตรวจสอบย้อนกลับ เช่น การเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิต การเข้าถึงตลาดที่มีความต้องการวัตถุดิบที่ผ่านการตรวจสอบย้อนกลับ รวมถึงการได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ซื้อ ทั้งในตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งระบบนี้ยังช่วยเสริมสร้างความโปร่งใสให้กับกระบวนการผลิต ทำให้เกษตรกรรับรู้และปฏิบัติตามแนวทางการเพาะปลูกที่ยั่งยืน ส่งเสริมความมั่นใจในผลผลิตของเมียนมาในระยะยาว
สำหรับพ่อค้าข้าวโพด ระบบตรวจสอบย้อนกลับจะช่วยให้พวกเขาสามารถแสดงถึงความโปร่งใสในแหล่งที่มาของข้าวโพดที่จัดหาได้อย่างชัดเจน ไม่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกในพื้นที่ที่เผาป่าหรือรุกล้ำพื้นที่ป่า ทำให้สามารถเข้าถึงตลาดที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ตลาดต่างประเทศที่มีกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมเข้มงวดได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและลดความเสี่ยงทางธุรกิจ เนื่องจากสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของวัตถุดิบได้อย่างละเอียด
นายอู เอ ชาน อ่อง ยังได้เน้นถึงการใช้เทคโนโลยีในการตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น การป้องกันการเผาป่าและการรุกล้ำพื้นที่ป่า รวมถึงการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และลดผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้การปฏิบัติตามแนวทางการเพาะปลูกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นไปได้อย่างยั่งยืน
ในระยะยาว การเชื่อมต่อระหว่างภาคเอกชน เกษตรกร และผู้ประกอบการผ่านระบบตรวจสอบย้อนกลับจะเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งในการพัฒนาความยั่งยืนของอุตสาหกรรมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเมียนมา สมาคมฯ พร้อมที่จะสนับสนุนและนำระบบตรวจสอบย้อนกลับมาใช้ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ของเมียนมา รวมถึงการสร้างความร่วมมือที่แข็งแกร่งจากทุกภาคส่วน เพื่อสร้างความโปร่งใสและยกระดับอุตสาหกรรมในระยะยาว
ด้าน ดร.พโย โก โก ไนง์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท Alliance Eagles Group Limited ในฐานะกรรมการสมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดเมียนมา (MCIA) ได้แสดงความยินดีและขอบคุณต่อความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร ในการพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวโพดของประเทศ ผ่านการนำระบบตรวจสอบย้อนกลับเข้ามาใช้ ซึ่งจะช่วยยกระดับความยั่งยืนและความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่การเพาะปลูกจนถึงการส่งออก
ในการนี้ ดร.พโย โก โก ไนง์ กล่าวว่า สมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดฯ ก่อตั้งขึ้นความสำคัญของการจัดตั้งสมาคมฯ เมื่อปี 2019 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและสนับสนุนเกษตรกร พ่อค้า ผู้ส่งออก และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมข้าวโพดในประเทศ นอกจากนี้ สมาคมยังได้จัดตั้งสมาคมระดับภูมิภาคทั่วประเทศ ครอบคลุมถึง 9 รัฐและภูมิภาค ได้แก่ มัณฑะเลย์ รัฐฉานใต้ รัฐกะเหรี่ยง และอื่น ๆ เพื่อสร้างความร่วมมือที่แข็งแกร่งในทุกพื้นที่
ในส่วนของเป้าหมาย สมาคมฯ เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมข้าวโพดเมียนมา โดยการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการทำงานร่วมกับธนาคารเพื่อสนับสนุนด้านการเกษตร และการจัดการด้านสินเชื่อสำหรับเกษตรกรและพ่อค้า
ดร.พโย โก โก ไนง์ ยังชี้ให้เห็นถึงผลกระทบจากหมอกควันข้ามพรมแดน ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคนี้ สมาคมข้าวโพดฯ จึงได้ให้การสนับสนุนการเข้าร่วมข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยการควบคุมมลพิษข้ามพรมแดนจากหมอกควัน (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution – AATH) เพื่อร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนในการป้องกันและควบคุมมลพิษจากการเผาป่า
สมาคมฯ ยังได้ร่วมกันพัฒนาการเพาะปลูกข้าวโพดในประเทศให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมุ่งเน้นการป้องกันการเผาป่าเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างมาตรฐานที่สูงขึ้นให้กับอุตสาหกรรมข้าวโพดในประเทศ
การเข้าร่วมระบบตรวจสอบย้อนกลับของสมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดเมียนมา จะไม่เพียงส่งเสริมความสำเร็จให้กับเกษตรกร พ่อค้า และผู้ส่งออก แต่ยังช่วยลดผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ สมาคมข้าวโพดฯ พร้อมที่จะผลักดันและสนับสนุนโครงการนี้เพื่อสร้างความยั่งยืนในอุตสาหกรรมอย่างแข็งขันในอนาคต