นายกฯ ย้ำโครงการปุ๋ยคนละครึ่งเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกร-ต้องไม่มีทุจริต
วันนี้ (9 กรกฎาคม 2567) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ ได้มีการพูดคุยถึงรายละเอียดโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แจ้งว่า โครงการชดเชยเยียวยาไร่ละ 1 ล้าน 1,000 บาท และโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง เป็นคนละโครงการซึ่งในโครงการแรกมีมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้วเป็นโครงการที่ได้ให้เงิน 1,000 บาทไม่เกิน 20 ไร่ เป็นโครงการช่วยเหลือในเหตุการณ์วิกฤตในช่วงปีที่ผ่านมาในช่วงที่ราคาข้าวนี่อยู่ประมาณ 7,000 - 8,000 บาท/ตัน แต่ในปัจจุบันราคาข้าวดีขึ้นแล้วจึงทำให้เกิดโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง เพื่อลดต้นทุนของเกษตรกรและเพิ่มจำนวน output หรือจำนวนผลผลิตต่อไร่ของข้าว ซึ่งเป็นโครงการที่มีความยั่งยืนมากกว่าและใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกรอย่างแท้จริง โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะชี้แจ้งรายละเอียดต่อไป
นายกฯ กล่าวต่อไปว่า ไม่ใช่แค่ราคาข้าวต่อตัน เพียงอย่างเดียวที่มีความสำคัญ รัฐบาลมั่นใจว่าราคาข้าวจะดีขึ้นแต่การที่เราใช้เกษตรแม่นยำใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องตามการวิเคราะห์จากดินโดยใช้ “หมอดิน” ที่เรามีอยู่หลายหมื่นคน ทั่วประเทศทำให้เราทราบถึงความต้องการของปุ๋ยที่ถูกต้องอย่างเช่น “NPK” ถ้ามีการสำรวจหน้าดินก่อนรับรู้ว่าดินขาดแคลนอะไร แล้วให้ปุ๋ยที่แม่นยำ สมมุติว่าข้าวทำได้ไร่ละประมาณ 500 กก. สามารถที่จะเพิ่มไปเป็น 700 กก. ได้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของราคาเพียงอย่างเดียว ยังเป็นเรื่องของ output /ไร่ ด้วยเหมือนกัน
ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่า แต่ระหว่างทางที่ปุ๋ยจะถึงมือเกษตรกร ได้มีการกำชับในเรื่องดังกล่าวหรือไม่ เพราะมีการตั้งข้อสังเกตในเรื่องของการทุจริต นายกฯ กล่าวว่า เรื่องของการทุจริตได้มีการพูดคุยกันอย่างชัดเจน เรื่องของการทุจริตประพฤติมิชอบ ปุ๋ยจะต้องไม่ตกอยู่ในมือของผู้ค้าปุ๋ยเพียงแค่ 2 – 3 ราย ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ทำการหาผู้ค้าปุ๋ยเป็นจำนวนถึง 40 – 50 ราย ตนเองได้เน้นย้ำเรื่องของการทุจริตในเรื่องดังกล่าวแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่า เมื่อมีโครงการปุ๋ยคนละครึ่งแล้วเรื่องของโครงการชดเชยเยียวยาไร่ละ 1 ล้าน 1,000 บาท เมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤตการณ์น้ำท่วม น้ำแล้ง โครงการดังกล่าวจะมีการยกเลิกไปเลยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ทั้งสองเรื่องนั้นจะต้องแยกกัน เรื่องที่แจ้งในวันนี้เป็นเรื่องของการเพิ่มผลผลิต เป็นการที่เราให้ความแม่นยำกับการปลูกข้าว แต่เรื่องของกรณีเกิดวิกฤตเป็นที่แน่นอนว่าต้องมีการกลับมาพิจารณาใหม่ตามความเหมาะสม
ภาพจาก รัฐบาลไทย